ตั้ง’กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง’คือ ‘วิธีประวิงและสกัดการดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจ’

ตั้ง’กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง’คือ ‘วิธีประวิงและสกัดการดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจ’

ยุติธรรมวิวัฒน์

ตั้ง‘กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง’คือ ‘วิธีประวิงและสกัดการดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจ’

                                                               พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เหตุการณ์ความตายผิดธรรมชาติของ น้องแตงโม ซึ่งถือเป็นกรณี มีผู้อื่นทำให้ตาย ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 148 (2) ตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำประมาท

แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่มีใครไม่ว่า ตำรวจผู้ใหญ่ หรือ อัยการคนใด ชี้แจงว่าผู้ต้องหาทั้งห้า “ได้ร่วมกันกระทำ” หรือ “ต่างกระทำ” โดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ควรกระทำของแต่ละคน” อย่างไร?

และ “การกระทำนั้นเป็นเหตุให้” น้องตกจากเรือจมน้ำถึงแก่ความตาย ตามที่ได้แจ้งข้อหา และเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ซึ่งถ้าไม่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชี้ให้เห็นการกระทำที่ชัดเจนเช่นนั้นของผู้ต้องหาแต่ละคน แต่อัยการ สั่งฟ้องมั่วๆ ไป ตามที่ตำรวจสรุปผลการสอบสวน “เสนอให้สั่งฟ้อง” หรือเป็นเพราะไม่ต้องการให้ผู้บัญชาการตำรวจภาค “ทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอย่างวิปริต”!

และสุดท้ายไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดให้ “ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัย” ได้

ทุกศาลก็ต้องพิพากษาไปตาม ป.วิ อาญา มาตรา 227 คือ ยกฟ้อง!

จะส่งผลทำให้ น้องแตงโม กลายเป็น แพะ ทันที!

คือเป็นฝ่ายประมาทเอง ที่ไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือ และทำให้พลัดตกน้ำไปถึงแก่ความตาย

ถือเป็นความตายที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของใครทั้งสิ้น เรียกว่าเป็น อุบัติเหตุ ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 148 (4)

ส่วนความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? จะไม่มีใครสามารถพิสูจน์หรือแม้แต่ “นำมาพูด” เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับน้องได้อีกต่อไป!

แม้กระทั่งในข้อเท็จจริงอาจมีใครลวนลาม ซึ่งถือเป็น การกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย ต่อน้อง ทำให้ต้องปัดป้องหรือหลีกหนีในลักษณะหนึ่งลักษณะใดและพลัดตกจากเรือไปถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 278 และ 280 (2) มีโทษถึง ประหารชีวิต!

ก็จะทำให้ผู้กระทำผิด “ข้อหาฉกรรจ์” นั้น “ลอยนวล” ไปทันที  ไม่มีใครสามารถดำเนินคดีหรือดำเนินการอะไรในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอาญาหรือแพ่งได้อีกต่อไป!

ฉะนั้น ในการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่ มีความสำคัญต่อทุกคดีที่เกิดขึ้น อย่างยิ่ง

และต่อคดีนี้ จึงถึงเวลาที่ “อัยการไทยต้องยกระดับการสั่งฟ้อง” โดยต้องให้ถึงขั้นมั่นใจว่าจะสามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเชื่อโดยปราศข้อสงสัยและพิพากษาลงโทษได้ “สอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติของอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลก” เท่านั้น

ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนต้อง ติดตามการทำงานของอัยการจังหวัดนนทบุรี ในคดีนี้ รวมทั้งอีกหลายๆ คดีของ อัยการทั่วประเทศ กันต่อไป!

ส่วนประเด็นที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ กรณีที่ ผบ.ตร.ได้มีคำสั่ง ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีผู้ทำหนังสือกล่าวหาว่า ตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนรวมสี่คนกระทำความผิดทางอาญา ข้อหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในหลายการกระทำ

หนังสือดังกล่าวถือเป็น “คำกล่าวโทษ” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 2 (8) ที่ “ผู้รับผิดชอบ” จะต้องเร่งดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีอาญาโดยมิชักช้าตามมาตรา 130

และใช้ “อำนาจตามมาตรา 130, 130/1, 132, 133 รวมทั้งที่เกี่ยวข้องตามลักษณะ 2 ว่าด้วย “การสอบสวน” รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ และพิสูจน์ให้เห็นความผิดที่กล่าวหา

ไม่มีผู้บังคับบัญชาไม่ว่าคนใดและระดับใดมีอำนาจ “ประวิงการสอบสวน” ด้วยการอ้าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาตรา 84 ตั้ง “กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” ว่าที่มีผู้แจ้งความกล่าวหาหรือกล่าวโทษนั้นเป็นความจริงและมีพยานหลักฐานอะไรในการจะดำเนินคดีอาญาต่อไปหรือไม่แต่อย่างใด?

เนื่องจากไม่ใช่เป็นการกล่าวหาหรือตรวจพบว่าตำรวจคนใด กระทำความผิดทางวินัย ที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจตั้ง กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 ข้อ 2 และข้อ 4

ไม่ใช่การตั้ง กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นที่กระทำกันในทุกวันนี้โดยไม่มีอยู่ในกฎข้อใด!

การตั้ง “กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” กรณีที่มีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษว่ากระทำความผิดทางอาญา นอกจากจะเป็นการ ประวิงเวลา ไม่เร่งดำเนินการสอบสวนโดยมิชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้ เพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานเสียหายหรือสูญหายไปตามธรรมชาติและเวลา แล้ว

ในความเป็นจริง ส่วนใหญ่ยังกลายเป็น ช่องทางทำลายพยานหลักฐาน กันอีกด้วย!

โดย ประธานกรรมการ มัก เปิดโอกาส หรือแม้กระทั่ง ชี้ช่อง ให้ผู้ถูกร้องไป เคลียร์ กับผู้เสียหายและพยาน แล้ว ค่อยนำพามาให้การ ว่าที่ร้องไว้ เป็นเรื่องเข้าใจผิด สรุปเสนอให้ผู้สั่งตั้งกรรมการ ยุติเรื่อง แทบทั้งสิ้น!

เรียกว่า ร้อยเรื่อง จะตรวจข้อเท็จจริงพบความผิดสัก หนึ่งเรื่อง หรือไม่? โดยเฉพาะในกรณีที่มีการกล่าวหา “ตำรวจผู้ใหญ่” ก็ยังไม่มีใครแน่ใจ!

ใครไม่เชื่อ? ก็ลองไปตรวจสอบการตั้ง “กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” ของตำรวจทุกหน่วยทุกระดับดูได้!

เอาแค่เรื่องง่ายๆ เช่นกรณีที่ฝ่ายปกครองเข้าจับกุมแหล่งอบายมุข บ่อนการพนัน หรือสถานบริการผิดกฎหมายในพื้นที่

ผลการตรวจสอบแทบไม่เคยพบว่ามี “ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลคนใด” กระทำความผิดอาญาหรือวินัยถูกลงโทษตามกฎหมายหรือ “ไล่ออกปลดออก” แม้แต่คนเดียว!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 23 พ.ค. 2565