‘ประยุทธ์’โชว์กึ๋นขจัด’คุกมีไว้ขังคนจน’ด้วยกองทุนยุติธรรม’วิรุตม์’สวนกลับไม่ขจัดปัญหา

‘ประยุทธ์’โชว์กึ๋นขจัด’คุกมีไว้ขังคนจน’ด้วยกองทุนยุติธรรม’วิรุตม์’สวนกลับไม่ขจัดปัญหา

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า 4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความสำคัญและเร่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ทางบก-ทางราง-ทางทะเล-ทางอากาศ ทั้งด้านสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากหยุดนิ่งมากว่า 10 ปี เพื่อจะเพิ่มการเข้าถึงโอกาสและกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี กลาวต่อว่า การอำนวยความยุติธรรม ขจัดคำกล่าว “คุกมีไว้ขังคนจน” โดยได้มีการตั้งกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ เงินค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาทิ ค่าจ้างทนายความ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าฤชาธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น

” โดย 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ได้รับความเป็นธรรม ราว 9,000 ราย ทั่วประเทศ เป็นเงินเกือบ 200 ล้านบาท”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้เขียนหนังสือ “วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม” กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า กองทุนยุติธรรมช่วยให้ผู้ต้องหาได้ประกันตัว ไม่ต้องถูกคุมขัง หรือชดเชย “ค่าติดคุก” วันห้าร้อยบาทนั้น ไม่ใช่การขจัดความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมที่แท้จริงแต่อย่างใด เพราะคนจนก็ยังเดือดร้อนเพราะการแจ้งข้อหามั่วของตำรวจอยู่มากมาย ต้องใช้เงินใช้เวลาต่อสู้คดีอย่างยาวนาน และมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปจนตาย ส่วนผู้เสียหายหากเป็นคนจน ตำรวจ ก็ไม่รับแจ้งความคำร้องทุกข์ หรือรับยากเย็น ไม่ยอมออกเลขคดีเข้าสารบบสอบสวนตามกฎหมาย แต่หากเป็นคนรวย คนดัง แจ้งความให้ตำรวจออกหมายเรียกออกหมายจับคนจนง่าย

“หนทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงมี ก็คือต้องตรวจสอบควบคุมการแจ้งข้อหาของตำรวจและการเสนอศาลออกหมายจับ โดยให้พนักงานอัยการเห็นชอบก่อนว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนตามหลักสากล ไม่ใช่กองทุนยุติธรรม หรือได้กำไลข้อเท้าเป็นของขวัญแต่อย่างใด”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว