ตำรวจเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้บังคับบัญชา ต้อง ‘สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน’ หรือ ‘พักราชการ’

ตำรวจเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้บังคับบัญชา ต้อง ‘สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน’ หรือ ‘พักราชการ’

ยุติธรรมวิวัฒน์

ตำรวจเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้บังคับบัญชา ต้อง ‘สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน’ หรือ ‘พักราชการ’

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ปัญหาตำรวจกลายเป็น ผู้ร้าย กันมากมายหลายรูปแบบ แม้กระทั่งคนมียศชั้นนายพล ทำให้ประชาชนคนไทยอิดหนาระอาใจและรู้สึกเบื่อหน่ายสุดประมาณ!

ผลจาก ไม่ปฏิรูประบบตำรวจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ได้ทำให้ปัญหาตำรวจไทยยิ่งทวีความเลวร้ายและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชาติและประชาชนขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันการรับราชการตำรวจกลายเป็น อาชีพที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตำรวจบางกลุ่มที่คุมอำนาจอยู่ ได้อย่างเหลือเชื่อ เกินจินตนาการ

นายพลตำรวจหลายนายร่ำรวยกันระดับหลายร้อยไปจนถึงหลายพันล้าน!

ปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นทุกวันทุกสถานีขณะนี้ก็คือ การล้มคดี การไม่รับคำร้องทุกข์ จากประชาชน

โดยเฉพาะคนยากจนที่เป็นผู้เสียหายในทางคดี แทบจะไม่มีสิทธิได้รับการสอบสวนดำเนินคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายโดยไม่ชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้

ส่งผลทำให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงขึ้นในสังคมไทยมากมาย เพราะประชาชนพึ่งรัฐในการจัดการต่อผู้กระทำผิดกฎหมายไม่ได้ ทำให้ต้องหาทางล้างแค้นแสวงหาความยุติธรรมกันเองในรูปแบบต่างๆ!

นั่นก็เป็นปัญหาที่หนักหนาแสนสาหัสอยู่แล้ว

ซ้ำประชาชนยังต้องมาเผชิญกับปัญหาตำรวจกลายเป็น ผู้ร้ายมีเครื่องแบบ มีชั้นยศต่างๆ แม้กระทั่งระดับนายพลที่ผู้คนคาดหวังว่าน่าจะเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้อีกด้วย

หลายคนกลายเป็นคนร้าย ถูกแจ้งข้อหาคดีอาญากันมากมาย ส่วนที่ยังไม่พบการกระทำผิด พยายามปกปิดกันเอาไว้ ไม่มีการสอบสวนเริ่มคดี ยังไม่รู้ว่ามีอีกเท่าใด?

จนถึงขณะนี้ นับแต่คดีกำนันนกเป็นต้นมา น่าจะมีตำรวจชั้นยศต่างๆ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาสารพัดกัน ร่วมร้อยคน มีทั้งยศนายพลตำรวจยันจ่าดาบ

ทั้งคดีเป้รักผู้การ 140 ล้าน คดีเว็บพนันมินนี่ คดีบีเอ็นเค ไปจนถึงคดีเอาถุงคลุมหัวกระทำการทรมานลุงเปี๊ยก

ในนี้มีเพียงคนเดียวที่ถูกสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อนคือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.

เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ตำรวจฯ มาตรา 131 บัญญัติไว้ ในกรณีที่ตำรวจนายใดถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ากระทำความผิดทางวินัยร้ายแรง หรือ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา

ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการ ต้องดำเนินการสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระหว่างรอฟังผลคดีถึงที่สุด

ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลานานรวมประมาณ 6-7 ปี เป็นอย่างต่ำ!

ทำให้จำเป็นต้องมีบทกฎหมายมาตรานี้บัญญัติบังคับไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจฯ

เนื่องการรับราชการโดยเฉพาะตำรวจ ถือเป็นเรื่องความไว้วางใจที่รัฐและประชาชนมีต่อบุคคลนั้น ให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมาย

แต่เมื่อมีพฤติกรรมเป็นคนร้ายจนกระทั่งรัฐออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาความผิดอาญา หรือว่าศาลออกหมายจับ หมายถึงการรับรองว่า มีพยานหลักฐานการกระทำผิดอาญาน่าเชื่อว่ากระทำผิด

จึงเป็นเหตุที่ต้องสั่งให้พ้นจากการทำหน้าที่คือการพักราชการหรือความเป็นตำรวจชั่วคราวคือให้ออกจากราชการไว้ก่อน

ซึ่งไม่ถือเป็นการลงโทษทางวินัยร้ายแรง เช่น การ ปลดออก หรือ ไล่ออก ที่ต้องผ่านกระบวนการการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด

สรุปว่า ตำรวจทุกคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ถ้าไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือพักราชการเป็นอย่างน้อยทันที

เพราะการเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา นั่นหมายความว่ามีพยานหลักฐานถึงการกระทำผิดวินัยร้ายแรงที่มีโทษถึงไล่ออกหรือปลดออกอยู่ในตัว

ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องมัวตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย เพื่อพยายามหาพยานหลักฐานอะไรที่จะทำให้ได้ผลต่างไปจากการสอบสวนคดีอาญาที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำกันมา

ผู้บังคับบัญชาตำรวจทุกระดับตั้งแต่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปจนถึงผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ทุกคนต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ตนทำกันกับมือ คือการสอบสวน

เมื่อการรวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การแจ้งข้อหาคดีอาญาต่อตำรวจผู้ใดได้ นั่นย่อมหมายความถึงมีหลักฐานการกระทำผิดอาญา

รัฐและประชาชนไม่ไว้ใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมายอีกต่อไป

การที่ผู้บังคับบัญชาตำรวจคนใดอ้างว่า ต้องรอฟังผลคดีอาญาหรือว่าจำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยรอ ให้สรุปผลเสนอมาเพื่อพิจารณา

เป็นกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและประชาชน

จะกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือพักราชการเสียเองในที่สุด.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2567