‘ลุงพล’ ไม่ได้ฆ่า ‘น้องชมพู่’ ศาลชี้ว่า ‘ประมาททำให้ตาย’ แต่ปัญหาคือประมาทอย่างไร?

‘ลุงพล’ ไม่ได้ฆ่า ‘น้องชมพู่’ ศาลชี้ว่า ‘ประมาททำให้ตาย’ แต่ปัญหาคือประมาทอย่างไร?

ยุติธรรมวิวัฒน์

ลุงพล’ ไม่ได้ฆ่า ‘น้องชมพู่’ ศาลชี้ว่า ‘ประมาททำให้ตาย’ แต่ปัญหาคือประมาทอย่างไร?

                  ‘ความเชื่อ’ ไม่ใช่ ‘ความจริง’ และ ‘พิรุธ’ ก็ไม่ใช่ ‘ความเท็จ’

 

                                                             พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

คดีอาญาที่มีตำรวจผู้ใหญ่ไปดำเนินการสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาลุงพลว่า ฆ่า หลาน คือ น้องชมพู่ เป็นเรื่องที่ผู้คนทั้งประเทศให้ความสนใจกันมากมายอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี

ในที่สุดหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลจังหวัดมุกดาหารได้อ่านคำพิพากษาชี้ว่า ไม่ได้เป็นการฆ่า

แต่เป็นการ กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้น้องถึงแก่ความตาย?

ซึ่งยังไม่มีใครอธิบายให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า การที่ลุงพลอุ้มและแบกน้องขณะยังมีลมหายใจเดินขึ้นไปทิ้งไว้บนภูเขา คือการ เล็งเห็นผล ได้ว่า น่าจะทำให้น้องถึงแก่ความตาย

พฤติการณ์การกระทำเช่นนั้น ไม่ถือว่า มีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผลและไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 เพราะอะไร?

และ เหตุใดพฤติการณ์การกระทำโดยมีเจตนาแบบย่อมเล็งเห็นผลเช่นนั้น จึงกลายเป็นการกระทำโดยประมาทไป?

ซึ่ง ประมาท หมายถึง การกระทำมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

เป็นหลักความรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ที่นักศึกษากฎหมายทุกคนต้องรู้เป็นอันดับแรก

ลุงพลอุ้มแบกน้องชมพู่ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงในเวลากลางวัน ขึ้นไปทิ้งไว้บนภูเขาโดยปราศจากผู้ดูแล จนกระทั่งอดอาหารและน้ำจนถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นความประมาทอย่างไร?

หากไม่มีใครสามารถตอบหรืออธิบายให้เข้าใจอย่างสิ้นสงสัยได้ นั่นย่อมหมายความว่า ลุงพลไม่ได้กระทำผิดอาญาทั้ง “การฆ่าหลานชมพู่โดยเจตนา” หรือว่า “กระทำประมาทเป็นเหตุให้น้องถึงแก่ความตาย”!

ความเชื่อ ไม่ใช่ ความจริง และ พิรุธ ก็ไม่ใช่ ความเท็จ

การดำเนินคดีที่อ้างกันแต่ว่า น้องเดินขึ้นเขาไปเองไม่ได้ นั่นคือ ความเชื่อ

ไม่ใช่ความจริงแท้อย่างแน่นอนแต่อย่างใด

เมื่อ นายพลตำรวจผู้ใหญ่เชื่อว่า มีผู้กระทำให้น้องตายโดย ยังไม่มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จสิ้น หรือแม้แต่ยังไม่ทันได้ตรวจชันสูตรพลิกศพและแพทย์ออกรายงานเป็นหลักฐาน!

ความเชื่อที่เกิดจากความคิดและจินตนาการ เช่นนั้น จึงก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมามากมาย ผู้คนในหมู่บ้านแตกแยกเป็นฝักฝ่าย สอดส่องมองหน้าแต่ละคนว่าใครบ้างที่น่าจะเป็นคนร้ายฆ่าน้องชมพู่!

มีการ สอบปากคำผู้คนนับพัน หวังให้ได้เบาะแสถึงตัวคนร้าย

แต่ก็ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานอะไรที่ชัดเจนพอที่จะแจ้งข้อหาใครได้

ในที่สุด การค้นรถลุงพลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือไม่มีการแจ้งให้ลุงพลซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองทราบจึงเกิดขึ้น!

ได้หลักฐานเป็นเส้นผมของน้องชมพู่ที่อ้างว่าถูกตัดจากศพตรงกันเพื่อนำมาพิธีทางไสยศาสตร์

เป็น หลักฐานเด็ด ยืนยันการกระทำผิดของลุงพลว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับศพของน้องหลังการตายอย่างแน่นอน

นำไปสู่การแจ้งข้อหาว่า “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” “พรากเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย” และร่วมกับนางสาวสมพร หรือแต๋น หลาบโพธิ์ “กระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป”

แต่น่าประหลาดใจที่การขึ้นเขาไปตัดผมศพน้องชมพู่ซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาตามข้อกล่าวหาว่า กระทำการใดๆ แก่ศพในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

ไม่ได้มีการลงโทษทั้งลุงพลและป้าแต๋นในความผิดข้อหานี้?

นอกจากนั้น การอุ้มหรือแบกตัวน้องขึ้นภูเขาไปใช้เวลานานนับชั่วโมง นอกจากจะไม่มีใครได้พบเห็นเป็นพยานนำมายืนยันการกระทำผิดได้แล้ว

การเก็บและตรวจพิสูจน์หลักฐานก็กลับไม่พบดีเอ็นเอของลุงพลบนร่างกายหรือเสื้อผ้าของน้องชมพู่ที่ควรจะมีติดอยู่แม้แต่นิดเดียว?

ซึ่งโดยสามัญสำนึกของคนทั่วไป นั่นย่อมหมายถึงลุงพลไม่ได้อุ้มหรือแบกน้องขึ้นไป ไม่ว่าจะมี “เจตนาฆ่า” หรือ “ประมาท” จึงทำให้ไม่มีดีเอ็นเอของตนติดอยู่ตามร่างกายหรือเสื้อผ้าของน้องชมพู่มิใช่หรือ?

แม้กระทั่งความผิดฐานพรากเด็กไปจากบิดามารดา มีหลักฐานพยานบุคคลหรือวัตถุอะไรที่รับฟังได้ว่าลุงพลเป็นคนนำตัวน้องชมพู่ไปจากบ้านโดยพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่ยินยอม

นอกจาก ความเชื่อ ที่ว่า ไม่มีใครได้ยินเสียงน้องร้อง ฉะนั้น คนที่มานำเอาตัวไปต้องเป็นคนที่คุ้นเคย ซึ่งในหมู่บ้านมีอยู่ประมาณ 15 คน และทุกคนแสดงหลักฐานที่อยู่ในเวลาที่น้องหายไปได้

ยกเว้นลุงพลคนเดียวที่แสดงไม่ได้ ถือว่ามี พิรุธ

แต่ ความเชื่อ ไม่ใช่ ความจริง และ พิรุธ ก็ไม่ใช่ ความเท็จ

ตามหลักกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ รัฐจะนำความเชื่อและพิรุธมาเป็นเหตุผลในการลงโทษหรือ แม้แต่กล่าวหาใครในทางอาญาไม่ได้

ป.วิ อาญา มาตรา 227  บัญญัติไว้ชัดว่า “…….อย่าพิพากษาจนกว่าจะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง และ จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

คดีนี้แม้แต่ “อธิบดีผู้พิพากษา” และ “หัวหน้าศาลจังหวัด” ก็ยัง “ข้องใจ” โดยได้บันทึกความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาว่า “คดีมีเหตุอันควรสงสัย”

ควรยกประโยชน์ให้จำเลยไปด้วยการพิพากษา “ยกฟ้อง”.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ  :  ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2566