วงเสวนาแฉ!ทหาร-ปกครองจับสถานบันเทิงอบายมุขตร.รู้ไม่ได้ข่าวรั่วหมด ใช้ฉก.ลุยเอง

วงเสวนาแฉ!ทหาร-ปกครองจับสถานบันเทิงอบายมุขตร.รู้ไม่ได้ข่าวรั่วหมด ใช้ฉก.ลุยเอง

วงเสวนา ทหาร ฝ่ายปกครอง จับบ่อนอบายมุข ตำรวจหายไปไหน แฉ!หากร่วมกับตำรวจข่าวรั่วหมด ต้องใช้หน่วยฉก.จากนอกพื้นที่ถึงจะมีประสิทธิภาพ  หนุนกฎหมายใดที่มีโทษทางอาญาต้องให้หน่วยงานนั้นมีอำนาจสอบสวนด้วย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน  เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police watch  จัดเสวนา เรื่อง”ทหาร ฝ่ายปกครอง จับบ่อนอบายมุข ตำรวจหายไปไหน!? และ จะสอบสวนอย่างไรให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์?

นายคำรณ ชูเดชา   ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรณรงค์การงดดื่มสุรา   กล่าวว่า  การทำงานของภาคประชาชนไม่มีกฎหมายในมือหน้าที่เราตื่นตัวเฝ้าระวัง ตรงไนที่เด็กไปมั่วสุมเรามีกลไกหลายอย่าง ในอดีตเราใช้กลไกของตำรวจแต่ปัจจุบันถ้าจะให้มีประสิทธิภาพต้องใช้สนธิกำลังของกรมการปกครอง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และทหาร ส่วนหนึ่งเราได้อานิสงส์จากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่22/2558ทำให้สนธิกำลังกันได้ เพราะกรมพินิจมีเครือข่ายทุกจังหวัด ที่เราใช้กลไกปกครองเพราะเรามองเรื่องประสิทธิภาพ ถ้าพื้นทีไหนเราต้องการให้เกิดความสำเร็จทำงานกับตำรวจจะไม่ได้ประสิทธิภาพลงพื้นที่ข่าวรั่วหมด จึงต้องใช้ทีมงานนอกพื้นที่เข้าไปทำงาน ส่วนตำรวจในพื้นที่จะเน้นงานเชิงบวก เช่น การประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายมีมิติหลายเรื่องที่ซับซ้อนที่การบังคับใช้กฎหมายมันด้อยประสิทธิภาพ

คำรณ ชูเดชา
                                                                         คำรณ ชูเดชา

“ประชาชนต้องการที่พึ่ง และมีหลักประกันจากกลไกรัฐว่าที่พึ่งนั้นให้ความยุติธรรมได้หรือไม่   คนที่จับกุม ทำสำนวน ส่งฟ้องเองเป็นคนๆเดียวกันมันเป็นไปไม่ไดวลีที่ว่า “ถ้าไม่ได้ทำผิดไม่ต้องกลัว ให้ไปพิสูจน์กันในศาล”นั้นเป็นการโยนภาระให้ประชาชนมากเกินไป ผมเห็นด้วยว่าต้องให้บทบาทอัยการมากขึ้น   หลายคดีที่เราพาประชาชนไปแจ้ง ต้องเอาตำรา กฎหมายไปด้วย เพราะตำรวจเองก็ไม่ได้แม่นในเรื่องกฎหมาย  เสรีภาพของประชาชนสำคัญ  ถ้าไม่มีเงินประกัน คนจนก็นอนคุก จึงมีวลีว่า คนจนต้องติดคุก  ประชาชนที่ไปศาลนั้นบางทีต้องกลืนเลือด  เราจะปล่อยแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ทำไมไม่แก้ไข”นายคำรณ กล่าว

 

นายมานะ สิมมา ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กล่าวว่า ปัจจุบันฝ่ายปกครองเข้าไปจับเรื่องการค้ามนุษย์ อบายมุขเป็นเพราะเป็นนโยบายของมหาดไทย ในการสร้างสุขให้สังคม  เราไม่ได้ทำงานหักหน้าใคร แต่ทำตามกฎหมาย และนโยบาย  ในยุคคสช.มีประกาศออกมามากมายให้ส่วนราชการออกมาปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ทำก็จะมีปัญหา  อำนาจสำนักงานสอบสวนกรมการปกครองสามารถทำงานได้ตาม มาตรา 17 มีอำนาจค้น จับ ในที่รโหฐานได้ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข แต่ประชาชนอาจไม่ทราบ    การออกไปจับเพราะได้รับแจ้งเบาะแสจากศูนย์ดำรงธรรม หรือประชาชนเดือดร้อนแจ้งเข้ามาว่ามีการค้าประเวณีเด็ก ค้ามนุษย์ที่ใด  โดยมี อส.เป็นกองกำลังเข้าพื้นที่ ในขั้นต้นกระทรวงยุติธรรมจะทำการประสานอย่างบูรณาการหากต้องการความช่วยเหลือของฝ่ายปกครองก็จะขอมาเป็นที่ทราบกันว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมักมีข่าวรั่วเสมอ

“กรมการปกครองเราอยากทำงานร่วมกันกับตำรวจ  เวลามีปัญหาพบอบายมุขที่พื้นที่ ฝ่ายปกครองเรามีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร  แต่เมื่อเราส่งสายเข้าไป เราจะเกาะติด มากกว่าการทำงานของตำรวจที่ทำงานตามปกติ   เราดูแลทั้งสองฝ่ายตามเหตุการณ์    ส่วนอำนาจสอบสวนเรามีพนักงานสอบสวน 2  หน่วยงาน ในต่างจังหวัดทั้งฝ่ายปกครองและตำรวจมีอำนาจสอบสวน แต่ใน กทม.ตำรวจมีอำนาจฝ่ายเดียว  จะมีการวินิจฉัยก่อนส่งเรื่องให้อัยการ   สมัยก่อน มี รมต.มหาดไทยสามารถทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม   นายอำเภอกับผู้กำกับทำงานร่วมกัน  แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป   ป.วิอาญาให้สอบสวนร่วมกัน   ปัญหาที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติไม่ปฏิบัติหน้าที่   ต้องมาดูมาตรา 16 ป วิอาญาว่า ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง ใครมีอำนาจมากกว่าใคร   ดังนั้นหลักการเดิมมันดีอยู่ ตำรวจดูแลภาพรวม ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่  นายอำเภอและผู้ว่าจะดูสำนวนคดีก่อน  ทั้งสองฝ่ายนี้เป็นพยานให้ตำรวจได้อย่างดี  ปกติผู้ว่าไม่อยากเข้ามาร่วม แต่เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมจากผู้เสียหาย หรือญาติ ก็ต้องมาดูแลกัน”

มานะ สิมมา
                                                                                       มานะ สิมมา

นายมานะ กล่าวด้วยว่า  ฝ่ายปกครองและตำรวจ ต้องให้ความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน มากกว่าการมาตั้งแง่ว่าใครมีอำนาจมากกว่าใคร   เดิมมันดีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันมันมาแก้ไขให้บิดเบี้ยวไป  ตนเชื่อว่า ตำรวจไม่อยากให้ผู้ว่าฯมาร่วมสอบสวน  เราน่าจะเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอสามารถเรียกสำนวน พยาน หลักฐานมาดูได้  แล้วให้ ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนหลักต่อไป  แต่ถ้ากฎหมายฉบับใดที่มีโทษทางอาญา เช่น โทษทางอาญาศุลกากร  ปปส. ป่าไม้ เหล่านี้หน่วยงานนั้นต้องมีอำนาจสอบสวน ใครรับผิดชอบอะไรเฉพาะด้าน ก็มีอำนาจสอบได้ในเรื่องนั้น  เพราะขบวนการสอบสวนต้องมีความรู้หลายอย่าง มีความรู้กกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้    ทุกวันนี้ตำรวจสอบสวนเก่งกว่าหน่วยงานอื่นเพราะทำงานซ้ำๆมีความเชี่ยวชาญ ให้ตำรวจทำงานรักษาความปลอดภัย รักษาทรัพย์สินมุ่งเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก ในคดีเฉพาะอื่นๆให้หน่วยงานอื่น

 

นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์   อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตัวสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  เรามีการจับกันทุกวัน จะทำให้คนปฏิบัติตาม ต้องมีการจับกุมเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ไปหักหน้าตำรวจ   บางครั้งการแจ้งไม่มาจากองค์กรเอกชน แต่มาจากคนในพื้นที่ สำหรับพนักงานสอบสวนต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านวิชาการมาไม่น้อย ทำงานตามใบสั่งอย่างเดียวไม่ได้   การปฏิรูปต้องทำตั้งแต่ต้นธาร  บ้านเรามีความเอียงเอนมานาน  ในอดีต ตำรวจ อัยการ ปกครองอยู่ในกระทรวงเดียวกันหมด และพัฒนามาทำให้ตำรวจโตมากเกินไป โตกว่ากองทัพ ขึ้นอยู่กับนายกฯคนเดียว อะไรก็ให้”พี่ป้อม”ตัดสินใจ  ตำรวจสอบสวนจะแยกเป็นอิสระ แบบ Federal Bureau of  Investigation (สำนักงานสอบสวนกลาง)ก็เป็นไปได้ แต่ตำรวจมันใหญ่เกินตัว

                                                                                                       นเรศ จิตสุจริตวงศ์

“การออกคำสั่งตร. 419/2556 นั้นเสียหายมาก  กฎหมายสิ่งแวดล้อม  กฎหมายทรัพยากร  การบุกวังน้ำเขียว การฆ่าเสือ ทำคดีแล้วต้องบอกนายอำเภอ เขาจะส่งใครมาช่วยก็ได้ ในภาพลึกๆ ผมว่าเขาไม่ได้แย่งงานกัน แต่เติมเต็มกัน  ถ้าเขาใจสถานการณ์มันแก้ไขได้ และผู้ใหญ่ระดับบนต้องเข้าใจสถานการณ์  แค่ถูกกล่าวหาก็หมดอิสรภาพแล้ว  เราจะเอาประชาชนเป็นตัวตั้งหรือเอาเราเป็นตัวตั้ง”นายนเรศ กล่าว

 

นายวีรศักดิ์ พรพิบูลย์  ตัวแทนสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย   การทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)มาขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีทำให้ ตำรวจอยู่ห่างไกลประชาชน  ไม่ได้รับความยุติธรรม  ข้าราชการกระทรวง ทบวง กรมในอดีตที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ร.5 เพราะต้องการให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน   จากประสบการณ์ จะเห็นความทุกข์ยากสาหัส   ควรมีกรมศูนย์กลางทำงานให้ความยุติธรรมที่เป็นอิสระ หรือคณะกรรมการยุติธรรมจังหวัด   ตำรวจควรจะอยู่กับผู้ว่าราชการฯ  ทำงานเป็นทีม  จะมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ท่านเห็นด้วยว่าตำรวจไม่ควรไปอยู่ที่ศูนย์กลางต้องกระจายอำนาจ  การทำงานต้องทำงานทั้งป้องกัน และปราบปราม ด้วย ถ้าป้องกันดีๆเราจะไม่เห็นคนตายในเทศกาลต่างๆ  ต้องเคร่งครัด บังคับใช้ตามกฎหมาย  ตำรวจที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดให้อยู่กับผู้ว่าฯ  ถ้าทำงานระดับอำเภอก็อยู่กับนายอำเภอ

verasak                                                                                                   วีรศักดิ์ จิตสุจริตวงศ์

“ผมเห็นด้วยว่าทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ  แต่ถ้ามองไปที่คดีในทางปฏิบัติแล้ว  ผมยังอยากให้มีกรมสอบสวนกลาง เป็นอิสระจากตำรวจ มีความเป็นกลางจริงๆ   คนระดับใหญ่สั่งการไม่ได้”นายวีรศักด์ กล่าว

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  คอลัมนิสต์  “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ”  กล่าวว่า    ช่วง ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมานี้  ประชาชนต่างตั้งคำถามว่า  ทำไม  หน่วยงานที่มีบทบาทในการปราบปรามแหล่งอบายมุขต่าง ๆ  ทั่วประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนันหรือสถานบันเทิงผิดกฎหมาย   จึงกลายเป็นทหารและฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ปลัดอำเภอไป   ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่?  และเมื่อจับแล้ว  หัวหน้าหน่วยตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็ไม่ได้ถูกลงโทษลงทัณฑ์ตามกฎหมายวินัยตำรวจฐานบกพร่องต่อหน้าที่เลย    เพราะการสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจระดับต่าง ๆ นั้น  ไม่ใช่การลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งประเด็นว่า  มีตำรวจคนใดรับสินบนจากแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมหรือไม่   ยิ่งเป็นการช่วยให้ผู้รับผิดชอบพ้นจากความรับผิด    เพราะในความเป็นจริงที่ผู้ประกอบการแหล่งอบายมุขต้องทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ต่อไป   ไม่มีทางที่จะหาพยานหลักฐานมายืนยันได้   เพราะฝ่ายที่สอบสวนก็คือตำรวจที่เป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจเหล่านี้ทั้งสิ้น    ถ้าจะลงโทษจริง  ก็ต้องตั้งประเด็นเรื่อง  “บกพร่องต่อหน้าที่”  เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อราชการเป็นหลัก  จะถือว่าเสียหายร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง  ก็เป็นไปตามพฤติการณ์การละเมิดกฎหมายของแหล่งอบายมุขนั้น             และระหว่างสอบสวน  ก็ควรมีการสั่งสำรองราชการหัวหน้าหน่วยตำรวจผู้รับผิดชอบทุกระดับ ตั้งแต่สถานี  กองบังคับการไปจนถึงผู้บัญชาการ  ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจตำรวจแห่งชาติก็เปิดช่องให้สามารถทำได้อยู่แล้ว

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
                                                                                          วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

“การที่ทหารและฝ่ายปกครองไปจับแหล่งอบายมุขแทนหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบเช่นทุกวันนี้  มองเผิน ๆ อาจเห็นเป็นเรื่องดี   แต่ในความเป็นจริงได้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไปแล้วมากมาย  เพราะกว่าที่ฝ่ายปกครองที่อยู่ส่วนกลางจะไปจับได้ก็ต้องเปิดมาแล้วระยะหนึ่ง  อาจหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี และนับเป็นเรื่องประหลาดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอประเทศไทนยไม่สามารถสั่งให้หัวหน้าหน่วยตำรวจในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหรือจังหวัดจัดการได้    หรือแม้กระทั่งบอกให้รู้ก็ยังไม่ได้  เพราะจะทำให้ความลับรั่วไหล    ซึ่งหมายความว่า  ไม่สามารถไว้ใจได้!กฎหมายเกี่ยวกับอบายมุขไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การพนัน หรือสถานบริการ  ถือว่าเป็นกฎหมายป้องกันอาชญากรรมไม่ให้เกิดการกระทำอาญาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลัก วิ่ง ชิงปล้น  และการล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งปัญหายาเสพติด  ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรงที่จะต้องควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย  เพื่อป้องกันอาชญาร้ายแรงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า จากปัญหานี้  เราจะเห็นว่า  มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปให้ตำรวจแต่ละจังหวัดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด   ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าในระบบเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง  จังหวัดก็ต้องมีเอกภาพในการบังคับบัญชาให้คุณให้โทษเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยในจังหวัดตามหลักการบริหารที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น           มิฉะนั้น  การบริหารจังหวัดแทบทุกจังหวัด  ก็จะล้มเหลวในความเป็นจริงอย่างที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน  โดยเฉพาะงานด้านการรักษากฎหมายและการสอบสวน  ศูนย์ดำรงธรรมก็ได้แต่รอรับคำร้องเรียน  ทำหน้าที่เหมือนพนักงานไปรษณีย์ที่จะส่งเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนไปให้หน่วยตำรวจตรวจสอบรายงานมาให้ทราบเป็นการทำงานในระบบธุรการเท่านั้น

นอกจากนั้น  ที่สำคัญที่สุดคืองานสอบสวน  ทุกวันนี้  นอกจากตำรวจแห่งชาติจะหน่วยงานผูกขาดการสอบสวนไว้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว   งานสอบสวนยังขาดการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย               เช่นอำนาจของฝ่ายปกครองในการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่ประชาชนร้องเรียนที่เคยทำได้ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยปี 2523  ในส่วนภูมิภาค   ก็กลายเป็นเรื่องมีปัญหาในทางปฏิบัติ                เพราะฝ่ายตำรวจได้ออกคำสั่งที่  419/2556   ห้ามมิให้พนักงานส่งสำนวนให้ผู้ว่าหรือนายอำเภอตามที่แจ้งตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว  ซึ่งนอกจากจะเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้ว   ก่อให้เกิดปัญหาต่อประชาชนตามมามากมาย เพราะเมื่อประชาชนม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย    ก็ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใครให้ตรวจสอบได้    ซึ่งปัญหานี้  แม้พนักงานสอบสวนจะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย  แต่ทุกคนก็ไม่สามารถขัดขืนได้  เพราะเกรงกลัวถูกลงโทษทางวินัยแบบทหารด้วยการ “กักยาม” หรือ  “กักขัง”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้  อัยการสูงสุดก็ได้เคยมีหนังสือแจ้งมายังฝ่ายปกครองแล้วว่า  ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยมีผลเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือปฏิบัติ  หากพบหลักฐานว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว  ก็จะส่งสำนวนคืนกลับไปให้ทำให้ถูกต้อง                 จึงขอยืนยันว่า  ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยปี 23 ดังกล่าว  ยังมีผลบังคับอยู่ตามกฎหมาย  ข้าราชการทุกฝ่ายที่มาใช้อำนาจตาม ป.วิ อาญา ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามกฎหมายนี้เป็นผู้ออกไว้ด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากการสอบสวนจะต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายปกครองผู้ใกล้ชิดพื้นที่ฝ่ายหนึ่งแล้ว     อัยการในฐานะผู้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานไปฟ้องคดีก็จะต้องมีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนใน  “คดีสำคัญ”  หรือ  “เมื่อมีการร้องเรียน”  โดยไม่ต้องรอให้มีการส่งสำนวนถึงมือก่อนเช่นปัจจุบันด้วย เพราะหลายคดี  กว่าที่พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้อัยการ  ระยะเวลาก็ผ่านไปนานมากแล้ว  หลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปีก็มี   อัยการไทยจึงไม่มีโอกาสได้เห็นพยานหลักฐานแม้กระทั่งที่เกิดเหตุเหมือนอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลกเลย ได้แต่นั่งรอสำนวนการสอบสวน  สั่งหลายคดีก็  “เหมือนนิยาย”  ต่างไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง  แม้กระทั่งกระทำด้วยความสุจริต  ก็มีปัญหาเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่ครบถ้วน  โดยคำพูดพยานบุคคล  บางทีพูดอย่างไปจดอีกอย่าง  หรือไม่ได้จด  ไม่ได้บันทึก   และถ้ายิ่งไม่สุจริต  ยิ่งไปกันใหญ่  จะแต่งจะเติมพยานหลักฐานให้เป็นตามที่ตนเองหรือผู้บังคับบัญชาต้องการให้ผลของคดีเป็นอย่างไรก็ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบควบคุมการสอบสวนโดยพนักงานอัยการในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน  จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจในการปฏิรูปตำรวจให้ใช้อำนาจในขอบเขตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้    และสร้างหลักประกันความยุติธรรม  และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในระบบงานสอบสวนนำไปสู่ความเสียหายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีคดีที่ประชาชนตกเป็น  “แพะ”  กันมากมายไม่ว่าในการแจ้งข้อหา  การสั่งฟ้องของอัยการ  หรือแม้กระทั่งคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหลายคดีก็มีข้อสงสัย  มีผู้ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่กันมากมายรวมทั้งความเดือดร้อนที่เกิดกับผู้เสียหายในกรณีที่  “ศาลยกฟ้อง”  ผู้กระทำผิดลอยนวลไม่ถูกลงโทษ  ก่อให้เกิดความคับแค้นใจ  และรัฐก็ไม่สามารถดำเนินอะไรกับอาชญากรผู้กระทำผิดได้อีกต่อไป   ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึงร้อยละ 40  ของคดีที่อัยการสั่งฟ้องทั้งหมดและจำเลยต่อสู้คดี

 

นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์    อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า  การทำหน้าที่ของตำรวจกับฝ่ายปกครอง และความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายไหนเป็นคนพูด   ส่วนตัวมีความเห็นในหลักการใหญ่ๆว่าถ้าการสอบสวนมันอยู่ในหน่วยงานเฉพาะนั้นมีความเหมาะสม  ทุกวันนี้ตำรวจมีคดีมากมายหลากหลาย บางคดีต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น คดี เศรษฐกิจ หุ้น เป็นต้น   หรือ มาช่วยกันทำเช่นคดีทางการปกครอง น่าจะมีส่วนร่วมในการสอบสวน  การจับกับการสอบต้องแยกกัน ฝ่ายปกครองก็สอบได้ แต่ห่วงว่าถ้ากฎหมายไม่ชัดเจน พนักงานก็ทำงานยาก   ถ้าตำรวจไม่จับสถานบริการก็ถือว่าบกพร่อง หรือถ้าปกครองไม่ไปจับก็ถือว่าไม่ทำหน้าที่หรือเปล่า

“เรื่องการจับกุม  ในยุคที่มีมาตรา 44 ทหารมีอำนาจพิเศษ  ดังนั้นฝ่ายปกครองเข้าไปจับด้วยก็เป็นไปได้     เห็นด้วยว่าการทำงานต้องร่วมกัน และคิดว่าฝ่ายปกครองมีความเข้าใจประชาชนมากกว่า  เรื่องการสอบสวน  การที่ตำรวจสามารถคุมตัวได้ 7 ฝาก เรามีข้อตกลงกันว่าถ้าตำรวจส่งสำนวนมา อัยการต้องรับไม่ว่าจะเหลือเวลาเท่าไหร่      ส่วนใหญ่ไม่อยากเปลืองตัวพนักงานไม่สอบสวนพยานผู้ต้องหา แต่สอบพยานผู้กล่าวหา เราเป็นระบบกล่าวหา  เราควรจะยอมรับที่จะสั่งสอบเพิ่มพยานผู้ต้องหาได้     เราอาจจะเสนอให้  ให้นโยบายเรื่องนี้ คือถ้ากรมการปกครองหรือ สตช.ต้องการสำนวนหลักฐานเพิ่มก็ทำได้ ไม่ต้องแก้ กฎหมายนายอำเภอเองก็ต้องมีระเบียบรองรับ ขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้ความมั่นใจว่าเขามีอำนาจหน้าที่ที่มอบหมายให้ทำได้   สิ่งที่จะรองรับอำนาจก็ต้องให้เห็นว่าต้องมีกฎหมายรองรับ”นายชาญชัย กล่าว

                                                                                               ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์

นายชาญชัย กล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้องของอัยการเป็นเรื่องเสี่ยง อาจถูกสังคมตำหนิ ยอมรับว่าการสั่งไม่ฟ้องในคดียาเสพติด แทบเป็นไปไม่ได้   การสั่งไม่ฟ้องถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมระดับหนึ่ง  เพราะยังสามารถฟ้องได้ในภายหลัง    ภาระของพนักงานสอบสวนมีมากความบกพร่องก็เกิดขึ้นได้    และประมวลจริยธรรมจะออกเป็น กฎหมาย หรือสั่งห้ามไม่ได้ เช่นผู้พิพากษาไม่ควรมีคู่สมรสเป็นทนายความ   แต่ไม่ได้สั่งห้าม   ถ้าเห็นว่าตำรวจทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็ต้องร้องเรียนกันไป

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ
 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ