ถูกตำรวจยัดข้อหา จับพิมพ์มือประชาชนปฏิเสธได้หรือไม่?

ถูกตำรวจยัดข้อหา จับพิมพ์มือประชาชนปฏิเสธได้หรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                         ถูกตำรวจยัดข้อหา จับพิมพ์มือประชาชนปฏิเสธได้หรือไม่?

 

                                                                                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ปัญหาคดีบอสขณะนี้ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบคนใดออกมาอธิบายให้ชัดเจนว่า การดำเนิน คดีอาญา กับ แก๊ง สนช. ตำรวจ อัยการ และทนายความ รวมทั้งหมด 8 คน ที่ สุมหัวกัน ใน ห้องเปลี่ยนความเร็ว สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน!

ปรึกษาแนะนำกันให้สร้างพยานหลักฐานเท็จลดความเร็วของรถเพื่อช่วยให้บอสรอดคดี  

ตามที่นายกรัฐมนตรีส่งรายงานของ ดร.วิชา มหาคุณ ไปให้ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะ เลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการ และส่งต่อไปให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญากับทุกคนตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ

ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าขั้นตอนต่อไปของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการเริ่มสอบสวน ออกหมายเรียก บุคคลเหล่านี้มาแจ้งข้อหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด?

หลักฐานที่สำคัญและมีความชัดเจนอยู่ในตัวก็คือ คลิปเสียงการสนทนา ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์  2559   ระหว่าง พล.ต.อ.นอกราชการที่เคยบอกว่าไม่เกี่ยวข้อง กับอัยการ ช. พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ และนายพลตำรวจอีกสองคน  ที่ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์แอบบันทึกไว้และนำไปมอบให้กับ ดร.วิชา

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการอย่างไรกับตำรวจผู้ตรวจสอบตามคำสั่งของท่าน ที่สรุปผลออกมาเหมือน หนังคนละม้วน กับของ ดร.วิชา

ควรแจ้งให้ประชาชนทราบด้วย

อีกเรื่องหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของไทยซึ่งผู้มีอำนาจมักพูดว่า ถ้าประชาชนไม่ได้กระทำผิดอะไร แม้มีใครไปแจ้งความให้ดำเนินคดี ก็ไม่ต้องกลัว

เพราะตำรวจจะสอบสวนให้ความเป็นธรรมตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 131 บัญญัติไว้ คือ

“ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

หรือหากแม้ว่า ถูกตำรวจแกล้ง ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ โดยปราศจากพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้อัยการสั่งฟ้องด้วยความมั่นใจได้

เรียกว่า จับไปก่อนแล้วค่อยหาหลักฐานการกระทำผิดภายหลัง

หรือแม้กระทั่ง ไม่ยอมรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

ก็ยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการผู้รับผิดชอบให้สั่งสอบเพิ่มเติมเมื่อส่งสำนวนให้ไปแล้วได้

แต่ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ที่ยากจนหรือ แม้เป็นคนรวยแต่ไร้อำนาจ และแม้กระทั่งชาวต่างชาติต่างหวาดกลัวต่อระบบการสอบสวนคดีอาญาของไทยอย่างยิ่ง

ไม่มีใครมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ถูกออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา  ถูกออกหมายจับ หรือถูกอัยการฟ้องคดีต่อศาลให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้!                   

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัยการส่วนใหญ่ไม่อยากมีปัญหาเรื่องที่ ผู้บัญชาการตำรวจภาคมีอำนาจทำความแย้งตามประกาศ คสช.ที่ 115/2557 ที่เดิมเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด 

แม้หลายคดี ผบช.จะมีความเห็นแย้งแบบมั่วๆ ตามที่ ผกก.สอบสวนพยายามเสนอตามที่ถูกสั่งกำชับไว้ เพื่อสร้างผลงานแย้งส่งให้อัยการสูงสุดวินิจฉัย แต่ก็จะก่อให้เกิดคำถามและปัญหาต่ออัยการผู้สั่งไม่ฟ้องตามมา

ส่วนใหญ่จึงมักโยนภาระในการ พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ของผู้ต้องหาให้ไปว่ากันในชั้นศาลแทนดีกว่า!

และแม้นว่าสุดท้ายศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ซึ่งอาจต้องรอคอยนานหลายปี หรือหลายคดีใช้เวลากว่าครึ่งทศวรรษ! สิ่งที่จำเลยต้องสูญเสียไปมากมายแม้ว่าหลายคนจะได้รับการประกันตัวไม่ ถูกคุมขังตีตรวน เหมือนบางคนก็คือ ชื่อเสียงการงาน เสียเวลา เสียเงินค่าทนายและค่าใช้จ่ายสารพัด รวมทั้งเสียสุขภาพจิตกันไปทั้งครอบครัว                      

ประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งชาวต่างชาติจึงหวาดกลัวต่อการตกเป็นผู้ต้องหาและไม่พร้อมต่อสู้คดีอาญา แม้ตนจะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย อะไร?

เพราะในวิธีปฏิบัติทันทีที่บุคคลถูกแจ้งข้อหาไม่ว่าจะมาตามหมายเรียก หรือถูกจับตามหมายศาลใน คดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปีขึ้นไปอย่างไม่รู้ตัว ก็คือ

การถูกสั่งให้พิมพ์มือเพื่อบันทึกและตรวจประวัติอาชญากรรม 

ที่ทำโดย กองทะเบียนประวัติอาชญากร!

แค่ชื่อหน่วยงาน ก็เป็นการประจานผู้ถูกกล่าวหาแต่แรกแล้ว!                     

ปัจจุบันรัฐมีวิธีตรวจสอบประวัติการกระทำผิดของประชาชนทุกคนได้แสนง่ายด้วยข้อมูลในระบบ Polis โดยไม่จำเป็นต้อง นำตัวไปพิมพ์มือด้วยหมึกดำหน้าห้องขัง ให้บุคคลซึ่งเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาทั้งหญิงชายเกิดความหวั่นไหวแต่อย่างใด

ฉะนั้น การสั่งให้ผู้ต้องหาทุกคนพิมพ์มือโดยอ้างว่าเพื่อการตรวจประวัติอาชญากรรม จึงไม่มีความจำเป็นเช่นเดิมอีกต่อไป

วัตถุประสงค์ของ ป.วิ อาญา มาตรา 132 (1) ที่ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลายเท้านั้น

ก็เพื่อประโยชน์ในการนำไปเปรียบเทียบกับหลักฐานของคนร้ายที่ปรากฏในที่เกิดเหตุเป็นสำคัญ

ฉะนั้น กฎหมายจึงกำหนดโทษบุคคลผู้ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งตามกฎหมายโดยไว้ในมาตรา 368 ว่า

“ผู้ใดทราบคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวันหรือ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท” (ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2558 เป็นปรับ ไม่เกินห้าพันบาท)

ตำรวจผู้ใหญ่คิดว่า โทษอาญาสำหรับผู้ต้องหาที่ไม่ยอมพิมพ์มือนั้นน้อยเกินไป และก่อให้เกิดปัญหาประชาชน ยอมถูกแจ้งข้อหาและจ่ายค่าปรับ แต่ว่าไม่ยอมรับการพิมพ์มือเพื่อบันทึกและตรวจประวัติอาชญากรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ใน ปี 2549 ที่เกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจ จึงได้ ฉวยโอกาส เสนอหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ให้ออกประกาศ ฉบับที่ 25 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 เพิ่มโทษจำคุก เป็นหกเดือน!

ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องยอมจำนน เนื่องจากหากต่อสู้คดีไป อาจถูกศาลพิพากษาจำคุกนานหลายเดือนได้

อย่างไรก็ตาม ประกาศ คมช.ฉบับนี้ในที่สุดได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 27 ก.พ.62 (ฉบับที่ 2/2562) ตามที่นายรังสิมันต์ โรม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงปทุมวันขอให้พิจารณาในกรณีที่ตกเป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ยอมทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในการพิมพ์มือว่า ประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง (สิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคล) จะนำมาใช้บังคับกับประชาชนมิได้

แต่ตำรวจไทยก็ยังคงเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ไม่ยอมพิมพ์มือฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญาที่มีโทษปรับไม่เกินห้าพันเช่นเดิม ไม่ว่าการสั่งให้พิมพ์นั้น จะเป็นการทำเพื่อไปเปรียบเทียบกับคนร้าย หรือใช้ในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบการฟ้องเพิ่มโทษ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า สุดท้ายอัยการจะสั่งฟ้องคดีตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาหรือไม่ก็ตาม?

ประวัติอาชญากรรมนั้น เมื่อถูกบันทึกแล้ว จะเป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในระบบราชการอยู่ตลอดไปไม่ว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถือเป็นมลทินมัวหมองของผู้ถูกบันทึกไป ตลอดชีวิต

เนื่องจากส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษาว่า “คดีมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยไป” ตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 227 บัญญัติไว้

ไม่มีศาลไหนยืนยันว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ที่จะทำให้มีสิทธิได้รับเงิน ค่าติดคุก ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนจำเลยคดีอาญาหากว่าได้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีแต่อย่างใด

การถูกพิมพ์มือของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจึงเป็นเรื่องใหญ่ในความรู้สึกของบุคคลผู้ไม่ได้กระทำผิด เนื่องจากจะทำให้มีประวัติอาชญากรรม เป็นมลทินติดตัวไปจนตาย!

คนหนุ่มสาวจบการศึกษาไปสมัครงานที่ไหน บริษัทห้างร้านเห็นประวัติแล้ว ก็ไม่รับเข้าทำงานง่ายๆ

ในประเทศที่เจริญ การแจ้งข้อหาประชาชน รัฐจึงไม่ได้ปล่อยให้ตำรวจกระทำกันแบบ “มักง่าย เหมือนประเทศไทย! 

โดยกำหนดให้อัยการเป็นผู้ตรวจพยานหลักฐานก่อนการ ออกหมายเรียก หรือ เสนอศาลออกหมายจับ” ในทุกกรณี

หนทางต่อสู้ ไม่ยอมพิมพ์มือ ของประชาชนผู้ถูกแจ้งข้อหาอย่างมั่วๆ ไม่เป็นธรรมขณะนี้ก็คือ

ต้องโต้แย้งว่า ถ้าเป็นกรณีเพื่อตรวจประวัติอาชญากรรม ขอปฏิเสธ ด้วย เหตุผล ว่าสามารถตรวจสอบด้วยวิธีอื่นได้ และ ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนให้ไปใช้ตรวจสอบแทน

หรือหากใครบอกว่ายังผิดมาตรา 368 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี

ประชาชนผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาก็ต้องบอกว่า ไม่ขอให้การอะไรในชั้นสอบสวน แต่จะขอ ให้การในชั้นอัยการ เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องแทน

หรือแม้สุดท้ายอัยการจะสั่งฟ้อง ก็ต้องลองสู้คดีถึงศาลฎีกาให้วินิจฉัยเป็นที่สุด.  

ถูกตำรวจยัดข้อหา
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 14 ก.ย. 2563