กสม.หนุนการจัดตั้งแผนกคดีจราจร-ติดตามการบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ หวังจนท.ไม่เลือกปฏิบัติ

กสม.หนุนการจัดตั้งแผนกคดีจราจร-ติดตามการบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ หวังจนท.ไม่เลือกปฏิบัติ

กสม. ขานรับแนวทางการพิจารณาคดีและการจัดตั้งแผนกคดีจราจร – ติดตามการบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ ย้ำความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ถนนต้องได้รับการคุ้มครอง หวังเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและไม่เลือกปฏิบัติ

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์และจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้าเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ โดยได้รวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ให้มีการกำหนดควบคุมความเร็วที่ปลอดภัยในเขตพื้นที่ชุมชน โดยเพิ่มอัตราโทษแก่ผู้ทำผิดกฎจราจรในเขตควบคุม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษและดำเนินการทางวินัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ประชาชน

2) การผลักดันให้นำมาตรการตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่มาบังคับใช้อย่างจริงจังตามแนวทางในต่างประเทศ โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายจราจรกับฐานข้อมูลใบขับขี่ รวมถึงระบบข้อมูลการทำประกันภัยภาคบังคับ เช่น เลขทะเบียนรถ ประเภทรถ รหัสจังหวัด เลขตัวรถ และยี่ห้อรถ รวมทั้งชื่อผู้ครอบครองรถ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทันท่วงทีในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบังคับใช้กฎหมาย

3) การปรับปรุงด้านกายภาพและสภาพแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างของถนนหรือทางเท้าให้มีโครงสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินเท้าโดยดำเนินการ เช่น กำหนดพื้นที่ชะลอความเร็วก่อนถึงทางข้าม (Speed Zone) บำรุงรักษาสภาพพื้นผิวทางเท้า/ทางข้ามให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ปรับปรุงเครื่องหมาย ไฟจราจรสำหรับคนข้าม หรือทางม้าลายให้มีความชัดเจน ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และกล้องตรวจจับความเร็วในจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ รวมทั้งกำจัดจุดบกพร่องที่บดบังทัศนียภาพการมองเห็นบริเวณทางข้ามในเขตชุมชน เป็นต้น

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 โดยมีการเพิ่มอัตราโทษในการกระทำที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ไม่รัดเข็มขัด/ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ประกอบกับล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ โดยกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นเป็นการเฉพาะแยกออกจากคดีอาญาทั่วไป นั้น กสม. พร้อมสนับสนุนแนวทางการพิจารณาคดีจราจรและการจัดตั้งแผนกคดีจราจรดังกล่าว รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์การบังคับใช้ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 อย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้ร่วมกันรณรงค์กวดขันวินัยจราจร ทั้งนี้ เพื่อให้สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น