‘คำนูณ’แนะ 4 ทางเลือกนายกฯจะส่งร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ2ฉบับเข้าสภาหรือตั้งกก.ปรับแก้-ชะลอออกไปก่อน

‘คำนูณ’แนะ 4 ทางเลือกนายกฯจะส่งร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ2ฉบับเข้าสภาหรือตั้งกก.ปรับแก้-ชะลอออกไปก่อน

คำนูณ สิทธิสมาน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 นายคำนูณ สิทธิสมาน  สมาชิกวุฒิสภา อดีตโฆษกและคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ มีเนื้อหาดังนี้

 

4 ทางเลือกของนายกรัฐมนตรี

 

สารัตถะหลักของการใช้เวลาที่ได้รับจัดสรรมา 10 นาทีอภิปรายประเด็นปฏิรูปตำรวจในวุฒิสภาใกล้เที่ยงวันนี้

 

ประมาณก่อนวันที่ 8 เมษายน 2563 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ (1) แจ้งยืนยันร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … และ (2) จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเกี่ยวกับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่คาดว่าต้องใช้ในการปฏิบัติตามและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายในระยะ 3 ปีแรกและอัตรากำลังที่จะต้องใช้ของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ

 

วันที่ 15 มิถุนายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี “เห็นชอบในหลักการ” ของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ

 

พร้อมแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง 3 แผ่น

 

แต่มี “ข้อสังเกต” ในเชิงยังไม่เห็นด้วยมารวม 12 แผ่น โดยเฉพาะข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. ว่าไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (2)

 

4 ทางเลือกของนายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะผู้นำของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียงลำดับจากที่ควรเลือกมากที่สุดไล่เรียงไปจนถึงน้อยที่สุดที่ไม่ควรเป็นทางเลือกเลย

 

  1. ส่งร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาพ.ศ. …. ทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
  2. ตั้งคณะกรรมการชุดที่ 4 ขึ้นทำหน้าที่พิจารณาปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง
  3. ส่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการเพื่อปรับแก้แล้วส่งกลับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
  4. ชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน

 

เลือกทางใด ด้วยเหตุผลใด ควรต้องบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนและวุฒิสภาที่มีหน้าที่ในการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้ชัดเจนด้วยครับ