วงสัมมนาชี้ระบบการสอบสวนไทยขาดการตรวจสอบจากภายนอกทั้งฝ่ายปกครองและอัยการเปิดช่องเกิดทุจริตยัดข้อหาประชาชน

วงสัมมนาชี้ระบบการสอบสวนไทยขาดการตรวจสอบจากภายนอกทั้งฝ่ายปกครองและอัยการเปิดช่องเกิดทุจริตยัดข้อหาประชาชน

ปฏิรูปตำรวจหลังเลือกตั้ง
CPG Seminar

วงสัมมนาชี้กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาสำคัญที่สุดคือในชั้นการสอบสวน ขาดการตรวจสอบจากภายนอกทั้งโดยฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง  เปิดช่องโอกาสให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบและทุจริต  ตำรวจสามารถ “สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” เพื่อล้มคดี  หรือสอบสวนสร้างพยานหลักฐานเท็จ “ยัดข้อหา” ประชาชนได้ง่าย คนยากจนจึงได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสอยู่ในปัจจุบัน ปลุกประชาชนและตำรวจน้ำดีต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง

 

เมื่อวันที่ 16พ.ค.2562 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา มีการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจหลังการเลือกตั้งในประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิ Hanns Seidel Foundation, Asian Governance Foundation (AGF) ,The German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา

 

ในช่วงบ่าย  พล.ต.ต. อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  ก่อนหน้าเลือกตั้งมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน และต่อมามีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ จัดการร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจ เสร็จสิ้น แล้วส่งให้หน่วยงานต่างๆดูอีกทีหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่รัฐบาลชุดต่อไปว่าจะมีการพิจารณาหรือไม่ หรือให้มีการศึกษาเพิ่มเติม

ตำรวจต้องการให้ปฏิรูป 6 ประเด็น

  1. ปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง
  2. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  3. งานสอบสวนและการบังคับใช้ กฎหมาย
  4. นำเทคโนโลยีมาใช้
  5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
  6. ป้องกันปราบปรามทุจริตในองค์กร
ปฏิรูปตำรวจหลังเลือกตั้ง
พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา

หากจะให้รัฐบาลใหม่ปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง  โดยเฉพาะในศตวรรษของการคุกคามขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย   มีรายงานของสหประชาชาติ มีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีมูลค่า 870 พันล้านต่อปีที่เชื่อมโยงกับตลาดมือ (Black Market)  สหรัฐ จีน แมกซิโก อิตาลี ญี่ปุ่น สำหรับไทยอยู่อันดับที่ 20 ที่ค้ายาเสพติด โสเภณี อุปกรณ์เทคโนโลยี  กัญชา  มูลค่าขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เทปฝี ซีดีเถื่อน 13.95 พันล้าน

 

ส่วนการก่อการร้ายจาก World Trade มาถึงกลุ่ม ISIS  มากลุ่มโบโกฮารามในซีเรีย และมุ่งสู่การก่อการร้ายที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งมีสามเสาหลัก มีการเชื่อมโยงทางกายภาพและทางอุปกรณ์ไร้สาย  ทาง สตช.จึงต้องปฏิรูปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคนี้ กับเส้นทาง Chinese one Belt One Road และ Russian Trans-Eurasian Belt Development  ที่เชื่อมโยงโลกทั้งหมดนี้  อาชญากรในโลกก็จะใช้การเดินทางแบบนี้ด้วยระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน ในปี 2520 เราจะมี 5G เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างมันรวดเร็วมากขึ้น เมื่อคนดีได้ประโยชน์ คนชั่วก็ได้ประโยชน์ด้วย   ถ้ารัฐบาลชุดหน้าจะปฏิรูปตำรวจต้องพูดถึง 4 เรื่องดังนี้

  1. งานต่างประเทศ (International)
  2. งานข่าวกรอง (Intelligence) ต้องมีสันติบาลที่เก่ง
  3. งานตำรวจ (Policing)
  4. งานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Border Control)

และต้องมีตำรวจในพื้นที่ที่แข็งแกร่ง เป็นมิตรกับประชาชน  และมีความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน

 

พ.ต.อ.ดร. อัครพล บุญโยปัษฏัมภ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ตำรวจในระดับสากลเป็นที่เคารพมาก เป็นที่ยอมรับ แต่ในประเทศไทยตำรวจเดินมาประชาชนเดินหนี คนในองค์กรตำรวจบอกว่าอยากปฏิรูป แต่ตัวเองยังไม่ทำอะไรให้เห็นว่าปฏิรูปเลย เราต้องเริ่มเดินไปในทิศทางเดียวกัน

 

ประเทศไหนจะเจริญหรือไม่เจริญ มันดูไม่ยากให้ดูที่ตำรวจ ถ้ากระบวนการยุติธรรมมันดี เศรษฐกิจก็จะดี สังคมก็จะดี ต้องมีโครงการนำร่องให้ชัดเจน ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องเคารพความถูกต้องไม่เล่นเส้นเล่นสาย ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจต้องเกิดขึ้น ต้องเดินทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ จากบนลงล่าง   ต้องเริ่มที่ How to ไม่ใช่ What อย่างเดียว

 

ทางดีเอสไอ มีทั้งตำรวจและอัยการรวบรวมพยานหลักฐานในการฟ้องศาล อย่างน้อยข้อมูลเบื้องต้น ต้องเป็นหลักฐานจริง และร่วมกันทำงานอย่างรวดเร็ว อัยการต้องดูหลักฐานลึกลงไป เพื่อส่งทอดไปที่ศาล อัยการต้องทันสมัยนอกจากมีความรู้ทางกฎหมาย แล้วยังต้องรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ให้กระบวนการ Due Process มันถูกต้อง

ปฏิรูปหลังเลือกตั้ง
CPG semimar

ยอมรับว่างานตำรวจมีหลากหลาย ในองค์กรมีทั้งดีและไม่ดี ต้องทำให้คนไม่ดีเป็นคนแปลกขององค์กร ตำรวจต้องทำให้ความแปลกลดน้อยลง และเป็นสิ่งผิดปกติ ทุกคนต้องเริ่มที่ภายในของตัวเอง  ต้องจับตัวผู้กระทำความผิด  คนต้องสร้างระบบและให้ระบบมันสร้างคน คนไทยตอนนี้มองเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติ เราต้องทำตรงข้าม และทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องบริการประชาชน  สังคมเองต้องช่วย เช่นเดียวกับราชทัณฑ์ที่มีการร่วมกันนำคนผิดมากล่อมเกลาให้เป็นคนดีคืนสู่สังคม   ส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเองก็ต้องทำให้ชัดขึ้น และตัวบุคคลต้องทำให้คนที่เข้ามาใหม่เปรียบเหมือนเป็นผ้าขาว ทำยังไงให้เป็นผ้าขาวตลอดไป

 

ทางดีเอสไอ ที่ทำงานเป็นทีม มีอัยการร่วมสอบสวน คงจะบิดเบือนยาก ส่วนค่าตอบแทน ผมเห็นว่าควรจะขึ้นเงินเดือนตามพื้นที่ เช่นทำงานในพื้นที่ท่องเที่ยว มีอาชญากรรมมาก ก็เอาเงินบำรุงท้องที่มาเพิ่มให้   สิทธิเงินเดือนต้องไม่เป็นไปตามยศหรือตำแหน่ง เมื่อมีสิทธิในเงินเดือน การเดินทาง ก็ต้องให้เขา จะได้ไม่ต้องดิ้นรนที่จะย้ายตำแหน่ง เพราะเขามีความภาคภูมิใจในตำแหน่งที่เขามี   การซื้อขายตำแหน่งต้องไม่ให้ความร่วมมือ คนซื้อขายตำแหน่งจะต้องไม่เป็นที่ยอมรับ เราเห็นช่องว่างระหว่างตำรวจระดับสูงกับระดับล่างมาก

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ คอลัมน์นิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ”  กล่าวว่า งานสอบสวนคดีอาญาของไทยทั้งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และหลังจากใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478  เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายปกครองนายอำเภอและผู้ว่าราชจังหวัด  ส่วนตำรวจมีหน้าที่ในการตรวจตราป้องกันอาชญากรรม   ความผิดพลาดของสังคมครั้งสำคัญก็คือในยุคเผด็จการทหารปี 2506 ได้มีการออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้การสอบสวนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดเป็นอำนาจสอบสวนของตำรวจฝ่ายเดียว  ซ้ำยังขาดการตรวจสอบจากฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการอย่างสิ้นเชิง  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาจนถึงปัจจุบัน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตำรวจไทยสามารถล้มคดีได้แทบทุกคดี ถ้าเงินถึงหรืออำนาจถึง  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างฯหลังการยึดอำนาจปี 2557 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้ฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวน  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ตกไป ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ  เนื่องจากมีบทบัญญัติสำคัญบางเรื่องที่รัฐบาลทหารไม่ต้องการ  และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาที่นายมีชัย  ฤชุพันธุ์  เป็นประธาน  ก็ไม่ได้นำหลักการนี้มาบัญญัติไว้แต่อย่างใด

 

การปฏิรูปตำรวจนั้น  แท้จริงไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย    แต่ก่อนอื่น ผู้มีอำนาจแท้จริงต้องยอมรับเสียก่อนว่า ระบบงานตำรวจมีปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างที่ต้องปฏิรูปหรือ “จัดรูปใหม่” (Reform) ไม่ใช่การปรับปรุงหรือพัฒนาไปจากโครงสร้างที่ผิดแต่อย่างใด    ปัญหาตำรวจคนรวยมักไม่ได้รับผลกระทบและมีทางหนีทีไล่เสมอ แต่คนจนได้รับความเดือดร้อนตกเป็นแพะถูกกล่าวหาคดีอาญากันง่ายๆ  แต่เวลาเป็นผู้เสียหายก็ไปแจ้งความยาก ตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์เข้าสารบบคดี หรือการสอบสวนไม่คืบหน้า  ไปแจ้งความแล้วกลับมาเกิดความเครียด บางคนไปปีนเสาไฟฟ้า เสาโทรศัพท์  หรือบางคนก็ฆ่าตัวตาย   ส่วนสื่อมวลชนไทยก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบงานตำรวจอย่างจริงจัง  ส่วนหนึ่งเพราะเกรงกลัวอำนาจและอิทธิพลของตำรวจผู้ใหญ่ บางคนก็สนิทสนมนับพี่นับน้องกับตำรวจที่ทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่เจาะข่าวลึก

ปฏิรูปหลังเลือกตั้ง
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

การปฏิรูปตำรวจเราไม่ต้องไปพูดถึง 5G  หรือเทคโนโลยีอะไรให้หรูหรา  เอาแค่ปฏิรูประบบการรับแจ้งความจากที่เขียนในบันทึกประจำวัน ซึ่งผมขอเรียกว่า “สมุดข่อย” เป็นการลงบันทึกเข้าในระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลักฐานเข้าสู่ระบบใหญ่  แค่นี้ยังไม่ทำกันเลย   ความเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปขณะนี้มีอยู่สองลักษณะ  คือกลุ่มหนึ่งต้องการปฏิรูปจริง  แต่อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลทำท่าเหมือนอยากปฏิรูปเสนอแนวทางโน่นนี่มั่วไปหมด ซึ่งแท้จริงคือ  “การปฏิลวง” ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง  ประชาชนต้องระวังคนกลุ่มนี้ อย่าไปหลงกล

 

ขอเรียนว่า  การเพิ่มเงินเดือนหรือค่าตอบแทนไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในการแก้ปัญหาตำรวจ ปัจจุบันในความเป็นจริง ตำรวจมีเงินเดือนและค่าตอบแทนพิเศษต่างๆ มากกว่าข้าราชการอื่นในพื้นที่เดียวกันด้วยซ้ำ  และสามารถดำรงอยู่ได้ไม่ได้เดือนร้อนอะไร โดยเฉพาะตำรวจในต่างจังหวัดที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ทำงาน  ส่วนใหญ่จะมีฐานะดีกว่าข้าราชการอื่นและประชาชนในพื้นที่แต่คนที่บ้านอยู่จังหวัดหนึ่งไปทำงานอีกจังหวัดหนึ่งอย่างนี้จะเดือดร้อนและยากจน ต้องแยกครอบครัวและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก ขวัญและกำลังใจตกต่ำ  อุปกรณ์การทำงานในความเป็นจริงก็ไม่ได้ขาดแคลนอะไร  และการขาดในบางพื้นที่ที่ผู้บังคับบัญชามีพฤติกรรมทุจริต เช่นเอาน้ำมันราชการไปใช้ส่วนตัว เป็นเรื่องของปรากฎการณ์ที่ตำรวจผู้น้อยต้องไปเรียกร้องจากผู้บังคับบัญชาหรือร้องเรียน  แต่เนื่องจากระบบการปกครองตำรวจไทยมีชั้นยศแบบทหาร  ทำให้เรียกร้องหรือร้องเรียนอะไรทำได้ยาก

 

ขอย้ำว่า ปัญหาตำรวจเป็นปัญหาเรื่องระบบและโครงสร้างการจัดองค์กรไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงาน     งานตำรวจเป็นงานพลเรือนและมีอยู่แล้วในทุกกระทรวงทบวงกรม เป็นตำรวจไม่มียศมีหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายที่รับผิดชอบซึ่งสามารถทำได้ดีกว่า   ตำรวจที่มียศแบบทหารที่จัดไว้เพื่อการรบ ทำงานเป็นหน่วย   ทหารถ้านายไม่สั่งก็ไม่ทำ แต่ตำรวจถ้านายไม่สั่งก็ต้องทำงานเองได้ แม้กระทั้งการจับเจ้านาย

 

ทุกวันนี้สถิติคดีอาญาที่ปรากฏเป็นตัวเลขลวงที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งสิ้น เบื้องหลังก็คือการไม่รับคำร้องทุกข์ออกเลข  แต่ก่อนมีปัญหาประชาชนถูกแจ้งข้อหาตกเป็น “แพะ”  แต่ปัจจุบันมีปัญหาประชาชนผู้เสียหายกลายเป็น “แกะ” ด้วย  เพราะไปแจ้งความตำรวจแล้วถูกกล่าวหาว่าโกหก  เช่นกรณีแหม่มสาวชาวอังกฤษผู้ถูกข่มขืนที่เกาะเต่า ไปแจ้งความที่เกาะพงัน  แต่ตำรวจหาว่าเธอโกหก  เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อปีที่แล้ว

 

เราต้องโทษอำนาจเผด็จการในปี 2506 ที่ออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนแต่ฝ่ายเดียว  โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมจากภายนอกโดยเฉพาะพนักงานอัยการเมื่อเกิดเหตุหรือระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิง  แม้กระทั่งปัจจุบันก็ไม่มีการแก้ไขปัญหานี้

 

การปฏิรูป  ถ้าต้องการทำจริงก็เป็นเรื่องง่ายๆ บางเรื่องออกแค่กฎกระทรวง เช่นอำนาจสอบสวนความผิดกฎหมาย 26 ฉบับของกรุงเทพมหานคร   กรมป่าไม้ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตร กรมเจ้าท่า และอีกสารพัดหน่วย ต้องมีอำนาจสอบสวนด้วยโดยไม่ตัดอำนาจตำรวจที่จะสอบสวนไปตามปกติ  เรื่องนี้  แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา เพียงมาตราเดียว  “กระทรวง ทบวงกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด  ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นอีกส่วนหนึ่งด้วย  โดยไม่ตัดอำนาจของตำรวจพื้นที่หรือหน่วยรับผิดชอบที่จะดำเนินการสอบสวนไปตามปกติ”

 

อย่างตำรวจจังหวัดก็ปฏิรูปได้ง่ายๆ ด้วยการออกระเบียบคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดหรือ กต.ตร.จังหวัด  ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ อยู่แล้วมีอำนาจให้ความในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดรวมทั้งเลื่อนขั้นเงินเดือน  ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ไม่เห็นชอบไม่ต้องการให้ย้ายก็ต้องย้ายไม่ได้    ปัจจุบันตำรวจไม่ทำงานให้ผู้ว่าราชการและหน่วยราชการในจังหวัด  เพราะให้คุณให้โทษแม้กระทั่งคุ้มครองเขาไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายก็ยังไม่ได้   แต่จะทำงานให้ผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจภาค หรือตำรวจแห่งชาติซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการบริหารงานในจังหวัดเลย

 

อย่างกองบัญชาการตำรวจภาคนั้นปัจจุบันจะถือว่าเป็นส่วนเกินในระบบตำรวจก็ว่าได้  ถ้ายุบเสียทั้งหมด จะมีงบประมาณเหลือมใช้อย่างอื่นไม่น้อยกว่าห้าพันล้านบาท  หรือเรื่องการสอบสวนการสอบปากคำบุคคล  ต้องใช้วิธีบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานได้แล้ว  ต้องทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นไสยศาสตร์แบบปัจจุบัน ที่พูดไม่จด หรือที่จดไม่ได้พูด  แม้กระทั่งกระทำโดยสุจริตก็มีความคลาดเคลื่อน  ยิ่งถ้าเจตนาทุจริตยิ่งแล้วใหญ่  จะสอบปากคำแบบไหนหลอกให้ใครลงเป็นหลักฐานเพื่อให้ได้ผลคดีตามที่ต้องการกันอย่างไรก็ได้

 

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี   กล่าวว่า อัยการไม่ได้ทำการร่วมตรวจสอบในทุกคดี  แต่เป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล ในประเทศไทยเรามีวงจรอุบาทว์ ที่หลายประเทศคงไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง  ธุรกิจผิดกฎหมายทั้งหลายในไทยอยู่ได้เพราะมีการจ่ายเงิน หน่วยงานที่รวบรวมพยานหลักฐานของไทยมีหน่วยงานเดียว  คนทำผิดจึงยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้น แล้วเจ้าหน้าที่ก็เอาเงินไปซื้อตำแหน่ง เมื่อถูกจับได้ก็ถูกย้ายแล้วไปทุจริตในที่อื่นๆ   จึงไม่แปลกที่ตำรวจเหล่านี้ไม่อยากจะปฏิรูปตำรวจ  ไม่อยากเปลี่ยนแปลง  ผมเคยเจอคดีที่มีการยิงคนในบ้านที่อยุธยา ใช้เวลา 6 เดือน คดีก็ไม่คืบหน้า ปล่อยนานเกินไปอัยการก็หาพยานหลักฐานเองไม่ได้ ทำให้คนชั่วลอยนวล คนดีตายฟรี

 

เราพูดกันมากเรื่องคนดี เราคงพึ่งพาคนดีไม่ได้ เพราะคนดีก็อ่อนไหวได้ เปลี่ยนแปลงได้ เราต้องพึ่งพาระบบ ในประเทศไทยยังมีระบบการฝากขัง 7 ฝาก 84 วัน ที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ถ้าผู้ต้องสงสัยไม่ผิด ก็ถูกขังฟรี  ถ้าจะให้มีความยุติธรรม อย่าให้หน่วยงานใด เป็นหน่วยงานเดียวที่รวบรวมหรือริเริ่มดำเนินคดี หน่วยงานอื่นต้องเข้าไปทำได้ด้วย   ถ้าจะมีผู้นำดีต้องมีสามอย่างคือ 1. เป็นคนดีมีคุณธรรม     2. เป็นคนมีความรู้   3. ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรม

 

เรื่องการขึ้นเงินเดือน ถ้าเราไม่ปรับระบบ ไม่แก้ไขเงินนอกระบบที่ได้ผลประโยชน์มากกว่า  เพิ่มเงินเดือนไปก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น  ส่วนความเป็นอิสระจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้น ไม่ใช่หมายถึงจะไม่ทำอะไรเลย ต้องตรวจสอบถ่วงดุลได้ การเรียกร้องความเชื่อมั่น หากตำรวจยัดยาเสียเอง ได้เกิดขึ้นแล้วที่ปัตตานี เป็นข่าวออกไป มันยิ่งทำให้คนไม่เชื่อมั่นในตัวตำรวจ   ส่วน public defender ต้องไปดูที่เกิดเหตุ  ทุกประเทศเรียกร้อง rule of law เราจะทำอย่างไรให้คนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย แต่ปัจจุบันการร่างกฎหมายของเรายังไม่เป็นไปตามหลักการ และมีปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย

 

กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องเอาคนผิดมาลงโทษ และกันคนดีออกจากการจับกุม  จับแล้วอัยการต้องเข้าไป รับรู้ตรวจสอบ มันจะทำให้การคิดจะยัดยาก็ยัดไม่ได้   เราไม่ควรให้หน่วยงานเดียวผูกขาดอำนาจ  การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะสำเร็จหรือไม่ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คนนั้นต้องเป็นคนดี มีความรู้ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ถ้าไม่มีก็อย่างฝันเลยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

นางอังคณา นีละไพจิตร   กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต้องคำนึงถึงสิทธิในชีวิตเนื้อตัวร่างกายที่ไม่สามารถพลัดพรากจากกันไปได้  เราพูดถึงการปฏิรูปมากมาย รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ ตั้งแต่สมัยนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ จนบัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จ  มีหลายประเด็นที่อยากจะกล่าวถึง องค์กรตำรวจที่หัวโตแต่ขาลีบอยู่แล้วตอนนี้ก็ยังไปทำหน้าที่ สว.อีกด้วย  เราอยากจะเห็นการปฏิรูปที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย  ขณะนี้เรามีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากตำรวจ ถ้าตำรวจทำผิดเองมีคำถามว่าใครจะเป็นคนตรวจสอบ ในแง่ของ Gender โรงเรียนนายร้อยเคยประกาศที่จะไม่รับตำรวจหญิง แต่ตอนหลังก็มีการรับพนักงานสอบสวนหญิง

 

ในการปฏิรูประหว่างทาง เรามีข้อเสนอแนะไปยัง สตช.ในเรื่องความล่าช้าในการจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งไม่มีกำหนดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเร่งรัดก็อาจจะจับแพะมาอีก  สำหรับการนำชื่อไปอยู่ในทะเบียนราษฎร์  แทนที่ตำรวจจะสืบสวนผู้กระทำผิด ถ้าไม่มาก็จะเอาชื่อไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ดิฉันไม่เห็นด้วย    กรณีผู้ทำงานบริการทางเพศ ก็มักจะเผยแพร่ภาพ และใส่กุญแจมือ คนเหล่านี้มีลูกและครอบครัว ก็จะเห็นภาพเหล่านั้น  ต่อมาเรื่องล่อซื้อประเวณีก็มีปัญหา และการไม่ลบทะเบียนประวัติวัยรุ่นที่ก่ออาชญากรรม ที่ทำให้ไม่สามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้   แต่ที่มีการพูดถึงการขึ้นเงินเดือนของตำรวจ ดิฉันเห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนชั้นผู้น้อยโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่ทำงานหนักโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ    คณะนิติศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการพัฒนางานบริหารบุคคล ทำอย่างไรที่จะทำให้ ตร.มีความมั่นใจ ในการทำหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม รักษาความสงบ   การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน บางประเทศให้อัยการ บางประเทศให้ตำรวจทำหน้าที่นี้  เราควรจะเน้นเรื่องการป้องกัน การสร้างเครื่องมือให้ตำรวจ สกัดอาชญากรรม หากดูในแผนในกฎหมายจะไปเน้นเรื่องการสอบสวน คือให้อัยการเข้ามาสอบสวนร่วมกับนิติวิทยาศาสตร์ ในกรณีที่จับแพะซึ่งเรามีวัฒนธรรมที่ยอมรับกันได้  แต่ถ้าให้เลือกระหว่างการจับกุมตามกฎหมาย ที่ทุกคนอยากจะจับหรือทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าไปจับเอาคนใหญ่คนโต หรือพวกพ้องตำรวจ เจ้าหน้าที่มักจะไม่อยากทำ เพราะจะเป็นภาระกับตำรวจมาก

ปฏิืรูปหลังเลือกตั้ง
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ

ปัจจุบันตำรวจที่ต้องบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ต้องมีองค์ความรู้ มีฝ่ายชำนาญการเข้ามาเสริม ให้เขาทำงานร่วมกับตำรวจเพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน  จึงต้องมาพูดว่าโรงเรียนตำรวจสามพราน ต้องสามารถออกแบบให้ตำรวจใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง และเสริมวิธีคิดสิทธิมนุษยชน มีวิธีคิดแบบสากลอย่างไร ต้องมีการอบรมเพื่อเติมองค์ความรู้ เติมจิตสำนึก มากขึ้น   แล้วจะมีกระบวนการยังไงที่จะตรวจสอบที่เข้มงวด คนทำดีตามกฎหมายต้องได้รับการส่งเสริม  ส่วนภาระงานตำรวจในแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน ในต่างจังหวัดมีงานน้อย แต่ใน กทม.มีงานมาก   ฉะนั้นถ้าประกาศรับพนักงานสอบสวน 600 ตำแหน่ง มาสมัคร 300 คน แบบนี้เราต้องให้มีผู้ช่วยตำรวจด้วยหรือไม่  และต้องให้มีการแบ่งงานที่เหมาะสมด้วย

 

ขณะที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสนอให้ตำรวจต้องทำงานอย่างมืออาชีพ เป็นหน้าที่ของโรงเรียนตำรวจ ที่ต้องมีการประเมินผล ใช้ระบบคุณธรรมที่คอยตรวจสอบ มีกล้องวงจรปิด ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน การสอบสวนต้องบันทึกเสมอ จะทำให้กระบวนการมันบิดเบี้ยวยาก เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า สนช.เอาแท่งสอบสวนออกไปทำให้พวกตนไม่มีความก้าวหน้า เราควรจะมีคนเข้ามาช่วยกันรับผิดชอบ ควรให้อัยการรู้แต่แรกจะได้รู้ว่าคดีนี้ยากหรือไม่ยาก  ส่วนค่าตอบแทนให้เพิ่มจากจำนวนคดี ตอนนี้เราไม่ได้มีค่าตอบแทนมาก  ระบบตำรวจเรามันเป็น paramilitary กึ่งทหาร ต้องลดความเป็นทหารให้น้อยลง  ต้องมีการอบรม

 

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสนอให้กดดันให้มีการปฏิรูป   ทราบว่าตำรวจหลายท่านต้องอาศัยนายในเรื่องตำแหน่ง จะแก้วัฒนธรรมองค์กรอย่างไรให้สร้างกระแสกดดันสังคมกันอย่างไร

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ เสนอให้ยุบนายร้อยสามพรานที่ทำให้ตำรวจกลายเป็นทหาร  และต้องให้ตำรวจไปขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้อยู่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพื่อได้อยู่กับครอบครัวประหยัดค่าเดินทาง  ที่บ่นเรื่องน้ำมัน อุปกรณ์ไม่พอ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่  รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ก็ดำรัสไว้ว่าจะมีการปกครองแผ่นดินโดยธรรม  ดังนั้นเราต้องมาเริ่มกันใหม่  ตำรวจสถานีต่างๆควรออกมาคุยกับประชาชนบ้าง

ปฏิรูปตำรวจหลังเลือกตั้ง
กษิต ภิรมย์

ส่วนการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะหวังพรรคการเมืองไม่ได้ แต่พอมาเป็นรัฐบาลทหารก็ไม่ทำการปฏิรูป แถมยังเอานายตำรวจมาดำรงตำแหน่งเป็น คสช.อีกด้วย จนกลายเป็นพี่น้องกันไปแล้ว ประชาชนและตำรวจที่ดีๆในวงสัมมนาที่นี่ต้องมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง

 

ขอบคุณภาพประกอบ : The German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG)