กระบวนการยุติธรรมสามานย์ คนจน ‘ออกหมายจับ’ ง่าย ทหาร ตำรวจผู้ใหญ่ แค่ออก ‘หมายเรียก’ ยังแสนยาก

กระบวนการยุติธรรมสามานย์ คนจน ‘ออกหมายจับ’ ง่าย ทหาร ตำรวจผู้ใหญ่ แค่ออก ‘หมายเรียก’ ยังแสนยาก

ยุติธรรมวิวัฒน์
กระบวนการยุติธรรมสามานย์ คนจน ‘ออกหมายจับ’ ง่าย ทหาร ตำรวจผู้ใหญ่ แค่ออก ‘หมายเรียก’ ยังแสนยาก

                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัจจุบันความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในทุกขั้นตอนอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างร้ายแรงยิ่ง!

คำว่า บุคคลย่อมเสมอกันโดยกฎหมาย ตามที่ รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ นับแต่ปี พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยเป็นต้นมา

ประชาชนส่วนใหญ่อ่านหรือได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึก สมเพช และ ขำ ไปตามๆ กัน!

ปัญหา ความอยุติธรรมทางอาญา บุคคลแต่ละสถานะได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละขั้นตอนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานก็จริง

แต่ ไม่มีใครจินตนาการหรือนึกถึงได้ขนาดว่า จำเลยผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 8 ปีในคดีอาญาร้ายแรง คือทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ไม่ต้องถูกคุมขังไว้ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์แม้แต่วันเดียวจนพ้นโทษจะเกิดขึ้นได้!

ซ้ำยังมีนักการเมืองและข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายระดับ แต่งเครื่องแบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐคอยยืนโค้งคำนับ ตามรายทางที่นักโทษเด็ดขาดคนนี้นั่งรถหรือเดินผ่านไปทุกที่

ปรากฏการณ์กระบวนการยุติธรรมที่วิปริตเช่นนี้ น่าจะมีไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ทำให้ผู้คนที่รักความยุติธรรมและรวมทั้งฝรั่งมังค่าต่างอ้าปากค้างไปตามๆ กัน!

นอกจากปัญหาเจ้าพนักงานของรัฐหลายระดับจะทำผิดกฎหมายร้ายแรงช่วยนักโทษให้ แหกหัก เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ยามค่ำคืน ไปนอนกระดิกเท้าอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ให้ แพทย์มียศ น้อยใหญ่บีบนวดจนเข้าเงื่อนไขได้รับการพักโทษกลับบ้าน สามารถเดินทางไปตรวจงานหรือพบปะเพื่อนฝูงที่ไหนก็ได้ตามใจ ส่งผลทำให้คนส่วนใหญ่ “สุดแค้นใจ”และไม่อยากเคารพกฎหมายบ้านเมืองกันอีกต่อไปแล้ว!

การสอบสวนคดีอาญาสำคัญเกี่ยวกับ แก๊งเว็บพนัน ที่พบหลักฐานการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับนับสิบคน ก็ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ประชาชนได้ยินได้ฟังแล้วแสนเบื่อหน่าย!

ตำรวจผู้รับผิดชอบสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้กำลังจะออกหมายเรียกนายพลตำรวจบางคนเป็นผู้ต้องหา

แต่เมื่อต้องส่งไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาตามกฎหมาย กลับกลายเป็นว่าจะรับไว้ดำเนินการเองตามขั้นตอนต่างๆ ที่แสนยอกย้อน ภายในระยะเวลา ไม่เกินสามปี และผลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครคาดหมายได้?

ถ้าหากในที่สุด ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาล กระบวนการต่อสู้คดีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ก็น่าจะใช้เวลารวม ไม่ต่ำกว่าห้าปี!

หมายความว่า คดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับเกี่ยวกับการกระทำผิด “เป็นเจ้ามือการพนัน” ในเรื่องนี้ จะต้องใช้เวลาทั้งชั้นสอบสวน อัยการ และการพิจารณาของศาลรวมประมาณ 8 ปี!

นอกจากนั้น ยังมีคดีอาญาร้ายแรงอีกมากมายที่ตำรวจผู้ใหญ่กระทำผิดแล้ว ต้องใช้เวลาแสนนานในการสอบสวน รวมทั้งการสั่งฟ้องคดีของอัยการและการวินิจฉัยลงโทษของศาล

เช่น คดีบอส ที่ แก๊งพลตำรวจเอก ร่วมกันเปลี่ยนหลักฐานความเร็วจาก 177 เป็น 79.22 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อให้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ในเขตเมือง ถือว่าไม่ได้ขับรถประมาท

การกระทำผิดเริ่มต้นโดย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก๊งพลตำรวจเอกกลุ่มหนึ่ง “รับงาน” แต่ ปี 2559

เวลาผ่านมากว่าแปดปี แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลว่ามี พลตำรวจเอกและพลตำรวจตรีสองคน ร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ซ้ำยังมีการกัน พลตำรวจโทผู้ร่วมกระทำผิดคนหนึ่ง เป็นพยาน โดยไม่มีความจำเป็นเพราะคดีมีคลิปเสียงเป็นหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว!

และขณะนี้ การดำเนินคดีอัยการแค่เพิ่งมีคำสั่งฟ้องต่อศาล ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาสืบพยานกันอีกนานเท่าใด?

นอกจากนั้นตำรวจผู้ใหญ่ผู้ร่วมกระทำผิดอาญาร้ายแรงส่วนใหญ่ ไม่ได้ยินว่าเคยมีใครถูกออก “หมายจับ” และมีการจับและควบคุมตัวกันเหมือนประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในปัจจุบัน ตำรวจ ออกหมายเรียกคนจน เป็นผู้ต้องหากันแสนง่าย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาที่มีพยานหลักฐาน หรือเป็นการ ยัดข้อหา กันมั่วๆ ก็ตาม! ใครไม่มาตามหมายเรียกสองครั้ง ไม่ว่าจะได้รับหมายแล้วหรือไม่ ตำรวจก็จะใช้เป็นเหตุอ้างว่าน่าเชื่อมีพฤติการณ์หลบหนี เสนอศาลออกหมายจับกันทันที

ถ้าข้อกล่าวหามีโทษจำคุกเกินสามปี ก็สามารถเสนอศาลออกหมายจับได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกให้เสียเวลา

เช่นในคดีความผิดต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ “นางสาวตะวัน” ถูกกล่าวหาว่ากระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดความปั่นป่วน ถึงขนาดที่จะก่อให้ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มีโทษจำคุกสูงถึงเจ็ดปี หรือคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์โน่นโพสต์นี่กันเล่นๆ

มีโทษจำคุกถึงห้าปี

ผู้ถูกกล่าวหามายืนรอหน้าโรงพัก หรือแม้แต่นั่งนอนรออยู่หน้าศาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจก็ไม่ยอมรับ เช่น คดีการจับนายไชย์พล วิภา ถูกกล่าวหาว่า “มีพิรุธ” น่าเชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าเด็กหญิงชมพู่?

ตำรวจไทยมุ่งเน้นแต่ขอศาลออกหมายจับ เพื่อจะได้ใช้กำลังจับและควบคุมตัวบุคคลนั้นตามหมาย ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาหรือสถานที่ใด เพื่อให้เป็นข่าวและทำให้ได้รับความอับอาย

รวมทั้ง มั่ว ใช้เป็นเหตุคัดค้านในการขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับต่อศาล

กระบวนการยุติธรรมอาญาที่สามานย์ของไทยในปัจจุบัน จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและ “ไร้คำอธิบาย” ในการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายและแตกต่างกันตามชั้นยศและชนชั้นในทุกขั้นตอน

โดยที่สุจริตชนส่วนใหญ่ไม่สามารถยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการรักษาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้ได้

          ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2567