ถูกตำรวจขอดูใบขับขี่ทุกวี่ทุกวัน  เบื่อกันบ้างใหม? – พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ถูกตำรวจขอดูใบขับขี่ทุกวี่ทุกวัน  เบื่อกันบ้างใหม? – พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

      ถูกตำรวจขอดูใบขับขี่ทุกวี่ทุกวัน  เบื่อกันบ้างใหม?

                                                พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวอื้อฉาวเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่เวลานี้คือ ปัญหาตำรวจขอตรวจใบขับขี่อธิบดีผู้พิพากษา

ตำรวจผู้ปฏิบัติบอกว่า มีอำนาจหน้าที่เต็ม ในการขอตรวจดูใบขับขี่ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาได้

เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

ตามรายงานของ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ ผู้บังคับบัญชา บอกว่า การขอตรวจไม่ได้เกิดจากเหตุผู้ขับรถนั้นกระทำหรือมีพฤติการณ์ทำผิดกฎหมายอะไร และหลังเกิดเหตุได้นำตำรวจคนนั้นไปขอโทษผู้พิพากษาแล้ว

แต่เมื่อคลิปช่วงหนึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกไป ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมกลับถูก ศาลโซเชียล! กระหน่ำไม่ยั้ง

พากันตั้งคำถามว่า เหตุใดกรณีประชาชนถูกตำรวจขอตรวจค้นหรือตรวจใบขับขี่ ส่วนใหญ่ก็ยินยอมกันแต่โดยดี ผู้พิพากษามีเอกสิทธิ์อะไรในการไม่ยอมให้ตรวจดูเหมือนคนทั่วไป

เรื่องผิดๆ ในสังคมไทย เมื่อปล่อยให้ปฏิบัติกันนานเข้า ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามความคิดของส่วนใหญ่ในที่สุดเหมือนอีกหลายเรื่อง

ปัญหาการตั้งด่านตรวจค้นหรือขอดูใบขับขี่ประชาชนของตำรวจไทยนั้น ปัจจุบันได้กระทำกันอย่างไร้ขอบเขต  และ น่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ตำรวจทุกสถานีได้มีการปิดกั้นถนน ตั้งด่านตรวจค้นประชาชน ขอดูนั่น ถามนี่กันสารพัดเช่นนี้!

นอกจากเป็นอันตรายต่อยานพาหนะที่สัญจรแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน อย่างยิ่ง

“การเกษตรเจริญงอกงามไม่ใช่ด้วยดินดี แต่เป็นเพราะประชาชนมีเสรีภาพและความยุติธรรม”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมาตรา 38 วรรคแรก จึงบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง…..”

และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน….”

กฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวก็คือ ป.วิ อาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณะ เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นใน เมื่อ มีเหตุอันควรสงสัย  ว่าบุคคลนั้นมีสิ่งในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือมีไว้เป็นความผิด

                “เหตุอันควรสงสัย” ก็ต้องมีข้อเท็จจริงรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของเจ้าพนักงานผู้ใด ใครสงสัยก็ไปลองหาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555 มาอ่านดู    

สำหรับถนนหนทางต่างๆ ที่รัฐได้สร้างขึ้นอย่างมากมาย ก็ยังได้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีโทษรุนแรง เพื่อคุ้มครองสภาพทางการใช้ และการเดินทางของประชาชนให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ปรากฏใน พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

ในมาตรา 38 จึงบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วาง สิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวก เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง (อธิบดีกรมทางหลวง) หรือผู้ได้รับมอบหมาย

                และมาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุหรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะหรือบุคคล

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 71 จำคุกถึงสามปี

              และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมีคนเจ็บตาย รถยนต์และทรัพย์สินเสียหาย ก็ต้องรับผิดทั้งอาญาและแพ่งทั้งหมด !

ในการตรวจค้นประชาชนผู้ขับรถบนทางหลวงให้ได้ผลตามเป้าที่ที่นายพลตำรวจระดับต่างๆ สั่งการ ตำรวจผู้ปฏิบัติจึงจำเป็นต้องใช้วิธีปิดกั้นทาง

บ้างก็เอาแผงเหล็กหรือกรวยยางมาตั้ง บีบจากสี่ช่องให้เหลือสองหรือหนึ่งช่อง  บ้างก็ ตั้งแบบยุทธวิธี มีการวางกรวยสลับฟันปลาเพื่อให้รถแล่นวกไปวนมาช้าๆ สะดวกในการเรียกให้หยุดรถขอตรวจตรา!

ปัญหาก็คือ เป็นการปฏิบัติที่มีอำนาจทำได้โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่?

นอกจากความไม่สะดวกในการสัญจรของประชาชนและบางคนรู้สึกหงุดหงิดรำคาญแล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอๆ โดยที่ผู้สั่งการให้ตั้งด่านเพื่อ “ทำยอดการจับและปรับให้มากที่สุด” ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น?   

ในการเรียกให้คนขับหยุดรถอ้างขอตรวจค้น ขอตรวจใบขับขี่ หรือขอตรวจฉี่ประชาชน ส่วนใหญ่จะอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 (สภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ)

(2) เห็นผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้น ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ หรือกฎหมายเกี่ยวกับรถนั้น

ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าว มาตรา 140 บัญญัติว่า  “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืน…. จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบตามพฤติการณ์กระทำผิดและสถานะของบุคคลก็ได้ …….”

นั่นหมายความว่า ถ้าไม่พบเหตุฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเกี่ยวกับสภาพรถหรือพฤติกรรมการขับรถตาม  (1) และ (2) อย่างหนึ่งอย่างใด

           ไม่มีตำรวจระดับใดมีอำนาจเรียกให้รถหยุดเพื่อขอดูใบขับขี่ หรือถามโน่นถามนี่ว่า จะไปไหน  ทำงานอะไร บ้านอยู่ที่ใด  เป็นการ “ประดับความรู้” หรือแม้กระทั่งอ้างว่า “เพื่อป้องกันอาชญากรรม” แต่อย่างใด !

ใครที่อ้างคำพิพากษาศาลจังหวัดสิงห์บุรีคดีแดงที่ ๑๗๔๙/๒๕๕๙ เรื่อง ตำรวจขอตรวจใบขับขี่แล้วไม่ส่งให้ดู เป็นความผิดข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ถูกปรับ ๕,๐๐๐ บาทนั้น

ข้อเท็จจริงเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะนั่นเป็นกรณีผู้ขับรถได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไม่ยอมส่งใบอนุญาตให้ตำรวจตรวจเพื่อออกใบสั่ง แต่ถือไว้ให้ดูห่างๆ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นการส่งให้ตรวจตามกฎหมาย ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว

สรุปก็คือ การที่เจ้าพนักงานจะเรียกให้ประชาชนหยุดรถเพื่อขอตรวจใบขับขี่  จะต้องมีเหตุได้พบการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสภาพรถ  หรือพฤติกรรมการขับรถอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเท่านั้น

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์ : เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ Monday, May 13, 2019 และ  Monday, May 20, 2019  นำมารวมกันให้เกิดความสมบูรณ์