อดีตผู้ว่าฯเสียดายอำนาจสอบสวนห่างไกลจากตัวนักปกครองส่งผลเสียต่อระบบสังคม บ่อน ซ่องโสเภณี สถานบริการเถื่อน ส่งส่วยนอกกฎหมายเพียบ ปลุกศักดิ์ศรีสอบสวนตามข้อคับมท.ปี23ได้ทุกเรื่อง

อดีตผู้ว่าฯเสียดายอำนาจสอบสวนห่างไกลจากตัวนักปกครองส่งผลเสียต่อระบบสังคม บ่อน ซ่องโสเภณี สถานบริการเถื่อน ส่งส่วยนอกกฎหมายเพียบ ปลุกศักดิ์ศรีสอบสวนตามข้อคับมท.ปี23ได้ทุกเรื่อง

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 ดร.นเรศ จิตสุจริตวงศ์ กรรมการสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและปทุมธานี อดีตกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ เผยแพร่บทความ เรื่อง “ความสำคัญของงานสอบสวนคดีอาญาต่อนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด” ผ่าน ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง มีเนื้อหาดังนี้

ผมเป็นนายอำเภอมาเมื่อ 40 ปี และเป็นผู้ว่าฯ มาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จึงอยากจะเล่าเรื่องความสำคัญของงานสอบสวนคดีอาญาว่า มีความหมายความสำคัญต่อคนที่เป็นนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไรบ้าง หรือกล่าวโดยรวมก็คือ มีความสำคัญต่อข้าราชการฝ่ายปกครองอย่างไรนั่นเอง

​ท่านทั้งหลายคงจะทราบดีว่างานสอบสวนคดีอาญาในอดีต ก่อนปี พ.ศ. 2503 อยู่ในมือของฝ่ายปกครอง 100% นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน สำนวนคดีเสร็จเมื่อใดนายอำเภอในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็จะใช้อำนาจทำความเห็นว่าจะเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือเปรียบเทียบปรับ

​ส่วนตำรวจในอดีตก็จะทำงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาทั่วๆ ไป คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย เกี่ยวกับการลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคดีค่อนข้างใหญ่ เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน หรือการสอบสวนคดีที่ค่อนข้างยากนายอำเภอก็จะส่งปลัดอำเภอไปเป็นพี่เลี้ยงหรือช่วยสอบสวนด้วย

​ต่อมา งานสอบสวนได้ถ่ายโอนมาไว้กับตำรวจทั้งหมดโดยข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ส่วนนายอำเภอ ปลัดอำเภอก็ทุ่มเทเวลาทำงานด้านการพัฒนา โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่น สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยงานที่ฝ่ายปกครองเข้าไปมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล ทำให้งานด้านการสอบสวนคดีอาญาถูกลดหย่อนความสำคัญลงไป หรือจะมีอยู่ก็เป็นส่วนน้อยตั้งแต่บัดนั้น

​ผ่านเวลามานานปี จนมาถึงปี พ.ศ. 2537 การกระจายอำนาจเป็นไปโดยสมบูรณ์ พื้นที่ประเทศไทยเป็นท้องถิ่นทุกตารางนิ้ว และงานบริหารท้องถิ่นได้หลุดมือไปจากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอโดยสิ้นเชิง ทำให้นายอำเภอและปลัดอำเภอมีโอกาสทำงานสอบสวนคดีต่างๆ มากขึ้นโดยมีกฎหมาย 10 ประเภทเป็นตัวตั้ง แต่ในสถานะอื่นๆ ของการเป็นพนักงานสอบสวน ตำแหน่งนายอำเภอและตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีอำนาจอนุมัติหมายจับ หมายค้น มีอำนาจทำความเห็นในการสั่งฟ้องคดีอาญา การสั่งอุทธรณ์ สั่งฎีกาที่พนักงานอัยการจะต้องส่งมาขอความเห็นชอบ รวมตลอดทั้งมีลักษณะความผิดตามกฎหมายอีกหลายประเภทที่ต้องให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปมีบทบาท อาทิเช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ คดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น

งานสอบสวนเรื่องเหล่านี้ ทำให้นายอำเภอมีบทบาทเข้าไปเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกำกับดูแลการสอบสวน หรือเข้าไปร่วมสอบสวน หรือดึงงานคดีมาให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นเจ้าของคดีได้ จะเห็นได้ว่าหน้าที่การสอบสวนต่างๆ ที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอยู่ล้วนทำให้การทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข การปกครองดูแลท้องที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความเป็นธรรมแก่ราษฎรที่มาร้องเรียนซึ่งถือได้ว่างานในสถานะนักปกครอง มีประโยชน์ต่อประชาชน มีบารมีในการบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการของทุกหน่วยที่อยู่ปฏิบัติงานในภูมิภาค มีศรัทธาปสาทะในหมู่ประชาชน ผู้ได้มีโอกาสรับความเป็นธรรมจากผลการปฏิบัติของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด

​ตำแหน่งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดในสถานะที่มีอำนาจสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งเอาใจใส่กับงานสอบสวนจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในปกครอง เมื่อเกิดความพึงพอใจขึ้นแล้วความเชื่อถือศรัทธา ในตัวนักปกครองเหล่านั้นก็เป็นเรื่องตามมา

​เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พนักงานฝ่ายปกครองของเราหลายๆ คน มองไม่เห็นความสำคัญของงานสอบสวน หรืออาจจะมองว่าเป็นงานที่ลำบากยากเย็น หรือทำแล้วเป็นการเสี่ยงต่อการถูกฟ้องกลับ หรือถูกเกลียดชังจากบุคคลที่เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหา ทำให้หลายต่อหลายคนละทิ้งงานนี้ ไม่ให้ความสนใจต่องานนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยิ่งนานวัน ยิ่งทำให้งานสอบสวนห่างไกลออกจากตัวนักปกครองลักษณะนี้ยิ่งขึ้นจนถึงจุดที่อาจจะกล่าวได้อย่างมิใช่ดูหมิ่นดูแคลนเลย ก็คือพนักงานฝ่ายปกครองเหล่านั้นกลายเป็นผู้ขาดวิชาความรู้ในด้านการสอบสวน หรือเรียกว่าสอบสวนไม่เป็นโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ตามมาจากการทำงานสอบสวนไม่เป็นหรือไม่ได้ทำเลย ซึ่งส่งผลเสียหายมาสู่ระบบสังคมอย่างมากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้

​ 1. เหตุความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขาดความสนใจจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว การอำนวยความเป็นธรรมในหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงประสบอุปสรรค

​2. เกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน ละเลยหน้าที่ ขาดระเบียบ โดยไม่มีใครออกไปกล่าวหา กล่าวโทษใด ๆ กับผู้กระทำผิดเหล่านั้น ทำให้กฎกติกาต่าง ๆ มีคนไม่ปฏิบัติตามและอยู่ได้อย่างสบายในสังคม การขออนุญาตในเรื่องต่าง ๆ บกพร่องเพราะคนที่ประกอบการต่าง ๆ โดยไม่ขออนุญาต ไม่เสียค่าธรรมเนียมก็อยู่ได้ โดยปราศจากการออกตรวจจับด้วยเหตุมาจากความละเลยเพิกเฉยไม่สนใจของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองเอง ปล่อยให้ตำรวจดำเนินคดีแต่เพียงฝ่ายเดียว

​3. ปรากฏให้เห็นว่าบ่อนการพนันต่าง ๆ ไม่ต้องตีตั๋ว ไม่ต้องขออนุญาตก็เปิดได้ สถานบริการต่าง ๆ ไม่ต้องขออนุญาตก็เปิดได้ โรงแรมไม่มีใบอนุญาตก็เปิดได้ ซ่องโสเภณีก็เปิดได้ ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดมีขึ้นในท้องที่ใด คนที่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฎหมายก็จะไม่ปฏิบัติ ในเมื่อคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็อยู่ได้อย่างสบาย

​4. ก่อให้เกิดการส่งส่วยแล้วก็สามารถปฏิบัติการนอกกฎหมายได้

​5. รัฐเสียโอกาสได้ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าภาษีอากร ที่สามารถจัดเก็บได้จากกิจการเหล่านั้น ทำให้รายได้ต่าง ๆ ไม่เข้ารัฐ เนื่องมาจากเหตุผู้คนที่ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ไม่เห็นความสำคัญของพนักงานฝ่ายปกครองถึงขั้นมองข้ามหัวแม้กระทั่งกฎหมาย 16 ประเภทในหน้าที่ ก็ยังไม่สามารถที่จะบังคับการให้เป็นระบบระเบียบได้แล้ว จะนับอะไรกับกฎหมายอื่น ๆ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งบังคับใช้อยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

เมื่อความผิดต่างๆ เกิดขึ้น พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานของเจ้าของกฎหมายเหล่านั้นจะบังคับได้ ผลที่มองเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น บุคคลบุกรุกห้วย หนอง คลอง บึง ที่สาธารณะต่างๆ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายไม่มีใครไปดำเนินคดี ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากความไม่นำพาต่อการสอบสวนคดีอาญาของผู้เป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสิ้น

​ในทางกลับกัน ถ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีความสามารถในการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่การตรวจจับ การสอบสวน การเปรียบเทียบปรับ ไปจนถึงการเสนอสำนวนเพื่อฟ้องคดี ถ้าได้กระทำบ้างจะก่อเกิดเป็นศักดิ์ศรีบารมี เป็นที่นับหน้าถือตา น่าเกรงขาม งานการสอบสวนคดีอาญาหาใช่เป็นเรื่องที่ยากจนไม่สามารถที่จะเรียนรู้ก็หาไม่ โดยไม่ต้องจบนิติศาสตร์มาโดยตรง ก็สามารถศึกษางานการสอบสวนได้ ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการที่ยากเย็นอันใด ทั้งมีตัวแบบ ตัวอย่างการสอบสวนให้ศึกษาได้ด้วยตนเอง ทั้งมีหลักสูตร ที่จะเข้าไปฝึกฝนอบรมใช้เวลาเพียง 2 หรือ 3 เดือนก็เป็นผู้สอบสวนคดีได้ และถ้าสามารถฝึกฝนทำคดีได้เพียง 2 – 3 คดี ก็จะเกิดความมั่นใจและสามารถทำคดีได้ต่อไปอีกไม่รู้จบ ทุกเรื่องทุกบทกฎหมายอยู่ที่ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ที่ต้องมีในระยะแรกรวมถึงความรักที่ต้องมีต่อประชาชน มีความเสียสละเพื่อประชาชนอยู่ในดวงใจ จึงจะสามารถทำงานสอบสวนเพื่อแสวงหาความจริงที่เป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้

​ขอฝากให้พนักงานฝ่ายปกครองทุกท่าน ได้รับทราบว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ความเป็นพนักงานฝ่ายปกครองนั้นทำการสอบสวนได้หมดทุกเรื่อง แม้จะมีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 กำหนดแบ่งเอาไว้ให้เจ้าพนักงานตำรวจในส่วนไหน เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในส่วนไหนก็ตาม แต่ถ้าข้าราชการเหล่านั้นมีน้ำใจในการสอบสวนรับคดีที่มีบุคคลเป็นผู้เสียหายและกล่าวโทษเรียกร้องหาความเป็นธรรมแล้ว เจ้าพนักงานของรัฐสามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วยกรรมวิธีสอบสวนได้ เมื่อกระบวนการการสอบสวนสิ้นสุดปรากฏข้อเท็จจริงใดออกมาแล้วเพียงพอที่จะส่งไปดำเนินคดี พนักงานอัยการจะรับคดีไปฟ้องทั้งสิ้น มิพักต้องกังวลว่าพนักงานอัยการจะวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่คนโน้น เรื่องโน้นไม่ใช่หน้าที่คนนี้ หาได้ไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตำรวจ ทำสำนวนดำเนินคดีอาญาใด ๆ ส่งให้อัยการแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีหน้าที่ตรวจสำนวนและวินิจฉัยสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องทุกกรณีจะไม่รับสำนวนไปวินิจฉัยนั้นไม่มี

​เมื่อท่านทั้งหลายได้รับทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว ท่านจะรู้ได้ด้วยตัวท่านเอง ว่าควรจะศึกษางานสอบสวนในหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองเพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของงานฝ่ายปกครอง และตัวนักปกครองเอง ขอฝากอนาคตงานของกรมการปกครอง ศักดิ์ศรีบารมีของพนักงานฝ่ายปกครองที่สามารถเกิดขึ้นได้มหึมาภายใต้เนื้องานสอบสวนคดีอาญานี้นั่นเอง