วงเสวนาวิกฤติตำรวจชี้เป็น’มะเร็งแห่งชาติ’ตัวแทนพรรคการเมืองหนุนเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประชาชน กระจายอำนาจสอบ เผยพงส.ฆ่าตัวตายเพราะอำนาจเป็นพิษ

วงเสวนาวิกฤติตำรวจชี้เป็น’มะเร็งแห่งชาติ’ตัวแทนพรรคการเมืองหนุนเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประชาชน กระจายอำนาจสอบ เผยพงส.ฆ่าตัวตายเพราะอำนาจเป็นพิษ

วงเสวนาวิกฤติตำรวจชี้  เป็น “มะเร็งแห่งชาติ” ขั้นโคม่า  ตัวแทนพรรคการเมืองหนุนเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประชาชน ตำรวจขึ้นกับจังหวัด ประชาชนตรวจสอบควบคุม  กระจายอำนาจสอบสวน อัยการต้องตรวจที่เกิดเหตุสั่งสอบสวนคดีสำคัญ   ด้าน พปชร. อ้าง นายกฯ ดึงเรื่องไว้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ “ต้องรอบคอบ” ฟุ้ง แต่งตั้งโยกย้าย “สุดละมุน” ไม่มีซื้อขายเก้าอี้?  “วิรุตม์” ระบุ 3 เดือน พงส.ยิงตัวตาย 4 คน แต่ไม่มีใครพูดอะไรเลยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร?  ปัญหาสำคัญไม่ใช่เงินไม่พอ  แต่แต่งตั้งให้ไปทำงานที่ไม่ถนัด บางคนทำไม่ได้  ซ้ำไร้อนาคต หากพลาดเสี่ยงผิดกฎหมายถูกไล่ออก ติดคุก!  เชื่อ ถ้าร่างกฎหมาย 3 ฉบับผ่าน แก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการเสวนา เรื่อง วิกฤติกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)  พรรคการเมืองจะปฏิรูปให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไร?”  จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.), เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  โดยนายสุภาพ  คลี่ขจาย เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

นายกษิต  ภิรมย์  อดีต รมว.การต่างประเทศ  กล่าวว่า  เรื่องตำรวจขณะนี้กำลังเป็น “มะเร็งแห่งชาติ”  ถือเป็น “รัฐซ้อนรัฐ”  เราต้องตัดสินใจร่วมกันดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติ  ร่วมมือกันทั้งในและนอกสภาปฏิรูปให้ได้ในยุคนี้  อย่าฝากผีฝากไข้ไว้กับพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เพราะประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปมานาน  แต่ท่านก็ไม่ดำเนินการเสียที  ปัจจุบันประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยกับตำรวจเลย

 

“ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น  ตำรวจแต่ละสถานีขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ดังนั้น สิ่งที่เสนอก็คือ  1. ต้องกระจายอำนาจตำรวจให้อยู่กับจังหวัด  เพื่อให้การตัดสินใจสอดคล้องกับพื้นที่และแก้ปัญหาต่างๆ อย่างทันท่วงที  3. ตำรวจต้องไม่มาจากโรงเรียนเตรียมทหาร  เพราะนำหลักคิดแบบทหารมาใช้กับงานตำรวจไม่ได้  และต้อง  “ยกเลิกโรงเรียนนายร้อยตำรวจ”  นายกษิต กล่าว

วิกฤติตำรวจ
วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการ สป.ยธ. กล่าวว่า  ปัญหาตำรวจขณะนี้  ถือว่าอยู่ในอาการหนักมาก  ทั้งตำรวจผู้น้อยเองและประชาชนเดือดร้อนกันแสนสาหัส        ที่ผ่านมา 3 เดือน มีพนักงานสอบสวนยิงตัวตายไป 4คน แต่ไม่มีใครพูดอะไรเลยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร?  ประเทศที่เจริญแล้ว อัยการล้วนแต่มีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญทั้งสิ้น  ตำรวจยัดข้อหาหรือล้มคดีไม่ได้

อย่างคดี “น้องลัลลาเบล”  เกิดขึ้น แต่อัยการไม่มีส่วนรู้เรื่องอะไรด้วยเลย  ได้แต่นั่งรออ่านสำนวนการสอบสวนอย่างเดียว  หลายคดีก็เป็น  “นิยายสอบสวน”  ตำรวจจะสอบแต่งเติมพยานหลักฐานเพื่อยัดข้อหา หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานกันอย่างไรก็ได้  เพราะไม่มีใครรู้เห็นหรือตรวจสอบระหว่างสอบสวนเลย!

ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง  เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี้  แต่ก่อนไม่ถึงขนาดนี้  เพราะใช้อาวุโสเป็นหลักในการพิจารณา  แต่มีบางคนไปเปลี่ยนแปลงเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นมากขึ้น   จากการเข้าแถวตอนแต่งตั้งโยกย้ายตามอาวุโส  กลายเป็นการ “เข้าแถวหน้ากระดาน”  ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน  ไม่มีคนก่อนหลัง   เกิดการวิ่งเต้น วิ่งไปวิ่งมา ก็เสนอโน่นนี่  กลายเป็นการซื้อขาย  การเซ้งตำแหน่ง หรือจ่ายค่าเช่าในรูปการส่งส่วย!

สิ่งที่ตำรวจไทยกลัวที่สุดคือการแต่งตั้งโยกย้าย  เพราะผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งย้ายแบบทำลายชีวิตราชการและครอบครัวให้ล่มสลายได้  ข้ามจังหวัดข้ามภูมิภาคไปอย่างไร้อนาคต  การแก้ปัญหาตำรวจต้องสังกัดจังหวัด  เจริญเติบโตในจังหวัด  ผู้ว่าฯ ต้องมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุม  แต่ปัจจุบันตำรวจกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด  ไม่มีใครควบคุมอะไรได้เลย  ไม่ว่าประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน  ผู้ว่าฯ ก็ตรวจสอบหรือควบคุมการทำงานแก้ปัญหาให้ไม่ได้แท้จริง

“ตอนนี้ นายกฯ กำลังสั่งให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ร.บ.การสอบสวน และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา หากผ่านตามนี้ จะแก้ปัญหาตำรวจและการสอบสวนไปได้ครึ่งหนึ่ง  การให้อัยการมีอำนาจ “ตรวจสอบการสอบสวน” เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่ “ร่วมสอบสวน”  เป็นการวางยาของบางคนให้อัยการตรวจสอบไม่ได้จริง    อัยการต้องเข้าไปคดีสำคัญ ไม่ใช่ทุกคดี  เช่นคดีฆ่าคนตาย อัยการ ฝ่ายปกครองนายอำเภอ ต้องตรวจที่เกิดเหตุเห็นพยานหลักฐานพร้อมตำรวจ  ทำให้สอบสวนทำลายพยานหลักฐานล้มคดีไม่ได้  สอบแล้วฉีกทิ้งพิมพ์ใหม่ไม่ได้เช่นปัจจุบัน”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

วิกฤติตำรวจ
นิกร จำนง

นายนิกร จำนง  ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า ตำรวจที่ดีคือตำรวจที่เมื่อประชาชนเดือดร้อน แล้วมาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ใกล้ชิดประชาชน เพราะฐานมันอยู่ที่ประชาชน  ในร่างทุกฉบับที่ผ่านมา ไม่มีการพูดถึงประชาชนเลย  และก็พูดแต่เรื่องตำรวจชั้นสัญญาบัตร  ประเทศไทยทำผิดมาตั้งแต่ 2475 พอยึดอำนาจทหารวางอำนาจกลับด้าน จากบนลงล่าง แบบทหาร ไม่ได้มองประชาชนเป็นมิตร คนที่ทำสำคัญต้องจากร้อยเวร จากล่างขึ้นบน ไม่ให้นักการเมืองมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้าย ในร่างกฎหมายจะเห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของตำแหน่ง เลื่อนชั้นและเงินเดือน ไม่พูดถึงประชาชนเลย  ตำรวจระดับล่างมีเงินเดือนก็หมด ปลายเดือนก็ไม่มีเงินใช้ ทำให้นายทุกอย่าง พออายุมากก็วิ่งเต้นไม่ไหวต้องถามกันให้ชัดว่าเราจะปฏิรูปอะไร ให้ใคร?  ดังนั้นอย่าปฏิรูปกลับด้าน

 

นายศุภชัย ใจสมุทร  รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ว่า อาชีพที่น่าเห็นใจที่สุดคือตำรวจ  ต้องคอยดูเก้าอี้ตัวเองว่ายังอยู่เหมือนเดิมมั้ย  ผมเคยติดตามคดีเชอรี่แอน เอาหนังสือของสถาบันกฎหมายอาญามาอ่าน สิ่งที่เขาเสนอวันนั้น มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย  วันนี้เรามีคนในเรือนจำอยู่ประมาณ 3.5 แสนคนมีผู้หญิง 6 หมื่นคน 70 เปอร์เซ็นต์เป็นคดียาเสพติด  ถ้าถามเรื่องอำนาจการสอบสวนที่ผมเห็นว่าตำรวจไม่ควรทำหน้าที่สอบสวนฝ่ายเดียว และภารกิจหลักต้องเป็นเรื่องพิทักษ์สันติราษฎร์ ผมเป็นทนายความมีพี่ชายสองคนเป็นอัยการ ทราบว่าเขาเขียนคำฟ้องโดยที่เขาไม่เห็นความจริงอะไรเลย  ที่ตำรวจยิงตัวตายไปสามเดือนสี่คน เพราะตนเองไม่เคยทำงานสอบสวนมาเลย

วิกฤติตำรวจ
ศุภชัย ใจสมุทร

“เห็นด้วยหน้าที่หลักการสอบสวนต้องเป็นของอัยการ แล้วให้ตำรวจทำงานสืบสวนอย่างเดียวคดี ลันลาเบล ควรจะรู้เรื่องหมดแล้ว   สรุปการปฏิรูปตำรวจพรรคภูมิใจไทยเอาด้วย เชื่อว่าทุกพรรคเห็นด้วย ทาง สป.ยธ. ร่างกฎหมายเองได้เลย ไม่ต้องคอย”นายศุภชัย กล่าว

 

นายนิรมาน สุไลมาน กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่  กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเรื่องนี้มันเป็นมะเร็งร้าย วงการตำรวจมันเหมือนรัฐซ้อนรัฐ ผมเป็นกรรมาธิการทหาร แต่เรื่องตำรวจมันน่าสนใจมากๆ แพะในกระบวนการยุติธรรมมันมีมากเหลือเกิน สถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ภายใต้สถานการณ์พิเศษทำให้ชาวบ้านทุกข์ทรมานมาก  ถ้าเป็นแพะแล้ว กระบวนการต้องดำเนินต่อไปหยุดยั้งไม่ได้ มันขมขื่นจริงๆ ผู้กำกับเองก็ยอมรับกับหลายกรณีที่มีการสืบสาวพบว่าจำเลยไมใช่ตัวจริง ต้องให้เรื่องไปที่ศาลให้ถึงที่สุดก่อน ตำรวจจะไม่ยอมกลับลำ  และอัยการก็ยังฟ้องต่อไปเพราะกลับลำก็จะถูกตั้งคำถามว่าไปจับเขามาทำไม มันต้องมีการถ่วงดุลกัน ไม่ใช่นึกจะจับใคร ใส่ร้ายใคร ก็ไปจับมาตบทรัพย์ จนประชาชนกลัวมากๆ เป็นอย่างนี้มาตลอด มันถึงเวลาต้องสังคายนากันครั้งใหญ่

วิกฤติตำรวจ
นิรมาน สุไลมาน

“ที่มาเลเซีย เวลาผลไปละหมาด ผมจะเห็นตำรวจไปละหมาดข้างๆผ แล้วที่เมืองไทยเราเข้าวัดแต่ไหนมีการขัดเกลาจริยธรรมกันบ้างหรือไม่ มันเป็นเรื่องยึดถือปฏิบัติมาจนตำรวจดีๆอึดอัดกันไปหมด  อาชีพตำรวจเป็นอาชีพปากกัดตีนถีบ ต้องไปพึ่งพ่อค้าอาชีพสีเทาๆ กันหมดทำไมเราปล่อยให้เด็กและเยาวชนไปเที่ยวผับเที่ยงบาร์กินเหล้า ไม่ช่วยงานที่บ้าน อันที่จริงคนที่จบด้านกฎหมายควรทำงานด้านสอบสวน แต่ทุกวันนี้มันกลับกัน”นายนิรมาน กล่าว

 

นายราเมศ รัตนะเชวง  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวว่า เราไม่มีการดำเนินการเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่กำหนดให้ทำในหนึ่งปีตามรัฐธรรมนูญ  กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้น ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง  ส่วนตำรวจก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน  แต่ยึดถึงความเป็นธรรมก่อน  ถ้าตั้งต้นได้ถูกต้องก็จะดำเนินการไปในทางเดียวกันได้   พี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นครูสอนที่ยะลาเคยมาพบผมและบอกว่าถูกกล่าวหาว่าไปฉ้อโกงทองที่ราชบุรี ขณะที่ผมอยู่ที่ยะลา ถูกแจ้งข้อหาเท็จ ทั้งที่มีหลักฐานหมด พนักงานสอบสวนบอกว่า “คุณไม่ต้องเอามาให้ผม เพราะยังไงผมก็ยังฟ้องอยู่ดี” พนักงานสอบสวนไม่ใส่ใจใยดี

วิกฤติตำรวจ
ราเมศ รัตนะเชวง

“ดังนั้นพรรคการเมืองต้องร่วมกันปฏิรูปตำรวจ และทางพรรคเองก็มีข้อมูลเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านการสังเคราะห์จากภาคประชาชนมาแล้ว  ถ้าครม.ไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หลังจากมีกรรมการพิจารณากฎหมายแล้วจะลงรายละเอียด”นายราเมศ กล่าว

 

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า เชื่อว่านายกฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และฟังอยู่ว่าประชาชนจะได้อะไรจากการปฏิรูป  ถึงได้ตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามา ผมฟังแล้ว ตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายไปแล้ว เราน่าจะจับโครงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาดูว่าจะเพิ่มอะไร ส่วนเรื่องการโยกย้ายซื้อขายตำแหน่ง ตอนนี้นายกฯเข้ามาดูแลแล้ว ตอนนี้ไม่น่าจะมีแล้ว คิดว่าเรื่องการโยกย้ายละมุนมาก เพื่อความโปร่งใสอาจจะมีบ้างในระดับล่างที่ฉกฉวยโอกาสตรงนี้ ส่วนการกระจายอำนาจ ผมคิดว่าถ้ากระจายอำนาจมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมาก เป็นการสร้าง”อสูรตัวใหม่” ขึ้นมา  ในฐานะที่ไม่ได้อยู่ในวงการตำรวจ แต่ผมก็อยากจะเชิญภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมในกรรมาธิการหรืออนุกรรมการด้วย   ที่นายกฯต้องส่งไปส่งมาเพราะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำกันอย่างรอบคอบ

วิกฤติตำรวจ
นิโรธ สุนทรเลขา

ด้านนายราเมศ แย้งว่า  ที่ท่านพูดถึงการกระจายอำนาจนั้น ต้องขอแก้ไขและยืนยันว่านักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชนเขาเห็นว่าการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง พรรคบางพรรคอาจมีแนวคิดที่แตกต่างกัน  ด้านการปฏิรูปตำรวจนั้นควรเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการตนเองที่ขึ้นกับตำรวจในจังหวัด

 

นายนิโรธ  กล่าวว่า ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ไม่เช่นนั้นเราจะสร้างอสูรตัวใหม่

 

จากนั้น นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ อดีตนายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า เราต้องศึกษาเปรียบเทียบกันกับประสบการณ์ต่างประเทศว่าทำอย่างไร  หลังปี 2500 วงการตำรวจโตขึ้นมา เมื่อใดที่ตำรวจโต ทหารก็จะยิ่งต้องโตกว่า ทั้งที่ไม่ทราบว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อมองมหาภาคแล้ว รวมกับประสิทธิภาพ แล้วมันไม่มีตรรกะอะไรที่อธิบายได้   ในต่างประเทศตำรวจที่มลรัฐไหน ก็ทำงานในมลรัฐนั้น ไม่เกี่ยวกัน เราไม่ได้ต้องการให้ตำรวจเล็กลงแต่ต้องการกระจายอำนาจ  เราทำไปๆก็ยิ่งเพิ่มตำแหน่ง ปฏิรูปที่ไรก็เพิ่มเงิน เพิ่มตำแหน่ง จากพลเอกคนเดียวก็เพิ่มเป็นสิบคน  ถ้าตั้งหลักตรงนี้แล้วเราต้องมีความกล้าด้วย

 

นายอภิชาต ไพรรุ่งเรือง  ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่าย 10 สมาคม กล่าวว่า  เราถูกกระทำมาตลอด  เราถูกกระทบอย่างมาก เราเป็นองค์กรต่อต้านการทุจริต แต่ล่าสุดมี พ.ร.บ.จราจรใหม่ออกมาว่าถ้าไม่จ่ายค่าปรับภายในหนึ่งเดือนก็จะไม่ต่อใบขับขี่ให้ทำไมหน่วยงานตำรวจไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลในการาตรวจจับ ทำไมต้องปล่อยให้ประชาชนไปโรงพัก  ทำไมตำรวจมาบอกผมว่าต่อไปนี้ตำรวจจะต้องขอขึ้นราคา ทั้งที่ถนนนี้ตำรวจไม่ได้สร้าง

วิกฤติตำรวจ
สหพันธ์การขนส่งทางบก

“ผมไม่ค้านเรื่องการปรับเงินเดือน ไม่ใช่ปล่อยให้เขาซื้ออุปกรณ์เอง แล้วไปหากินเองข้างนอก สมัยนี้การให้เงินตำรวจเป็นหลักร้อย เงินยี่สิบบาทใช้ไม่ได้แล้วเงิน 1000 บาทที่ปรับไปเข้ารัฐแค่ร้อยบาท ให้เงินรางวัลนำจับมากกว่า ผมเก็บข้อมูลมา 10 กว่าปีในเรื่องการเก็บเงินจากประชาชน  ถ้าเราสามารถใช้เครื่อง electronic มีศาลจราจร แล้วเอาเงินรางวับนำจับเข้ารัฐ ปรับปรุงตำรวจให้ได้ ทุกอย่างเข้าร่องเข้ารอย จะเป็นที่นับถือ ทุกวันนี้ลูกน้องผมไปแจ้งความ ตำรวจไม่รับแจ้ง ผมต้องไปพูดกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่เขาถึงจะรับแจ้ง”นายอภิชาติ กล่าว

 

นายนิกร จำนง กล่าวเสริมว่า  เมื่อนายกฯไปประชุม UN เขาถามว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะลดอุบัติเหตุให้ได้ก่อนปี 2020  ประเทศไทยคนไม่ยอมทำตามกฎระเบียบจราจร เอาใบสั่งไว้ที่ระลึก ผมเลยใช้วิธีการตัดแต้ม และยิงภาพด้วยกล้อง แล้วให้คนขับมาถูกตัดแต้ม  ผมไม่ได้ต้องการเล่นงานรถบรรทุก และยื่นจดหมายไปแล้ว

 

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  มองว่า การปฏิรูปตำรวจ ประชาชนเห็นว่าตำรวจคือผู้มีอิทธิพลกลุ่มหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในอำนาจรัฐ เป็นผู้รักษากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย แต่เมื่อตำรวจมันผิดเพี้ยนมันก็มีปัญหา  เมื่อผมเป็นนายกสมาคมฯ ก็รู้จักคำว่า”ส่วย”ซึ่งเป็นลาบที่ไม่ควรได้ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธากับประชาชน  ประกอบกับทฤษฏีสมประโยชน์ ซึ่งเห็นด้วยว่าต้องอาศัยผู้กล้าเพื่อกำจัดทฤษฏีสมประโยชน์ด้วย   ตำรวจเมื่อใกล้ชิดประชาชนก็ย่อมมีการกระทบแบบลิ้นกับฟัน ซึ่งต้องถามว่าเมื่อปฏิรูปตำรวจแล้ว ประชาชนจะได้อะไรจากการปฏิรูปเราต้องมีการให้แต้มตำรวจด้วยให้แยกแยะตำรวจน้ำดีกับตำรวจเลวให้ได้

 

ผู้เข้าร่วมจากสหพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า เรายื่นหนังสือให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจร ผมไม่ได้ต้องการคัดค้านอะไร แต่ต้องการให้มีการแยกสอบสวนออกมา ให้มีกลไกทำงานที่ชัดเจน  ผู้ประกอบการรถบรรทุกที่มีรถอยู่ในแต่บริษัทนักร้อยคันมีปัญหา และไม่อยากเจอตำรวจ แต่มันต้องโคจรมาเจอตำรวจตลอด  พวกผมไม่ทำผิด ก็ต้องเสียส่วย ต้องจ่ายค่าดูแล  มีการมากวนเดินรอบรถ ให้ยกของลงจากรถอ้างว่าสงสัยยาเสพติด

 

นายกษิต ภิรมย์  กล่าวเสริมว่า เราต้องกำหนดเงินเดือนของตำรวจ และเรื่องการทำงานของสถานีตำรวจ ผมยินดีช่วยเรี่ยไรเงินคนในรอบๆโรงพัก เพื่อให้ตำรวจทำงานกับประชาชนอย่างใกล้ชิด และผมยังเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ไม่ต้องกลัวเรื่องอิทธิพลท้องถิ่น ไม่เช่นนั้นนายกฯก็ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

วิกฤติตำรวจ
วิเชียร ตันศิริคงคล

ด้าน ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  ประธานสป.ยธ. กล่าวว่า อันที่จริงวันนี้ผมอยากได้อะไรที่เป็นเนื้อเป็นหนังจากร่าง พรบ.ต่างๆและร่างแก้ไข ป.วิอาญาซึ่งผ่าน ครม.ไปแล้ว ในฐานะที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว เราไม่ต้องมาศึกษาใหม่แล้ว เพราะเขาศึกษากันมาหมดแล้ว ส่วนประเด็นหลักๆที่อยากจะพูด คือร่างฉบับนี้เขาจะไม่ให้มี ก.ตช.แล้วให้มี ก.ตร. 15 ท่าน ในนี้มีคนใน 12 ท่าน คนนอกแค่ 3 ท่านเท่านั้น ซึ่งควรมาจากภาคประชาชน แต่ใน3คนนี้ก็ยังจะให้มีการเลือกกันเองอีก การเปลี่ยนแปลงก็อาจทำได้ยาก ตำรวจที่ใกล้ชิดประชาชนคือผกก.ไม่ใช่ผู้บัญชาการ เราควรยุติตำแหน่งตำรวจที่ ผบก.จังหวัด ให้ความใฝ่ฝันของตำรวจอยู่ที่ พล.ต.ต.ที่ผู้บังคับการจังหวัด แต่ถ้าน้อยไปให้เป็น ผบช.แต่ไม่มีกองบัญชาการ เหมือนจเรในกลุ่มจังหวัด เรื่องงานสอบสวนร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่ กลับมาเหมือนเดิม สวยแต่ยังไม่ปิ้ง เพราะ มีผู้บัญชาการสอบสวน แต่ยังเป็น รองผบ.ตร. ส่วนผู้กำกับสอบสวน ยังเป็นรองผกก.ในโรงพัก แบบนี้ระบบสั่งการ ยังเป็นแบบเดิม แต่ก็ยังดีกว่าเดิม

 

นายราเมศ   รัตนะเชวง กล่าวว่า เราจะลองผลักดันร่าง พ.ร.บ.สักฉบับไหม  ผมสนใจ ฉบับ ป.วิอาญา ที่ไม่มีใครเสีย มีแต่ได้ประโยชน์  ผบ.ตร.แจ้งจับพ.ต.อ.วิรุตม์ พร้อมนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ สน.ปทุมวัน ขณะที่ตำรวจทำสำนวนสั่งฟ้องเอง ผมเป็นทนายให้ผมเห็นใจท่านมาก จัดมาหลายเวทีแล้ว เรามาลองกฎหมายฉบับนี้ก่อนได้ไหม มาคุยอีกสองสามครั้งก็ดี

 

นายนิกร จำนง  กล่าวเสริมว่า ในพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้มันมีส่วนของประชาชนน้อย  เราควรปรับอีก  เช่นเราควรเอารายได้มากมายมาจ่ายให้ตำรวจพัทยามีการทำงาน 24 ชั่วโมง  และเห็นด้วยกับการให้ตำรวจตำแหน่งสูงสุดไปเป็นตำรวจจังหวัด ส่วนตำแหน่งที่เหนือกว่าจังหวัดค่อยมาพูดกันและใน ก.ตร.ควรมีภาคประชาชนเข้าไปด้วย

 

ช่วงท้าย พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ กล่าวสรุปว่า  การแก้ปัญหาหรือปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นอันดับแรก และก้าวให้พ้น “กับดักความเท็จ” เรื่องเงินน้อย คนไม่พอ  เพราะเป็นเพียงปัญหาปรากฏการณ์  และไม่ใช่สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงแต่อย่างใดอย่างพนักงานสอบสวนยิงตัวตายกันใบไม้ร่วง 3 เดือน 4 คนนั้น ไม่มีใครมีปัญหาเรื่องเงินเลย  เมื่อย้ายไปอยู่กลับมีค่าตอบแทนมากกว่าทุกสายอีกด้วย   แต่เป็นเพราะแต่งตั้งเขาไปโดยที่ไม่มีความพร้อม ไม่ถนัดและไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริงต่างหาก

 

“ปัญหาสำคัญของตำรวจ  คือมีการจัดโครงสร้างและระบบการปกครองบังคับบัญชาและแบบทหาร อย่างการใช้คำว่า  “กองบัญชาการสอบสวน” นั้นก็ผิดแล้ว  เพราะงานสอบสวน บัญชาการไม่ได้  เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม!”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

วิกฤติตำรวจ