‘หลักนิติธรรม’ จะขับเคลื่อนไปไหน? ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช้กันมั่วๆ ก็พอ

‘หลักนิติธรรม’ จะขับเคลื่อนไปไหน? ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช้กันมั่วๆ ก็พอ

  

ยุติธรรมวิวัฒน์

                           “หลักนิติธรรม” จะขับเคลื่อนไปไหน? ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช้กันมั่วๆ ก็พอ

 

                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

การเสียชีวิตในขณะถูกคุมขัง ระหว่างการพิจารณาคดีอาญาสำคัญ คือมาตรา 112 ของ “บุ้ง” นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หญิงสาวนักเคลื่อนไหวผู้มีหัวใจเด็ดเดี่ยวและเสียสละเข้าต่อสู้กับ กระบวนการอยุติธรรม เพื่อคนส่วนใหญ่

นอกจากจะถือเป็น ความตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน คือทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ ที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าพนักงานสี่ฝ่าย คือ อัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจพนักงานสอบสวนและแพทย์นิติเวช ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม

เพื่อให้ทราบ เหตุที่ตาย และ พฤติการณ์แห่งการตาย ที่แน่ชัดแล้ว

ยังถือเป็นการตายผิดธรรมชาติรูปแบบหนึ่งด้วย!

เหตุที่ตาย ของบุ้งตามกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องยากในการวินิจฉัย เพราะแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ผ่าตรวจชันสูตรศพแล้วสรุปว่าเกิดจาก ภาวะหัวใจล้มเหลว

แต่ปัญหาคือ พฤติการณ์ที่ตาย หรือสาเหตุทำให้หัวใจล้มเหลวไม่สูบฉีดโลหิตตามปกติของชีวิตนั้นเกิดจากอะไร?

ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง สรุปพฤติการณ์แห่งการตายของเธอว่า

เป็นไปตามธรรมชาติชีวิตของมนุษย์ หรือ ผิดธรรมชาติกันแน่?

ปกติสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องกินอาหารเข้าร่างกายเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่มีใครยอมทนทานต่อความหิวโหยและเจ็บปวดที่แสนทรมานทั้งที่มีถาดอาหารวางอยู่ข้างหน้า!

การไม่ยอมกินอาหารเป็นเวลานานถึงหนึ่งร้อยเก้าวัน จนร่างกายของเธอสูบผอมอ่อนแอ นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุดนั้น จึงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ

ความตายของเธอจึงเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ!

ซึ่งถ้าใครจะสรุปว่า ถือเป็น “การฆ่าตัวตาย” รูปแบบหนึ่งซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ได้

ปัญหาสำคัญคือ บุ้ง ฆ่าตัวตาย เพราะมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไขไม่ได้ในเรื่องอะไร

บุคคลผู้มีใจรักความยุติธรรมทุกคนก็รู้ดีว่า เธออดอาหารเป็นเวลานาน และตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “จะอดจนกว่าจะตาย” ก็เพื่อประท้วงกระบวนการอยุติธรรมทางอาญา ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวในเรื่องใด

เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ ตำรวจได้แจ้งข้อหาความผิดมาตรา 112 ต่อเธอ จากการกระทำในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนร่วมกับเพื่อนหนุ่มสาวนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่ง

ซึ่งเธอกับพวกมั่นใจว่าไม่ได้กระทำอะไรเข้า องค์ประกอบความผิด ที่จะถูกแจ้งข้อหามาตราสำคัญนั้นได้

แต่ตำรวจก็แจ้งข้อหา และ อัยการก็สั่งฟ้องคดี

และสุดท้ายเธอต้องถูกจองจำในเรือนจำเพราะถูกศาลถอนประกันในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลว่า ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ที่ สั่งไม่ให้ไปกระทำผิดกฎหมายอะไรอีก?

บุ้งจะกระทำความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาและอัยการสั่งฟ้องจริงหรือไม่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยจนคดีถึงที่สุด

แต่ชีวิตของบุ้งต้องสิ้นสุดหมดลมหายใจไปในเรือนจำที่คุมขังนักโทษที่ศาลมีคำพิพากษา รวมทั้งผู้อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก ร่วมห้าหมื่นคน!

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยมีปัญหาร้ายแรง เรื่องตำรวจแจ้งข้อหาประชาชนง่าย เพราะรู้ว่าอัยการไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 99 ก็มักสั่งฟ้องตามเสนอ!

ความคิดที่ว่า ผิดถูกไปว่ากันในชั้นศาล นั้น เป็นการพูดของผู้มีอำนาจโง่เขลา รวมทั้ง นักกฎหมายที่มักง่ายและสิ้นคิด ไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตและอิสรภาพของประชาชน

แท้จริงตามหลักการสากล การพิสูจน์ความผิดทางอาญาที่ตำรวจกล่าวหาต้องกระทำให้สิ้นสงสัยในชั้นอัยการโดยมีพนักงานสอบสวนเป็นเครื่องมือในการรวบรวมพยานหลักฐานค้นหาความจริง

กระบวนการยุติธรรมอาญาที่ดี จะต้องไม่มีใครได้รับความเดือดร้อนจากการ แจ้งข้อหามั่วๆ ไม่ว่ากฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญามาตราใด โดยเจ้าพนักงานบอกให้ไปพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดกันในชั้นศาล

ยิ่ง การสั่งคดีของตำรวจไทยโดย “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” ให้แจ้งข้อหาประชาชนคนมั่วๆ เพื่อหวังผลทำให้ต้อง ถูกควบคุมตัว เดือดร้อนหาหลักทรัพย์หรือผู้คนมาประกันเพื่อให้ได้รับอิสรภาพระหว่างดิ้นรนต่อสู้คดี

กระบวนการยุติธรรอาญาที่วิปริตเช่นนี้ ประชาชนต้องช่วยกันทำไม่ให้มีอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไป!

การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา หรือว่าการเสนอศาลออกหมายจับใคร จะต้องได้รับความเห็นชอบผ่านการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการ

โดยอัยการก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวประชาชนคนใดมาแล้วจะสามารถสั่งฟ้องสามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้เท่านั้น

และ ศาลไม่ว่าชั้นใดก็ต้องพิจารณาพิพากษาโดยยึดถ้อยคำตามกฎหมายเป็นหลักอย่างเคร่งครัด

ไม่พิพากษาคดีให้เกิดปัญหา ประชาชนโวยวายว่าถ้อยคำตามกฎหมายไม่ได้บัญญัติเป็นองค์ประกอบของความผิดไว้

ทำให้ผู้คนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไม่มั่นใจว่า แม้ไม่ได้ทำผิดอาญาตามถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย แต่ก็อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษได้

สังคมที่ไม่มีหลักนิติธรรมเป็นหลักประกันต่อชีวิตและอิสรภาพของผู้คนนั้น จะอยู่กันอย่างสงบสุขแท้จริงได้อย่างไร?

“หลักนิติธรรม” นั้น ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปไหน?

และรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องตั้งคณะทำงานชุดใดขึ้นพิจารณาให้เสียเวลา

เพียงตัวเองเคารพกฎหมาย

ใครมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ก็ควบคุมตัวให้อยู่ในคุกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกคน!

ตรวจสอบตำรวจให้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย กำชับไม่ให้ออกหมายเรียกประชาชนเป็นผู้ต้องหา หรือว่าเสนอศาลออกหมายจับใครง่ายๆ

เร่งกำจัด “คนร้ายมียศ” ให้หมดไปจากองค์กรตำรวจโดยเร็ว!

“อัยการสูงสุด” ออกระเบียบ การสั่งฟ้องต้องมั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้

เพียงแค่นี้ ความตายของ “บุ้ง” ก็จะคุ้มค่า

สามารถคุ้มครองชีวิตและอิสรภาพของประชาชนทั้งคน

          ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 27 พ.ค. 2567