ใบขับขี่ดิจิทัล ทำไมตำรวจผู้ใหญ่จึงยังชอบแบบโบราณ?

ใบขับขี่ดิจิทัล ทำไมตำรวจผู้ใหญ่จึงยังชอบแบบโบราณ?

virute

       ใบขับขี่ดิจิทัล ทำไมตำรวจผู้ใหญ่จึงยังชอบแบบโบราณ?

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

DLT smart licence

กรณีกรมการขนส่งทางบกได้จัดทำใบขับขี่ดิจิทัลแบบสากลประกาศให้ประชาชนโหลดเข้าไปเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้แสดงเป็นหลักฐานการติดต่อราชการต่างๆ แทนใบขับขี่แบบเดิมได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไปนั้น

กลับมีข้อโต้แย้งจากตำรวจผู้ใหญ่ว่า ใบขับขี่ที่ทันสมัยดังกล่าวยังไม่สามารถใช้กับตำรวจแทนใบขับขี่กระดาษหรือพลาสติก แบบโบราณ ได้ จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จ คาดว่าคงใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือน โดยอ้างว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 140 บัญญัติให้ตำรวจผู้ตรวจพบการกระทำผิดสามารถ  เรียกเก็บใบขับขี่ หรือที่ประชาชนเรียกกันว่า ยึด ไว้ได้  แล้วออก ใบสั่ง ให้ผู้ขับรถใช้แทนชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน

เป็นการ จับใบขับขี่เป็นตัวประกัน เพื่อให้ผู้ทำผิดกฎหมายขวนขวายไปจ่ายค่าปรับใน อัตราที่ตำรวจผู้ใหญ่กำหนดไว้

ถ้าหากให้ใช้ใบขับขี่ดิจิทัลแสดงแทนได้ แล้วตำรวจผู้น้อยจะเรียกเก็บอะไร เพราะเก็บโทรศัพท์มือถือแทนไม่ได้

และหากออกใบสั่งโดยไม่ยึดใบขับขี่ ก็คงไม่มีใครเดินตามตำรวจไปจ่ายค่าปรับเพื่อขอรับใบขับขี่คืนกันเช่นปัจจุบันเป็นแน่

ถ้าเป็นพลเมืองดี อย่างดีก็แค่ยอมไปจ่ายเงินที่สถานีกรณีอยู่ใกล้ หรือทางไปรษณีย์กรณีอยู่ไกลคนละอำเภอหรือจังหวัด เช่นเดียวกับการออกใบสั่งติดไว้หน้ารถ หรือแม้กระทั่งกล้องจับการกระทำผิดต่างๆ ที่มี พลเมืองดีไปจ่ายค่าปรับเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ส่วนพลเมืองร้าย ผู้มีอำนาจราชการและพ่อค้าอิทธิพลรวมทั้งคนมีเส้นสาย หลายคนไม่เคยจ่ายค่าปรับ หรือมีวิธีการปรับในอัตราที่ต่างไปจากประชาชนทั่วไปราวฟ้ากับเหว

ปัญหาการไม่จ่ายค่าปรับดังกล่าว แม้หัวหน้า คสช. จะอำนวยความสะดวกให้ตำรวจ โดยใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 14/2560 เมื่อ 21 มี.ค.60 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก กรณีโดนใบสั่งแล้วไม่ไปจ่ายค่าปรับ  เจ้าพนักงานมีอำนาจไม่ออกหลักฐานการชำระภาษีประจำปีให้ ทำให้ในระยะแรกมีประชาชนไปจ่ายค่าปรับเพิ่มมากขึ้นระดับหนึ่ง

แต่หลังจากรู้ว่า การประสานข้อมูลระหว่างตำรวจกับกรมการขนส่งทางบกมีปัญหา ไม่สามารถเชื่อมโยงหลักฐานการกระทำผิดกันได้ รวมทั้งหลายกรณีกลายเป็นเรื่องที่เจ้าของรถถูก ปลอมทะเบียน เป็นคดีอาญาและภาระในการที่ต้องสืบสอบหาผู้กระทำผิดตามกฎหมาย

ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ไปจ่ายค่าปรับ “ใบสั่งแปะ” หรือแม้กระทั่ง “ใบสั่งทางไปรษณีย์” เช่นเดิม

เงื่อนไขที่จะทำให้การปรับข้อหาจราจรได้ผลที่สุดจึงยังคงเป็น การเรียกเก็บใบขับขี่ ด้วยวิธีการ ตั้งด่าน  โดยนำสิ่งกีดขวางมาวางบนทางหลวงและถนนหนทางต่างๆ   

เพื่อให้ผู้ขับรถที่ถูกจับ เดินตามใบขับขี่ ไปจ่ายเงินสดที่สถานี หรือแม้กระทั่ง ตามโต๊ะ ใต้สุมทุมพุ่มไม้  ตำรวจเก็บเงินใส่กระป๋องหรือกระเป๋าใกล้ด่านตรวจนั้นๆ  แล้วรับใบขับขี่คืนไป

วิธีนี้ทำให้ตำรวจไทยสามารถทำรายได้ตามเป้าที่เจ้านายกำหนดได้เป็นกอบเป็นกำ โดยได้รับส่วนแบ่งจากค่าปรับร้อยละ 20 ตามกฎหมาย และหากมีสายลับก็มีสินบนนำจับอีก 50 เปอร์เซ็นต์  

                เรียกว่า  ปรับมาก ได้มาก” แต่สำหรับตำรวจผู้น้อยเดือนละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตามที่มีการเพิ่มเติมกฎหมายจราจรให้มีรางวัลการจับและสินบนนำจับความผิดจราจรตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา

                ตำแหน่ง สารวัตรจราจร งานลูกเสือทำหน้าที่โบกรถราเมืองใหญ่ในทุกสถานี รวมทั้งกองบังคับการตำรวจจราจร จึงเป็นที่หมายปองและวิ่งเต้นเพื่อแย่งกันเป็นของตำรวจผู้มีเส้นสายและอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ยิ่งกว่า สารวัตรสอบสวน เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมา

ปรับและรับเงินกันเพลินจนเป็นเหตุให้เกิดคดีอื้อฉาวที่กองบังคับการตำรวจจราจรในช่วงปี 2534 โดยมีผู้ทำ สายลับปลอม เบิกสินบนค่าปรับ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกกันว่า ส่วยควันดำ ได้เงินไปกว่า 30 ล้าน ตำรวจผู้ใหญ่ผู้เกี่ยวข้องในยุคนั้นร่ำรวยไปตามๆ กัน

ส่วนแบ่งจากเปอร์เซ็นต์การปรับนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตำรวจผู้น้อยแทบทุกสถานี ถูกสั่งให้ทำยอดทำเป้าในการจับและ ยึดใบขับขี่ประชาชน

จนแทบจะกลายเป็นสงครามบนถนนระหว่างกันอยู่ทุกวันนี้! 

                เนื่องจากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากมายจากการถูกจับยึดใบขับขี่และ แจ้งข้อหาอย่างไม่ปรานี ทั้งที่หลายกรณีประชาชนไม่มีเจตนาทำผิด ไม่ชัดเจน หรือเป็นความผิดเล็กน้อยที่ตำรวจสามารถใช้อำนาจว่ากล่าวตักเตือนตามกฎหมายได้

แม้กระทั่งหลายกรณีมีข้อต่อสู้เรื่องข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กระทำผิด หรือควรถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ละเมิดกฎหมายและฐานะของบุคคลเพื่อความยุติธรรม

แต่ประเทศไทยไม่มีระบบงานสอบสวนที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนเช่นนั้นได้   

ทำให้ประชาชนแทบทุกคนต้องยอมจำนน แก้ปัญหาด้วยวิธีจ่ายค่าปรับเพื่อให้จบๆ ไป ด้วยความคับแค้นใจ

เช่นกรณี ลุงอาดูร ควันไม่ดำ ผู้ถูกตำรวจจับที่จังหวัดนครสวรรค์ต้องจ่ายค่าปรับทั้งน้ำตาหาว่าควันดำไปหนึ่งพันบาท ลูกหลานต้องอดข้าวอดน้ำขับรถกลับโคราชด้วยความแค้นใจไปเมื่อสามสี่เดือนที่ผ่านมา

ใบขับขี่ดิจิทัลนั้น อันที่จริงก็คือใบขับขี่ประเภทหนึ่ง ซึ่ง พ.ร.บ.รถยนต์ไม่ได้กำหนดว่า จะต้องมีแต่รูปแบบที่เป็นกระดาษหรือพลาสติกเท่านั้น 

และการขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ กับกรณีมี แต่ไม่ได้นำติดตัวไปแสดงให้เจ้าพนักงานดูได้ เป็นคนละเรื่องกัน

การไม่มีใบขับขี่ คือ การที่ขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น มีโทษปรับหรือจำคุกถึงหนึ่งเดือน ตามมาตรา 62

ส่วนมีใบขับขี่ แต่ไม่ได้นำติดตัวมา ผิดตามมาตรา 66  มี โทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งพันบาท

การแสดงใบขับขี่ดิจิทัลต่อเจ้าพนักงาน ถือเป็นหลักฐานการมีใบขับขี่แล้ว แต่ปัญหาคือถือว่าเป็นการนำติดตัวและแสดงให้เจ้าพนักงานดูแล้วหรือไม่              

ในอันที่จริง แม้แต่การแสดงใบขับขี่แบบโบราณ  ตำรวจเจ้าพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องยึดไว้เสมอไป เพราะกฎหมายจราจรมาตรา 140 วรรคท้าย บอกว่า เจ้าพนักงานจะเรียกเก็บไว้หรือไม่ก็ได้

                แต่ปัญหาคือ ตำรวจผู้ใหญ่ยังต้องการให้ตำรวจผู้น้อย เรียกตรวจและเก็บใบขับขี่ประชาชนไว้ และ ปรับขั้นต่ำในอัตราเดียวกัน ทั้งประเทศ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด?

รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ พนักงานสอบสวน มีอำนาจและดุลยพินิจในการ เปรียบเทียบปรับ” อย่างเหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อความยุติธรรมต่อประชาชนแต่อย่างใด

และไม่มีประเทศใดในโลกที่เจ้าพนักงานผู้จับ  โดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ระดับต่างๆ มีส่วนแบ่งในทางพฤตินัย” จากเงินค่าปรับแบบ “ปรับมาก ได้มาก”  เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีประโยชน์ทับซ้อนเหมือนประเทศไทย 

                ทุกประเทศล้วนแต่ให้ “ศาล” หรืออย่างน้อย  “พนักงานสอบสวน” เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบและกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำ ความสำนึกผิด รวมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่และบุคคลด้วยกันทั้งสิ้น.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, January 21, 2019