ทำไมผู้ว่าฯ นายอำเภอและทหาร ต้องทำงานจับบ่อน สถานบันเทิงผิดกฎหมายแทนตำรวจ -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร    

ทำไมผู้ว่าฯ นายอำเภอและทหาร ต้องทำงานจับบ่อน สถานบันเทิงผิดกฎหมายแทนตำรวจ -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร    

ยุติธรรมวิวัฒน์

                ปัญหา บ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมาย   แหล่งอบายมุขที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและยาเสพติด สร้างความไม่สงบสุขขึ้นในสังคม ทำลายเด็กเยาวชนและครอบครัวไทยอย่างย่อยยับตลอดมานั้น

รัฐได้จัดตั้งหน่วยตำรวจหลายระดับขึ้นทำหน้าที่ตรวจตราป้องกันมิให้มีการกระทำผิด ตั้งแต่สถานี กองบังคับการ และกองบัญชาการพื้นที่ ตำรวจสอบสวนกลางคอยตรวจสอบไปจนถึงตำรวจแห่งชาติ ใช้งบประมาณรวมแต่ละปีมากมายมหาศาลถึง หนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท!

แต่ในช่วงห้าปีนับแต่วันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมา

การตรวจตราจับกุมแหล่งอบายมุขทุกประเภท ได้กลายเป็นหน้าที่ของทหารและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอไปอย่างประหลาด!

ประชาชนแทบไม่เห็นหรือได้ยินบทบาทของกองบังคับการตำรวจจังหวัด กองบัญชาการตำรวจภาค  หรือผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจจับแหล่งอบายมุขเหล่านี้เลย แม้กระทั่งเขตกรุงเทพมหานคร 

บ่อนการพนันใหญ่ในเขตนครบาลก็เพิ่ง ถูกจับโดยฝ่ายทหาร พื้นที่รับผิดชอบของ สน.สุทธิสาร เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทหาร ผู้ว่าจับบ่อน

ใต้ภาพภาพทหาร กอ.รมน.กทม. จับบ่อนไพ่ ไฮโล เสือ มังกร ย่านสุทธิสาร เมื่อ 7 ก.ค.62 เวลา 03.30 น.

 

เป็นพื้นที่ที่เคยมีตำนานการเปิดบ่อนพนันผิดกฎหมาย ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคนเล่นวันละนับพัน เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อนที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.กทม.ขณะนั้น นำมาเปิดเผยต่อสภาและสื่อมวลชน

                กรณีดังกล่าวได้มีการสั่งตั้งกรรมการสืบสอบตำรวจผู้รับผิดชอบหลายระดับ ทั้งนครบาลและสอบสวนกลางว่า  แต่ละคนมีใครรับเงินส่วยหรือสินบนจากบ่อนการพนันใหญ่แห่งนี้บ้างหรือไม่?

แต่ผลการสอบสวนของกรรมการ ที่มี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง จเรตำรวจแห่งชาติ ขณะนั้นเป็นประธานสรุปว่า ไม่พบตำรวจคนใดทุจริตต่อหน้าที่ มีพฤติกรรมรับส่วยสินบนจากบ่อนการพนันแห่งนี้แม้แต่บาทเดียว!                

หลังการปฏิวัติ หลายคนคิดว่าการที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในระยะแรก รวมทั้งออกคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ให้ทหารและฝ่ายปกครองออกตรวจจับแหล่งอบายมุขทั่วประเทศ และมีผลงานการจับกุมมากมายโดยเฉพาะฝ่ายปกครอง เป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการปราบปรามแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย

แต่ในความเป็นจริงถือเป็นความล้มเหลวของรัฐ!

เพราะนอกจากจะไม่สามารถควบคุมให้หน่วยงานรับผิดชอบคือตำรวจ ทำหน้าที่ตรวจตราป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายได้แล้ว

เมื่อแหล่งอบายมุขเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ได้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและสังคมอยู่ระยะหนึ่ง จนกว่าจะถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นโดยฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกครองก็ตาม

แทบทุกจังหวัด ผู้ว่าฯ ก็รู้ปัญหาเรื่องแหล่งอบายมุขนี้อยู่เต็มอก แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือสั่งให้ตำรวจจัดการได้               ต้องรอจนกระทั่งให้มีประชาชนร้องเรียนเป็นต้นเรื่องขึ้นมา  ก็จะสั่งให้นายอำเภอไปประสานกับทหารนำกำลัง อส.ร่วมกันจับ พร้อมกำชับ อย่าบอกให้ตำรวจไม่ว่าระดับใดรู้  เป็นอันขาด

หลายแห่ง ผู้ว่าฯ ต้องใช้วิธี แอบแจ้งข้อมูล ให้กรมการปกครอง นำกำลัง อส.จากกรุงเทพมหานครไปจับแทน

โดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เพื่อไม่ให้เกิดความกินแหนงแคลงใจกับผู้บังคับการตำรวจจังหวัด

ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นหน่วยงานอิสระไปแล้ว ไม่ขึ้นต่อใครในจังหวัดทั้งสิ้น! 

ตำรวจทุกคนถือว่าผู้ว่าฯ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่จะสามารถให้คุณให้โทษตน หรือมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจคนใดในจังหวัดได้

ใครที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าฯ แต่ไม่สอดคล้องกับความคิดและรสนิยมของตำรวจผู้บังคับบัญชาที่สั่งไว้ สุดท้ายก็จะถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายเปลี่ยนสายงาน สถานี หรือแม้กระทั่งมีคำสั่งย้ายออกจากจังหวัดนั้นไปอย่างไร้อนาคต โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ช่วยอะไรไม่ได้แม้แต่น้อย!          

             การจับบ่อนใหญ่รายล่าสุดโดยกรมการปกครองได้เกิดขึ้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 9 ก.ค.62  เวลาประมาณ 11.30 น.

ปกครองจับบ่อน
ทำไมผู้ว่าทหารจับบ่อน

ใต้ภาพ- ชุดปฏิบัติการสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ร่วมกันจับบ่อนการพนันในเขตอำเภอเมือง เมื่อ 9 ก.ค.62

 

บ่อนใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองแห่งนี้เปิดบริการประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างด้าวมาได้ประมาณ สองเดือนแล้ว

เรื่องรู้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะมีแม่บ้านคนหนึ่งไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดว่าสามีไปติดการพนันในบ่อนจนครอบครัวเดือดร้อน ไปบอกนายบ่อนให้ช่วยแก้ปัญหา เพื่อที่สามีจะได้กลับไปช่วยครอบครัวทำมาหากิน

แต่นายบ่อนไม่สนใจ ซ้ำยังท้าทายบอกว่า จะไปแจ้งตำรวจหน่วยไหนก็ได้ รับรองไม่มีใครมาจับ! เพราะเคลียร์เรียบร้อยหมดแล้ว แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด!

เมื่อผู้ว่าฯ ได้ยินเข้าว่า มีส่วนร่วมรับส่วย ก็ร้อนใจ เฉยอยู่ไม่ได้ สั่งให้นายอำเภอเมืองประสานกับกรมการปกครอง นำกำลัง อส.จากกรุงเทพมหานครไปจับในวันดังกล่าว โดยไม่บอกให้ตำรวจคนใดในพื้นที่รู้หรือแม้แต่แพร่งพรายให้ระแคะระคาย
ก็อยากถาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเสนอและเลือกของ ส.ส.และ ส.ว.   ซึ่งกำลังจะแถลงนโยบายการทำงานของรัฐบาลในวันพุธที่  24 ก.ค. นี้ว่า

ปัญหาบ่อนการพนันและแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นมากมายทั้งในเมืองหลวงและทั่วทุกภูมิภาคขณะนี้

ท่านมีนโยบายจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกรมการปกครองรวมทั้งทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจจับแทนตำรวจเช่นนี้ตลอดไปหรืออย่างไร?

ถ้ามีนโยบายเช่นนั้น ก็ควรปรับลดงบประมาณของตำรวจแห่งชาติในด้านงานป้องกันอาชญากรรมปี 2563 ที่กำลังจะพิจารณากันเร็วๆ นี้ลง 30 เปอร์เซ็นต์ 

นำไปเพิ่มเป็นงบประมาณของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้ง สำนักป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ขึ้น

                จัดบุคลากรและอุปกรณ์การทำงานพร้อมยานพาหนะ แม้กระทั่ง เครื่องบินเจ็ต ไว้ให้พร้อมในการนำกำลัง อส.ชุดปฏิบัติการพิเศษไปตรวจจับแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย 

                รวมทั้งออกกฎกระทรวงมหาดไทยให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน และ พ.ร.บ.สถานบริการ สนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

                ทำหน้าที่แทนกองบังคับการตำรวจจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจภาคต่างๆ ที่มีนายพลตำรวจอยู่มากมาย แต่ละแห่งใช้งบประมาณถึง 700-800 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบันนี้ด้วย.

 

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, July 15, 2019