‘น้องแตงโม’ ‘อุบัติเหตุ’ หรือ ‘ถูกประทุษร้าย’ หลักฐานสำคัญคือ ‘แผลใหญ่’ ‘เกิดก่อน’หรือ ‘หลังตกเรือ’ ที่พิสูจน์เชื่อถือได้

‘น้องแตงโม’ ‘อุบัติเหตุ’ หรือ ‘ถูกประทุษร้าย’ หลักฐานสำคัญคือ ‘แผลใหญ่’ ‘เกิดก่อน’หรือ ‘หลังตกเรือ’ ที่พิสูจน์เชื่อถือได้

ยุติธรรมวิวัฒน์

“น้องแตงโม”“อุบัติเหตุ”หรือ“ถูกประทุษร้าย”หลักฐานสำคัญคือ

“แผลใหญ่”“เกิดก่อน”หรือ“หลังตกเรือ”ที่พิสูจน์เชื่อถือได้

 

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์ตกน้ำและเสียชีวิตอย่างปริศนาของดาราสาว แตงโม หรือ ภัทรธิดา ที่ประชาชนผู้สนใจทั้งประเทศต่างรู้สึกสะเทือนใจในโชคชะตาที่เธอได้ร่วมกันฟันฝ่ากับบิดามาอย่างทรหดอดทน

จนกระทั่งเธอได้พบกับ บุคคลอันเป็นที่รักและแสนบริสุทธิ์ คือ เบิร์ด หลังผู้เป็นพ่อเสียชีวิต

เบิร์ด เป็นชายหนุ่มมาดเซอร์แบบบ้านๆ ที่จงรักและภักดีต่อเธอมานานนับสิบปี

ทำให้ในที่สุด เธอได้ตัดสินใจฝากชีวิตไว้กับชายอ่อนวัยกว่าสองปีคนนี้  มีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข

ผู้คนพบเห็น น้องทั้งสอง ไปช่วยกันยืนขายของตามตลาดนัดต่างๆ ด้วยรอยยิ้มอันสดใส

ผู้คนในวงการและประชาชนผู้สนใจต่างรู้สึกยินดีที่เธอได้พบรักครั้งใหม่อัน แสนบริสุทธิ์และเรียบง่าย

แต่จู่ๆ ความตายก็ได้มาพรากเอาชีวิตของเธอไปจากประชาชนและคนรัก อย่างไม่คาดฝัน เต็มไปด้วยคำถามจากผู้คนมากมาย

ซึ่งจนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า สาเหตุที่ทำให้เธอตกจากเรือด้วยเหตุที่ไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือและพยายามลุกขึ้นยืนตามคำให้การของพยานที่เห็นเหตุการณ์คือ “แซน” จริงหรือไม่?

เพราะในความเป็นจริง การทำเช่นนั้นสำหรับผู้หญิง  “เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง” โดยเฉพาะขณะที่เรือวิ่งอยู่ท่ามกลางคลื่นแม่น้ำ และมีความสว่างจากแสงไฟริมฝั่งสาดส่องมากมาย ผู้ชายที่อยู่บนเรือก็ไม่ได้สนิทสนมอะไรมากมาย

รวมทั้งได้ทราบว่า ในการตรวจชันสูตรศพครั้งแรก ก็ไม่พบสารยูเรียในผ้าอนามัย ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยว่า ถ้าเธอได้ปัสสาวะจริง ก็น่าจะพบสารยูเรียเป็นหลักฐานอยู่บ้าง?

ตามกฎหมาย เหตุที่ตาย ได้ถูกแพทย์นิติเวชตำรวจตรวจวินิจฉัยรายงานไว้ว่า ขาดอากาศหายใจ ถือว่าเป็นข้อยุติได้  ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร

และเท่ากับยืนยันว่าบาดแผลจุดหนึ่งจุดใด โดยเฉพาะ  “แผลขนาดใหญ่” บริเวณขาอ่อนด้านใน ไม่สามารถทำให้ตายได้

ฉะนั้น เรื่องการถูกฆ่าโดยเจตนาแบบประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ว่าจะโดยบุคคลบนเรือหรือผู้ใด จึงพูดได้ว่าสามารถตัดออกไปได้

เหลือแต่ประเด็นที่ผู้คนสงสัยและยังไร้คำตอบจาก  “ตำรวจ” ผู้รับผิดชอบการสอบสวนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งแม้แต่ “ฝ่ายปกครอง” และ “พนักงานอัยการท้องที่” ก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้หรือแม้กระทั่งตรวจดูเรือและพยานหลักฐานอะไรเหมือนฝ่ายปกครองและอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลก

ก็คือ “อาจถูกประทุษร้ายรูปแบบหนึ่งแบบใด จนเป็นเหตุให้เธอพลัดตกจากเรือไป และ “จมน้ำตาย” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่?

ปริศนาที่ต้องการคำตอบในเรื่องนี้ก็คือ บาดแผลขนาดใหญ่ บริเวณขาอ่อนด้านในเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่า เกิดจากการกระทบกับ วัตถุมีคมอะไรอยู่ในหรือนอกเรือ หรือในน้ำ ที่ส่งผลทำให้เกิดบาดแผลในลักษณะนั้นได้ และ เกิดในขณะที่เธอยังมีชีวิตและลมหายใจ

ในชั้นแรก ผู้คนต่างสันนิษฐานกันว่า น่าจะเกิดจากใบพัดเรือหรือไม่ก็หางเสือเข้ากระทบในทันทีที่เสียหลักตกลงไป

ส่วน ตำแหน่งที่ตก จากท้ายเรือ จะมีโอกาสโดนหางเสือเรือใต้น้ำเกิดแผลเช่นนั้นได้หรือไม่ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ ไม่มีใครกล้าสรุปอย่างแน่ชัดเช่นกัน?

แต่พลันที่มีการตรวจชันสูตรศพครั้งที่สองตามคำร้องของผู้เป็นแม่โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีกรรมการจากหลายฝ่ายร่วมรับรู้เป็นพยาน  รวมทั้ง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่งนี้ด้วย

กลับทำให้สังคมได้ทราบว่า บนร่างของน้องแตงโมมีรอยกระทบกับของแข็งทั้งเกิดเป็นรอยช้ำและบาดแผลเล็กใหญ่นับได้ถึง 22 จุด

ซึ่ง เป็นข้อมูลที่ประชาชนไม่เคยได้รับรู้มาก่อนจากสถาบันนิติเวชตำรวจเลย และไม่ทราบว่าเป็นแผลในลักษณะใดบ้าง

เนื่องจากรายงานข้อเท็จจริงในการสอบสวนทุกอย่างถูกตำรวจผู้ใหญ่ “มั่วนิ่ม” ว่า “เป็นความลับทางราชการ” จนหมดสิ้น!

ซึ่งถ้ายังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า บาดแผลทั้ง 22 จุดบนร่างกาย โดยเฉพาะแผลขนาดใหญ่สองตำแหน่ง เกิดจากอะไร หากไม่ใช่ใบพัดหรือหางเสือเรือ?

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ก็คงยังไม่สามารถสรุปตามกฎหมายได้ว่า พฤติการณ์ที่ตาย หรือเหตุที่ทำให้เธอตกเรือไปจนกระทั่งจมน้ำตาย

เกิดจาก อุบัติเหตุ หรือ ถูกประทุษร้าย รูปแบบหนึ่งแบบใด

ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลวนลาม หรือใส่สารบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาไปในเครื่องดื่มเตรียมไว้

ปัญหาสำคัญเหล่านี้ที่ตำรวจไม่สามารถตอบให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างมั่นใจ ก็เพราะการที่ไม่ได้ สั่งอายัด เรือไว้ทันที  เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

รวมทั้งการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายก็ได้กระทำหลังเวลาล่วงเลยไปในวันรุ่งขึ้น และพบว่า ไม่มีใครดื่มไวน์หรือเหล้าจนเมาแม้แต่คนเดียว!

นอกจากนั้น พฤติกรรมของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ในการสั่งไปยังสถานีตำรวจอำเภอเมืองนนทบุรี ให้แจ้ง คุณเอกพันธ์  บรรลือฤทธิ์ ที่กำลังนำศพไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้แพทย์นิติเวชตรวจตามปกติ

ให้เลี้ยวกลับทั้งขบวนไปส่งที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้ ตำรวจแพทย์ ทำการตรวจชันสูตรแทน เพื่อความมั่นใจ!

ส่งผลทำให้รายงานที่ออกมา ประชาชนไม่เชื่อถือเชื่อมั่น

จนกระทั่งต้องมีการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ใหม่เป็นครั้งที่สองโดยแพทย์นิติเวช สถาบันนิติเวชฯ รพ.ธรรมศาสตร์  ที่ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ยอมให้คุณเอกพันธุ์นำไปส่งแต่แรกนั่นเอง!

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2565