นายพลตำรวจเป็น’พ่อค้า’หรือ’ที่ปรึกษา’ร้ายกว่า’การค้า’ในค่ายทหาร – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร      

นายพลตำรวจเป็น’พ่อค้า’หรือ’ที่ปรึกษา’ร้ายกว่า’การค้า’ในค่ายทหาร – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร      

ยุติธรรมวิวัฒน์

                      นายพลตำรวจเป็น พ่อค้า หรือ ที่ปรึกษา ร้ายกว่า การค้า ในค่ายทหาร             

 

                                                                                                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชาชนได้เห็นการให้สัมภาษณ์แบบจริงจังของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ประกาศกวาดล้าง ธุรกิจในค่ายทหาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่หลายกรณีมีปัญหาว่า ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร

รวมทั้งโครงการที่สร้างปัญหาแบบ วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง

อีกทั้ง พฤติกรรมทุจริตฉ้อฉล เอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อ จ่านายสิบ หรือ ทหารเกณฑ์ ทุกรูปแบบ

โดยบอกว่าจะให้เห็นผลก่อนเกษียณอายุในอีก 7 เดือนข้างหน้า

เปิดช่องทางพิเศษให้ทหารผู้น้อยและประชาชนร้องเรียนได้โดยตรง ส่งถึงตน เพื่อตรวจสอบและจัดการ

 แต่สุดท้าย ทหารผู้น้อยและประชาชนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจริงแค่ไหน ทุกคนต้องช่วยกันติดตาม

ถือว่าเป็นการ พยายามล้างบาป จากกรณีที่จ่าทหารในค่ายจังหวัดนครราชสีมา แค้น จนกลายเป็น คลั่ง!

ลั่นไกปืนยิงพันเอกผู้บังคับบัญชาและบุคคลในครอบครัวผู้ประพฤติตนเป็น พ่อค้า และ แม่ค้า เนื่องจากปัญหาเรื่อง เงินส่วนเกิน และ ค่านายหน้า เป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อประชาชนและลูกเด็กเล็กแดงจำนวนมากตามมาอย่างร้ายแรง

ส่งผลให้ กองทัพบกไทย ได้รับ ความอับอาย ไปทั่วโลก!    

ซึ่งถ้าผู้นำ กองทัพเรือและกองทัพอากาศ จะฉวยโอกาสนี้สั่งการให้มีการ ตรวจสอบและจัดการ กับปัญหาของกองทัพลักษณะเดียวกัน ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วหน่วยราชการที่ผู้ปฏิบัติงาน มียศและวินัยแบบทหาร ซึ่งมีปัญหา การค้าภายใน ร้ายแรงสุด ควรถูกรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี กวาดล้างและจัดการเป็นลำดับแรกก็คือ ตำรวจ!

 เพราะนอกจากปัญหา การค้ายศและตำแหน่ง ที่ทำกันอย่าง เป็นขบวนการ มาอย่างยาวนาน จนมีการพัฒนาวิธีการสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้กระทั่งปัจจุบัน

หลังจากที่ตำรวจหลายหน่วยต้องประสบปัญหา การค้าขั้นเงินเดือน มาก่อนหน้านั้น เป็นที่รู้กันในหมู่ตำรวจตลอดมา

ใครอยากได้สองขั้น ต้องวิ่งเต้น!

พวกที่ เก็บส่วยจากแหล่งอบายมุขส่งนาย เปรียบเสมือนได้ จ่ายเป็นรายเดือน อยู่แล้ว ไม่ต้องวิ่งเต้น เช่น สารวัตรสืบสวนและจราจร จะได้สองขั้นกัน แทบทุกปี

ส่วนพวกที่ไม่ได้ทำหน้าที่ หน้าเสื่อ เช่น พนักงานสอบสวน หรือผู้ปฏิบัติงานอำนวยการ หลายคนเวลาผ่านไปถึงสิบปี

ไม่เคยรู้จัก สองขั้น เลยก็มี!

แต่หากใครอยากได้ ถ้าสู้ราคา ก็ไม่มีปัญหา  เจรจาผ่านนายหน้าได้!

ถือเป็น อาชญากรรมในระบบราชการ ที่ทำลายขวัญและกำลังใจตำรวจส่วนใหญ่ที่รับราชการด้วยความสุจริตอย่างร้ายแรงตลอดมา

ปัญหาโครงการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจอัตลักษณ์บุคคลหรือ ไบโอเมทริกซ์ ที่มีผู้ร้องเรียนให้ ป.ป.ช.สอบสวน ปัจจุบันก็ยังคาราคาซัง

จนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่รู้ผลว่า ใครโกง หรือไม่โกง “ใครมีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบหรือไม่อย่างไร” ทำให้รัฐเสียหายมากน้อยเพียงใด?

ปัญหา สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจจังหวัดเลย ที่มีปัญหา ตำรวจถูกโกง ใน โครงการรวมหนี้ ของผู้บังคับการ                    ที่มีตำรวจจำนวนมาก หลงเชื่อ เข้าร่วมโครงการนี้ มีผู้ได้รับความเสียหายถึง 192 คน รวมความเสียหายกว่า 240 ล้านบาท

ซึ่งจนถึงขณะนี้ ปัญหาหนี้สินของตำรวจที่เกิดจากการถูก ฉ้อโกง ดังกล่าว ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายด้วยการชดใช้ที่แท้จริงแต่อย่างใด?

ตำรวจหลายคนกำลังอยู่ในสภาพ จนตรอก เพราะพึ่งหวังใครไม่ได้จริง!

นอกจากนั้น ปัจจุบันมีตำรวจที่เรียกกันว่า ชั้นผู้ใหญ่ จำนวนมาก นิยม ทำธุรกิจการค้า ควบคู่ไปกับการรับราชการในเวลาเดียวกัน

อ้างว่าเป็นอาชีพเสริม หรือ (Side line) เนื่องจากเงินเดือนตำรวจและ เงินประจำตำแหน่ง ที่ประชาชนจ่ายตอบแทนให้ ไม่พอกินพอใช้

หลายคนทำไปทำมา อาชีพเสริมเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นอาชีพหลัก ยิ่งกว่าการรับราชการด้วยซ้ำ!

บางคนไม่ได้ทำการค้า ก็ เป็นที่ปรึกษา รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากพ่อค้าหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดินที่เป็นแหล่งอบายมุขสารพัด

เมื่อสี่ห้าปีก่อน มีอยู่รายหนึ่ง ลืมนึกถึงกฎหมายที่มีโทษอาญาจำคุกถึง 3 ปี เผลอกรอกในแบบฟอร์มรายงาน ป.ป.ช.ไปว่ามีรายได้จาก บริษัทขายเหล้า เดือนละ 50,000

เป็นเรื่องเป็นข่าวอยู่พักหนึ่ง แล้วเงียบหายไป

ผลการสอบสวนออกมา ขำกลิ้งยิ่งกว่าดูลิงเล่นกับหมา กลายเป็นว่า เป็นความเลินเล่อในการกรอกรายการนั้นไปโดยไม่ได้มีการรับเงินจริงแต่อย่างใด!

ตำรวจทุกคนผู้รับราชการเจริญก้าวหน้ามาจนกระทั่งมียศ พลตำรวจโทและพลตำรวจเอก ไม่ว่าจะอยู่ในราชการหรือ แม้แต่เกษียณ แล้ว จะเป็นที่สนใจของบริษัทใหญ่ในการใช้ยศและตำแหน่ง แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนานาชนิด

ถือเป็นหลักคิดของนักธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทย  ทั้งนี้ เพื่อหวังให้ช่วยคุ้มครองการค้าไม่ว่าสุจริตหรือหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ที่เรียกว่า สีเทา ได้ ดียิ่งกว่าทหารนอกราชการหลายเท่า           

เนื่องจากตำรวจไทยนั้นมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากประเทศเจริญทั่วโลก

เพราะนอกจากจะมี ระบบการปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร และมีตำรวจเฉพาะทาง สารพัดหน่วย ที่มีอำนาจในการตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิดอาญาครอบคลุมไปทุกเรื่องแล้ว

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ยังมี อำนาจสอบสวน หรือแม้กระทั่ง ไม่ยอมสอบสวน แต่ฝ่ายเดียวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ซ้ำปราศจากการตรวจสอบควบคุมจากภายนอกตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ แม้กระทั่ง พนักงานอัยการ อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตำรวจเป็นข้าราชการที่บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องการได้ยศและชื่อคนที่อยู่ในราชการหรือ แม้กระทั่งเกษียณแล้ว ไปร่วมหุ้น หรือ เป็นที่ปรึกษา กันมากมาย

โดยในความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องต้องการความรู้ทางกฎหมายหรือวิชาการอะไรของนายพลตำรวจคนนั้นแต่อย่างใด?

ที่อยากได้ก็คือ ยศและตำแหน่งตำรวจผู้ใหญ่ในอดีตของบุคคลนั้น

เพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันไม่ให้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หรือแม้แต่เจ้าพนักงานของรัฐไม่ว่าหน่วยใด โดยเฉพาะตำรวจ  มา รีดไถ หรือใช้อำนาจกลั่นแกล้งรังแก

หรือ แม้กระทั่งตรวจสอบตามกฎหมาย

เนื่องจากระบบการฝึกข้าราชการผู้มียศและวินัยแบบทหาร จะมีการสอนให้ผู้มียศต่ำกว่าทำความเคารพและยำเกรงผู้มียศสูงกว่าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรับราชการอยู่หรือไม่ก็ตาม!

ปัญหาการกระทำผิดกฎหมายของบริษัทการค้าสารพัดที่อาจเกิดขึ้นทั้งเจตนาและไม่เจตนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบำบัดน้ำเสีย การปล่อยมลพิษ การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน คนต่างด้าว

รถยนต์ของบริษัทอาจถูกตำรวจที่ตั้งด่านตรวจค้นเหมือนประชาชนทั่วไปทุกวี่ทุกวันจนทำให้ธุรกิจมีปัญหา  การขุดดินหินทรายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ราชการอนุญาต การบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำวัสดุดิน หิน ทรายตกหล่น หรือบรรทุกสูงเป็นอันตราย เช่น รถอ้อย ของโรงงานน้ำตาลต่างๆ ฯลฯ

รวมไปถึงการที่พนักงานบริษัทขับรถผิดกฎจราจร เช่น จอดรถกีดขวาง หรือฝ่าฝืนเครื่องหมายห้าม ที่ บริษัทใหญ่หลายแห่งกระทำกันเห็นตำตาประชาชนอยู่ทุกวัน!

ข้าราชการทุกหน่วยโดยเฉพาะตำรวจผู้น้อยทุกคนเมื่อรู้ว่าบริษัทนี้มีนายพลตำรวจในหรือนอกราชการคนใดเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือที่ปรึกษา

ส่วนใหญ่ก็จะไม่กล้าจับ หรือแม้กระทั่งตรวจสอบ 

เนื่องจากรู้ว่า จับไปก็ต้องส่งให้ พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจผู้มีชั้นยศแบบทหาร เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งสิ้น

นอกจากผลสุดท้ายจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไม่ได้หรือ แสนยากเย็น แล้ว

ก็อาจถูกผู้บังคับบัญชาผู้มียศสูงกว่าด่าว่า เป็นการสร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้ตนเองโดยไม่จำเป็น!

ธุรกิจที่สุจริตแต่อาจทำผิดกฎหมายหรือแม้กระทั่งสีเทาเหล่านี้ จึงยินดีที่จะ จ่ายเงินเดือนให้ที่ปรึกษาเหล่านี้คนละแสนสองแสน โดยไม่ต้องปรึกษาอะไรเลย ก็ถือว่า “คุ้มค่า.

นายพลตำรวจเป็นพ่อค้า
  ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 17 ก.พ. 2563