ประชาชนฟ้องคดี ‘กรมการขนส่งทางบก’ และ ‘อธิบดี’ ได้ กรณีไม่ออก ‘ป้ายวงกลมแสดงการจ่ายภาษีประจำปี’

ประชาชนฟ้องคดี ‘กรมการขนส่งทางบก’ และ ‘อธิบดี’ ได้ กรณีไม่ออก ‘ป้ายวงกลมแสดงการจ่ายภาษีประจำปี’

ยุติธรรมวิวัฒน์

ประชาชนฟ้องคดี ‘กรมการขนส่งทางบก’ และ ‘อธิบดี’ ได้ กรณีไม่ออก ‘ป้ายวงกลมแสดงการจ่ายภาษีประจำปี’

         

                                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ระยะนี้มีประเด็นทางการเมืองที่หนักหน่วงเกิดขึ้นหลายเรื่อง โดยที่ ไม่มีใครรู้ว่าผลสุดท้าย ความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งใหญ่ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปในสังคมไทยจะปะทุขึ้นเมื่อใด และในที่สุดจะจบลงอย่างไร?

ในส่วนของตำรวจก็ยัง คงเส้นคงวา! เกิดปัญหาพฤติกรรมเลวทรามในหลายพื้นที่ขึ้นเป็นระยะ จนประชาชนแทบไม่อยากรับรู้หรือจดจำให้เสียสมองและเสียเวลาทำมาหากินอะไร

กระบวนการยุติธรรมไทย”ต่ำเตี้ย” ลงเรี่ยดิน มีการสำรวจโดยองค์กรทางสากลสรุปผล ติดอันดับรั้งท้าย 115 ใน 142 ประเทศทั่วโลก!

ไม่รู้ว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี จะทราบบ้างหรือไม่?

สองสามวันนี้ ได้มีการฟ้องคดีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่น่าสนใจอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งคือ

การฟ้องคดีปกครองของ ว่าที่ร้อยเอกชัย ท่อนไม้ทองคำ ต่อ ศาลปกครองเชียงใหม่

โดยมี กรมการขนส่งทางบก เป็นจำเลยที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นจำเลยที่ 2 สำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยา เป็นจำเลยที่ 3 ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยา เป็นจำเลยที่ 4 และนางธิดา สีมะเดื่อ เป็นจำเลยที่ 5

เป็นการฟ้องคดีจากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกไม่ยอมออกป้ายภาษีวงกลมที่เป็นหลักฐานการจ่ายภาษีรถยนต์ประจำปีให้

โดยอ้างว่าได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีเจ้าของรถที่มาจ่ายภาษีมีปัญหาไม่ยอมชำระค่าปรับจราจรค้างอยู่ จะต้องไปชำระให้เรียบร้อยก่อน จึงจะออกหลักฐานป้ายวงกลมฉบับจริงให้

ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมาย

เพราะการค้างชำระค่าปรับจราจร กับการจ่ายภาษีรถยนต์ประจำปี โดยเหตุผลเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้เคยมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่เจ้าของรถคนหนึ่งได้ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1 และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 2

กรณีที่ได้ออกประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า “การเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับกับการชำระภาษีประจำปี โดยหากเจ้าของรถผู้ใดไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปี จะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน ไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ก็จะเป็นความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้

 ซึ่งหลักการการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำสองเรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ

จึง พิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว

แต่การฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งยังไม่ทราบผล

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษานี้ก็ได้มีผลกระทบไปถึงปัญหาการที่กรมการขนส่งทางบกที่ยังถือ ปฏิบัติตามข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีที่มีเจ้าของรถมาจ่ายภาษีประจำปี แต่เมื่อมีปัญหายังไม่ชำระค่าปรับจราจร ก็จะ ชะลอการออกหลักฐานแผ่นป้ายวงกลมฉบับจริงไว้ก่อน

ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของรถและประชาชนผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก

เนื่องจาก เมื่อมีเจ้าของรถมาชำระภาษีประจำปี หน่วยงานรัฐโดยกรมการขนส่งทางบกก็มีหน้าที่ต้องรับชำระภาษีและออกหลักฐานการจ่าย ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เจ้าของรถไป

กรมการขนส่งทางบกจะนำปัญหาการกระทำผิดกฎหมายจราจรและยังไม่ได้ไปชำระค่าปรับกับตำรวจให้เรียบร้อยก่อนมาปะปนกันเช่นทุกวันนี้ไม่ได้

การกระทำที่มิชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ถูกประชาชนฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่

และหาก “อธิบดีกรมการขนส่งทางบก” ยังไม่ยอม “สั่งการแก้ไข” ให้ถูกต้อง

ก็จะมีประชาชนฟ้องคดีจากการกระทำที่มิชอบเช่นนี้ทั่วประเทศตามมาอีกมากมาย!

เรื่องประชาชนไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับ เป็นปัญหาและหน้าที่ของ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จะต้องคิดและพัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติทุกกรณี

ต้องยกเลิกอัตราค่าปรับตายตัวที่ออกคำสั่ง “มั่ว” ให้พนักงานสอบสวนปรับประชาชนกันมานาน

ให้เป็น “อำนาจและดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน” ในการเปรียบเทียบปรับอย่างยุติธรรมตามพฤติการณ์กระทำผิดของผู้ขับรถแต่ละคน.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 5 ก.พ. 2567