คืนความเป็นธรรมและ’ความเป็นคน’ให้’ซีอุย’-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

คืนความเป็นธรรมและ’ความเป็นคน’ให้’ซีอุย’-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

 

              คืนความเป็นธรรม และ “ความเป็นคน” ให้ “ซีอุย”

                                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร


ปัญหาตำรวจตั้งด่านขอตรวจใบขับขี่อธิบดีผู้พิพากษาฯ เป็นเรื่องราวข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ว่าฝ่ายใดนั้น

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต้องคิดและพิจารณาก็คือ

๑.ตำรวจมีอำนาจนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางตั้งด่านปิดกั้นถนน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อการสัญจรของประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินคืออธิบดีกรมทางหลวงตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕ หรือไม่?  

๒.   ใครคือผู้รับผิดทั้งทางอาญาและแพ่งในกรณีที่เกิดอุบัติมีคนบาดเจ็บหรือตาย ทรัพย์สินเสียหาย

๓.ตำรวจมีอำนาจเรียกให้ประชาชน “หยุดรถ” เพื่อขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลอันควรสงสัยตาม ป.วิ อาญา หรือขอตรวจใบขับขี่โดยไม่มีเหตุตามที่ พ.ร.บ.จราจรบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒ (๑) เรื่องสภาพรถ และ (๒) พฤติกรรมการขับรถที่ผิดกฎหมายหรือไม่?       กรณีของอธิบดีผู้พิพากษาฯ ถ้าท่านพูดเพียงว่า “ขอทราบว่าผมทำผิดกฎหมายจราจรข้อหาใด?” ถ้าตำรวจบอกได้  ก็มีหน้าที่ส่งใบอนุญาตขับรถให้ตรวจดูเพื่อออกใบสั่งให้ไปพบพนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจเปรียบเทียบปรับตามจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามกฎหมาย

ถ้าบอกไม่ได้หรือพูดว่า “ผมมีอำนาจหน้าที่เต็ม” “ก็ควรตอบว่า “คุณไม่มีอำนาจและกำลังปฏิบัติหน้าที่มิชอบละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนขอขับรถต่อไป

ถ้าไม่อ้างตำแหน่งหน้าที่หรือมีเพื่อนเป็นใคร ก็ไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาไม่ว่าทางกฎหมายหรือจริยธรรมข้าราชการที่ต้องสอบสวนอะไรแต่อย่างใด

ใครที่อ้างคำพิพากษาศาลจังหวัดสิงห์บุรีคดีแดงที่ ๑๗๔๙/๒๕๕๙ เรื่อง ตำรวจขอตรวจใบขับขี่แล้วไม่ส่งให้ดู เป็นความผิดข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ถูกปรับ ๕,๐๐๐ บาทนั้น

ข้อเท็จจริงเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง เพราะนั่นเป็นกรณีผู้ขับรถได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไม่ยอมส่งใบอนุญาตให้ตำรวจตรวจเพื่อออกใบสั่ง แต่ถือไว้ให้ดูห่างๆ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นการส่งให้ตรวจตามกฎหมาย ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว

สรุปก็คือ การที่เจ้าพนักงานจะเรียกให้ประชาชนหยุดรถเพื่อขอตรวจใบขับขี่  จะต้องมีเหตุได้พบการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสภาพหรือพฤติกรรมการขับรถอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจขอดูเพื่อให้รู้ว่าคนขับรถนั้นเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน เพื่อประดับความรู้ หรือขอดูกันทุกวี่ทุกวัน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องปรามอาชญากรรมกันเช่นทุกวันนี้!

กรณี “ซีอุย” กำลังเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจวิจารณ์กันมากว่า มีปัญหาไม่ได้รับความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและสังคม

          ซีอุย คือชาวจีนโพ้นทะเลผู้โดยสารเรือมาจากเมืองซัวเถาดินแดนแผ่นดินใหญ่พูดไทยไม่ได้ ในปี ๒๕๐๑ ถูกรัฐไทยจับกุมที่จังหวัดระยอง กล่าวหาว่าเป็นอาชญากรใจอำมหิต ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตใน พ.ศ.๒๕๐๒ ยุคเผด็จการทหาร ตามหลักฐานการสอบสวนและฟ้องคดีว่าได้ก่อเหตุสังหารเด็กอย่างต่อเนื่องหลายพื้นที่หลายรายแล้วผ่าร่างกายควักตับหัวใจไปต้มกิน!

หลังถูกประหาร โรงพยาบาลศิริราชได้ขออนุญาตนำศพไปดองและ “ใส่ตู้กระจก”  แสดงให้เด็กได้ดูและศึกษาดูงานในด้านนิติวิทยาศาสตร์และอาชญาวิทยา

ภาพที่ซีอุยถูกถ่าย “ขณะกำลังหาว” และเผยแพร่ไปในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับหลังถูกจับกุม ได้กลายเป็นภาพที่ติดตาเด็กและผู้ใหญ่ทุกคนว่า เขากำลังอ้าปากอยากกินตับและหัวใจมนุษย์!?

ทั้งการแสดงรวมทั้งการเขียนคำอธิบายใต้ศพและภาพดังกล่าว กำลังถูกวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสม “ละเมิดสิทธิความเป็นคน” ตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายสากลหรือไม่?

แม้กระทั่งความชอบตามกฎหมายไทย ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนตายหรือทายาทเมื่อใด และทำได้เพียงใด?

นอกจากนั้นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ปัจจุบันมีปัญหาให้ถกเถียงกันว่า ซีอุยได้กระทำความผิดตามที่ถูกรัฐและสังคมกล่าวหาตราหน้าว่าเป็น “มนุษย์กินคน” มากว่าหกสิบปีหรือไม่?

เนื่องจากมีเหยื่อที่รอดชีวิตรายหนึ่งถึงปัจจุบันพักอาศัยอยู่ในอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยืนยันว่า คนร้ายที่พยายามฆ่าเธอด้วยการใช้มีดปาดคอ ไม่ใช่ซีอุย!

ซ้ำยังจำหน้าคนร้ายได้ว่าคือใคร เป็นที่รู้กันว่าเป็นบุคคลผู้มีจิตวิปริตชอบกินเนื้อสดๆ ด้วย!

อาจกล่าวได้ว่า ซีอุยเป็น “แพะรับบาป” ในคดีนั้น 

และยังมีคดีใดในอีก ๖ คดีที่เกิดในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งนครปฐม กรุงเทพฯ และระยอง ตามที่ถูกสังคมกล่าวหาตราหน้า แต่ว่าตามข้อเท็จจริง หลายศพที่ถูกฆาตกรรมด้วยเหตุต่างๆ ล้วนแต่มีอวัยวะตับและหัวใจในร่างกายอยู่ครบแทบทั้งสิ้น

หรือว่าซีอุย “เป็นแพะทุกคดี!” เพื่อที่ผู้รับผิดชอบจะได้ปิดบัญชีคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันเกือบห้าปีในยุครัฐบาลเผด็จการช่วงนั้น

และการฆ่าคนเพื่อควักอวัยวะตับหัวใจมากิน ในทางกฎหมายและวิชาการถือว่าเป็นผู้มีจิตวิปริต ถ้ากระทำความผิดในขณะควบคุมตนเองไม่ได้ ก็เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับการบำบัดรักษามากกว่าประหารชีวิต

นอกจากนั้น ข้อกล่าวหาแต่ละคดีที่ว่าซีอุยรับสารภาพหลังถูกจับและสอบสวนนั้น เขาเข้าใจและเต็มใจอย่างแท้จริงหรือไม่?

โดยหลักการ คำรับสารภาพของบุคคลที่ถูกคุมขังนั้น รับฟังไม่ได้ เพราะอาจกระทำไปเพื่อให้ได้รับอิสรภาพหรือให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ

ต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบหรือยืนยันให้เชื่อได้ อย่างปราศจากข้อสงสัยด้วย?

และคดีที่จำเลยรับสารภาพ ปกติศาลจะพิจารณาลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เช่น จากประหารชีวิตลดเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่คดีนี้ซีอุยกลับไม่ได้ลดโทษ ซึ่งยังไม่มีใครตอบหรืออธิบายให้เข้าใจแต่อย่างใด    

เรื่องนี้ แม้จะเกิดขึ้นมานานเวลาผ่านมากว่าหกสิบปี และซีอุยไม่มีญาติพี่น้องในไทยที่จะไปร้องเรียนหรือดำเนินการขอความเป็นธรรมอะไรให้เกิดผลตามกฎหมายรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ที่ถูกบัญญัติขึ้นใน พ.ศ.๒๕๒๖

แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจและประชาชนต้องตระหนักถึงปัญหาความยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทยที่มีปัญหามาช้านานตั้งแต่อดีต “แม้กระทั่งปัจจุบันก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน”

             ทำให้ประชาชนต่างเรียกร้องให้รัฐ “ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” โดยเฉพาะในชั้นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน 

        ให้มีการตรวจสอบโดยฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนตามหลักสากล ทำให้เป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชนและชาวต่างชาติอยู่ขณะนี้.

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, May 20, 2019

ซีอุย