‘คดีน้องชมพู่’ สับสนวุ่นวายเพราะการสอบสวนและการฟ้องคดีวิปริตผิดกฎหมาย (ตอนที่ 1)

‘คดีน้องชมพู่’ สับสนวุ่นวายเพราะการสอบสวนและการฟ้องคดีวิปริตผิดกฎหมาย (ตอนที่ 1)

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘คดีน้องชมพู่’ สับสนวุ่นวายเพราะการสอบสวนและการฟ้องคดีวิปริตผิดกฎหมาย (ตอนที่ 1)

 

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายไชย์พล  หรือพล วิภา (จำเลยที่ 1) ต่อศาลจังหวัดมุกดาหารในความผิดอาญาฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย และร่วมกับนางสาวสมพร หรือแต๋น หลาบโพธิ์ (จำเลยที่ 2) กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป (คดีหมายเลขดำที่ 1013/2564)

ในคำฟ้องข้อ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง มีความว่า “จำเลยที่ 1 ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน และจำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ

(ก) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้บังอาจพรากเด็กหญิงอรวรรณ หรือชมพู่ วงศ์ศรีชา อายุ 3 ปีเศษ (เกิดวันที่ 7 มีนาคม 2560) ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากนางสาวิตรี วงศ์ศรีชา ผู้เสียหายที่ 1 และนายอนามัย วงศ์ศรีชา ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและบิดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร

(ข) เมื่อระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2563  เวลากลางวันถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องตลอดมา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ภายหลังจากจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 (ก) แล้ว จำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่า ได้บังอาจนำเด็กหญิงอรวรรณ หรือชมพู่ วงศ์ศรีชา ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปี ไปทอดทิ้ง ณ เขาภูเหล็กไฟเพียงลำพังโดยไม่มีอาหารและน้ำดื่ม เพื่อให้เด็กหญิงอรวรรณพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กหญิงอรวรรณขาดอาหารและน้ำดื่มจนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาของจำเลยที่ 1

(ค) เมื่อระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2563  เวลากลางวันถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด  ภายหลังจากจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 (ก) และ (ข) เป็นเหตุให้เด็กหญิงอรวรรณถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกระทำการเคลื่อนย้ายศพของเด็กหญิงอรวรรณแล้วทำการถอดเสื้อและกางเกงออกจากศพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าเด็กหญิงอรวรรณได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพเด็กหญิงอรวรรณ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

เหตุตามฟ้องข้อ 1 (ก) (ข) และ (ค) เกิดที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และในหน้าแรกของคำฟ้องนั้นมีข้อความปรากฏอยู่ว่า “ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกกตูม ได้ทำการสอบสวนแล้ว”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 บัญญัติไว้ว่า ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้คือ พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหาย

แต่พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาใดต่อศาลได้ คดีนั้นต้องมีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน ดั่งความที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 120 หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าการสอบสวนเป็น “เงื่อนไข” ในการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ

แต่ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องคดีอาญานั้นได้ นอกจากจะต้องมีการสอบสวนแล้ว  ยังจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพและการชันสูตรพลิกศพนั้นต้องเสร็จสิ้นแล้วด้วยตาม มาตรา 129 ที่บัญญัติว่า

“ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จสิ้น ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล”

“ความตายที่เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา” นั้น มิได้หมายถึงแต่เฉพาะความตายที่เกิดจากกระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความตายที่เป็นผลของการกระทำความผิดอาญาในฐานอื่นๆ ด้วย เช่น ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก ตามมาตรา 306 ประกอบกับมาตรา 308

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในกรณีความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา อำนาจการฟ้องคดีของพนักงานอัยการตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 129 แห่ง ป.วิ อาญา

อำนาจฟ้องคดีอาญาใดต่อศาลของพนักงานอัยการ เป็นอำนาจที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 120 หรือ 129 แล้วแต่กรณี ดังนั้น คำฟ้องของพนักงานอัยการต้องแสดงให้ปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า “เงื่อนไข” นั้นได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว กล่าวคือ หากเป็นการฟ้องคดีอาญาทั่วไป ต้องปรากฏข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่า 

“พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว” แต่หากเป็นกรณีความผิดอาญาที่ฟ้องนั้น เป็นกรณีความตายที่เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ก็ต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการสอบสวน รวมทั้งการชันสูตรพลิกศพและการชันสูตรพลิกศพนั้นได้เสร็จแล้วด้วย ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีนั้นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของการฟ้องคดีของพนักงานอัยการนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ศาลและจำเลยต้องทราบ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยได้อย่างหนึ่งกล่าวคือ เมื่อศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างตาม ป.วิ อาญา มาตรา 172 จำเลยอาจให้การปฏิเสธและยกข้อต่อสู้ว่า คดีที่ฟ้องจำเลยนั้น ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการชันสูตรพลิกศพ การชันสูตรพลิกศพนั้นมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ อาญา ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ หรือการชันสูตรพลิกศพนั้นยังไม่เสร็จสิ้น                ฟ้องของพนักงานอัยการตามคดีหมายเลขดำที่ 1013 /2564 ของศาลจังหวัดมุกดาหาร เป็นฟ้องที่มีกรณีความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาอยู่ด้วย แต่คำฟ้องนั้นไม่ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีการชันสูตรพลิกศพและการชันสูตรพลิกศพนั้นได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งศาลอาจสั่งให้พนักงานอัยการแก้ฟ้องให้ถูกต้องได้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับฟ้องตามมาตรา 161

ส่วนประเด็นการทอดทิ้งเด็ก ป.วิ อาญา มาตรา 306 บัญญัติว่า “ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล  ต้องระวางโทษ….

มาตรา 308 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 306 หรือมาตรา 307 เป็นเหตุให้เด็กผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น

…………………….

ป.วิ อาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี

(1)………………

(2)……………..

(3)……………

(4)………………..

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

(6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

คำฟ้องของพนักงานอัยการ (โจทก์) ในคดีดังกล่าว นอกจากจะมิได้กล่าวให้ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขแห่งอำนาจฟ้องตามมาตรา 129 แล้ว ในส่วนเนื้อหาของฟ้องที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ก็ล้วนแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลดังนี้

ข้อ 1 คำฟ้องในข้อ 1 (ก) นั้น เมื่ออ่านแล้ว  ก็ไม่อาจเข้าใจได้เลยว่านางสาวิตรี วงศ์ศรีชา และนายอนามัย วงศ์ศรีชา เป็นผู้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับ ด.ญ.อรวรรณ ในฐานะใดใน 3 ฐานะ ที่ได้กล่าวมาในฟ้องนั้น และการพรากนั้นเป็นการกระทำต่ออำนาจปกครองหรือหน้าที่ในการดูแลเด็กของผู้ดูแล ฟ้องนั้นจึงเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องนายไชย์พล ว่าได้กระทำความผิดทั้งฐาน “พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร” และฐาน “ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล”

ฟ้องดังกล่าว เป็นการฟ้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใดฐานหนึ่งแล้ว ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิดในอีกฐานหนึ่งได้ เป็นคำฟ้องที่อ้างข้อเท็จจริงขัดกันเอง   ถือเป็นคำฟ้องที่มิชอบด้วย ป.วิ อาญา มาตรา 158 (5)

ข้อ 3 บทบัญญัติในมาตรา 306 แห่ง ป.อาญา บัญญัติเพื่อเอาผิดกับบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลเด็กซึ่งมีอายุยังไม่เกินเก้าปี แต่ฟ้องในข้อ 1 (ข) ของโจทก์นั้น ไม่มีข้อความอันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 นั้น เป็นผู้มีหน้าที่ดูแล ด.ญ.อรวรรณ และมีหน้าที่ในฐานะใด (บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล) ฟ้องนั้นจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ อาญา มาตรา 158 (5)

ข้อ 4 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 (ข) นั้น  เมื่ออ่านแล้ว ไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า ความตายของ ด.ญ.อรวรรณนั้น เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานใด ฟ้องนั้นดูเสมือนว่า ด.ญ.อรวรรณ ตายสองครั้ง  ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.

(มีต่อตอนที่ 2 ฉบับวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566)

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 ธ.ค. 2566

ขอบคุณภาพปก : อีจัน