‘เด็กไทย’ กลายเป็น ‘อสุรกาย’ เพราะรัฐไม่รักษากฎหมาย ‘ตำรวจผู้ใหญ่’ รับส่วยสินบนแหล่งอบายมุข สร้างสิ่งแวดล้อมอาชญากรรม

‘เด็กไทย’ กลายเป็น ‘อสุรกาย’ เพราะรัฐไม่รักษากฎหมาย ‘ตำรวจผู้ใหญ่’ รับส่วยสินบนแหล่งอบายมุข สร้างสิ่งแวดล้อมอาชญากรรม

ยุติธรรมวิวัฒน์

เด็กไทย’ กลายเป็น ‘อสุรกาย’ เพราะรัฐไม่รักษากฎหมาย ‘ตำรวจผู้ใหญ่’ รับส่วยสินบนแหล่งอบายมุข           สร้างสิ่งแวดล้อมอาชญากรรม

 

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

คดีการฆาตกรรม ป้าบัวผัน นอกจาก ความพิลึกพิลั่นในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ของตำรวจกับบุคคลผู้เป็นสามี และผู้เสียหาย ตามกฎหมายคือ ลุงเปี๊ยก โดย ปราศจากพยานหลักฐานการกระทำผิด

ถือเป็นการสอบสวนที่วิปริตมิชอบตามกฎหมายคือ ป.วิ อาญา มาตรา 134 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า

“ในการแจ้งข้อหา จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น”

แต่ไม่รู้ว่า ตำรวจปัญญาอ่อน ผู้รับผิดชอบการสอบสวนคนใดและระดับใด เป็นผู้สั่งให้พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาลุงเปี๊ยกโดยปราศจากพยานหลักฐาน

เพื่อหวังสร้างผลงาน รวมทั้งบางคนอาจมีเจตนาช่วยแก๊งอาชญากรตัวจริงไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยกันมากมาย

อ้างกันแต่ว่า เป็นเพราะลุงเปี๊ยกได้มารับสารภาพว่าเป็นคนฆ่า!

จึงรีบพาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพตามถนัด

มีตำรวจจัดฉากกำกับท่าทาง ยื่นเก้าอี้ให้ตี!

ถ้าประเทศไทยมีตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมายและโง่เขลาไร้สติปัญญาขนาดนี้ ก็ไม่ต้องมีเสียยังจะดีกว่า!

เพราะว่าจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชนและกระบวน การยุติธรรมของชาติเช่นนี้

นี่ถ้าไม่มีคลิปเหตุการณ์จริงที่สื่อมวลชนไปขวนขวายหามาได้และนำไปเผยแพร่ออกสื่อ มีหรือที่ตำรวจผู้ใหญ่จะไม่แถไปอีกไกล  จะออกมายอมรับกันง่ายๆ ว่าลุงเปี๊ยกไม่ใช่คนร้าย

ดีไม่ดี ก็ อาจจะยังหน้าด้านสั่งพนักงานสอบสวนให้รีบส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อสั่งฟ้องคดีตามคำรับสารภาพนั้น

ตำรวจจับคนบริสุทธิ์มาดำเนินคดี ก็เป็นเรื่องที่ถือว่า งี่เง่า มากแล้ว

ซ้ำยังปรากฏหลักฐานการ สนทนากับตำรวจผู้บังคับบัญชา ที่รับว่ามีการ เอาโซ่ล่ามขา และ เอาถุงดำแกล้งคลุมหัว อ้างแค่หยอกล้อ!

แต่ ลุงเปี๊ยกกลับไม่หัวร่อด้วย กลัวจนตัวสั่น ต้องรับสารภาพออกไปเพื่อให้พ้นจากภัยที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า ทั้งที่ตนไม่ได้กระทำผิดอาญาอะไรเลย

คดีนี้มีสองประเด็นสำคัญที่รัฐจะต้องสอบสวนให้ได้ความจริงก็คือ

1.การปฏิบัติมิชอบในการ ควบคุมตัว และ แจ้งข้อหา ลุงเปี๊ยก โดยปราศจากพยานหลักฐาน  ใครคือ ผู้สั่งการ และ ผู้ปฏิบัติร่วมดำเนินการควบคุมตัว และ แจ้งข้อหา โดยมิชอบนั้น  จำนวนเท่าใด

2.การควบคุม ตัวลุงไปโดย ไม่แจ้งให้อัยการจังหวัดและนายอำเภอทราบทันที ถือเป็นการ ปกปิดชะตากรรม ของผู้ถูกควบคุม

ซ้ำยังให้ลุงถอดเสื้อ นั่งตากแอร์ ใช้ถุงดำคลุมหัว ผิด พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 5, 6 และ 7 มีโทษจำคุกทั้ง ผู้กระทำ ผู้สมคบ ผู้สนับสนุน รวมไปถึงผู้บังคับบัญชาที่ไม่ป้องกันและดำเนินคดีตามที่มาตรา 42 บัญญัติไว้ มีใครเกี่ยวข้องต้องผิดทางอาญารวมกี่คน?

3.เป็นหน้าที่ของ อัยการสูงสุด และ อธิบดีกรมการปกครองจะต้องสั่งอัยการจังหวัดและนายอำเภอพื้นที่ให้เริ่มสอบสวนดำเนินคดีความผิดนี้โดยมิชักช้า โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนหรือผู้เสียหายคนใดไปร้องเรียนแต่อย่างใด

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีคนหยิบยกขึ้นมาพูดว่า ปัจจุบันเด็กไทยกระทำผิดอาญามาก เพราะมีปัญหากฎหมายกำหนดอายุเด็กไว้สูงเกินปีคือ 15 ปี ควรมีการปรับลดลงให้เหมาะสม?

เพื่อจะได้รับโทษจำคุกส่งตัวเข้าควบคุมไว้ในเรือนจำให้เข็ดหลาบได้เช่นเดียวกับกรณีผู้ใหญ่กระทำผิด

นับเป็นความคิดวิปริต ที่จะเอา “เด็กหญิง” และ “เด็กชาย” ไปขังไว้ในเรือนจำ

โดยไม่ศึกษาว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73, 74, 75 และ 76  ได้บัญญัติวิธีปฏิบัติและความรับผิดทางอาญาของบุคคลผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว

แม้กระทั่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 97 วรรคสอง

ก็เปิดช่องให้ศาลสั่งโอนคดีที่เด็กกระทำผิด แต่เห็นว่าเด็กนั้นมีความคิดและสภาพจิตเช่นเดียวกับบุคคลอายุสิบแปดปีไปให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาเป็นคดีธรรมดาได้

ปัญหาที่เด็กไทยจำนวนมากกลายเป็น ผู้ร้าย กระทำผิดอาญาสารพัดกันมากมาย ไม่ใช่เพราะกฎหมายทำให้ตำรวจจับกุมดำเนินคดีไม่ได้

แต่แท้จริงเป็นเพราะ สังคมไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยแหล่งสถานที่ฟูมฟักอาชญากรรมร้ายทุกประเภท

โดยเฉพาะ “สถานบันเทิงผิดกฎหมาย” คือแหล่งค้าขายสุราและเสพยาเสพติดของเด็กและเยาวชน

ซึ่งเปิดกันอยู่ได้ทั่วไทย เพราะล้วน “ส่งส่วย” ให้ตำรวจผู้ใหญ่โดยเฉพาะชั้นนายพลหลายระดับ

รับเป็นมรดกตกทอดกันมาช้านาน!

ฉะนั้น การแก้ปัญหาอาชญากรรมเด็กแท้จริงก็คือ

รัฐบาลจะต้องบังคับใช้ “กฎหมายป้องกันอาชญากรรม” จับกุมแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทุกประเภท ทั้ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ร.บ.สถานบริการ และ พ.ร.บ.อาวุธปืน อย่างเข้มงวดจริงจังและต่อเนื่องเท่านั้น.

 

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2567