ทำไม สส.จึงขอนายกฯ ให้ช่วยตั้ง ผกก. ‘หัวหน้าพนักงานสอบสวน’ เป็นของตัวเอง

ทำไม สส.จึงขอนายกฯ ให้ช่วยตั้ง ผกก. ‘หัวหน้าพนักงานสอบสวน’ เป็นของตัวเอง

ยุติธรรมวิวัฒน์

ทำไม สส.จึงขอนายกฯ ให้ช่วยตั้ง ผกก. ‘หัวหน้าพนักงานสอบสวน’ เป็นของตัวเอง

 

                                                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ผู้มีอำนาจไม่อยากพูดถึงเพื่อแก้ไขหรือปฏิรูปกันอย่างจริงจังก็คือ  ความยุติธรรม มีทั้งความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีช่องว่างห่างกันมากมาย

หรือแม้แต่ ความยุติธรรมตามกฎหมาย ที่ไม่ควรจะมีการปฏิบัติที่แตกต่างอะไร

แต่ประเทศไทย “รวย” “จน” สิทธิความเป็นคนตามกฎหมายกลับไม่เท่ากัน!

นักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ยกพวกตีกัน หรือแม้กระทั่ง ฆ่ากันตาย เกิดขึ้นทั่วประเทศหลายพื้นที่มาหลายสิบปี

สาเหตุที่แท้จริง ก็เพราะส่วนใหญ่เขา เป็นคนจนที่พึ่งตำรวจผู้รักษากฎหมายไม่ได้!

เมื่อถูกรังแกหากแค่บาดเจ็บ ไม่ถึงตาย ไปแจ้งความตำรวจก็ไม่ได้สนใจสอบสวนดำเนินคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายแต่อย่างใด

การรวมกลุ่มแสวงหาความยุติธรรมด้วยตัวเอง จึงได้เกิดขึ้น

เริ่มจากการใช้กำลังกายและอาวุธเท่าที่สามารถหาได้ รวมสมัครพรรคพวกจัด หน่วยกล้าตาย ไว้เข้าต่อสู้ป้องกันตัวและป้องกันสถาบัน!

รวมไปถึงรอจังหวะ เอาคืน กลุ่มคนที่ สร้างรอยแค้นไว้ให้รุ่นพี่ที่ถูกฆ่าตายไปหลายศพ!

พัฒนาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็น กองกำลังป้องกันตนเอง มีการจัดเวรยาม รักษาความปลอดภัย

ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก องค์กรตำรวจขนาดย่อม ในแต่ละสถานศึกษา

แต่เมื่อเกิดเหตุทำร้ายกันถึงตาย ก็ถูกตำรวจผู้ใหญ่ใส่ความว่าเป็น “องค์กรอาชญากรรม” เป็น “ซ่องโจร” แหล่งมั่วสุมของคนชั่ว

ทั้งๆ ที่ปัญหาเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของตัวเองและองค์กรอย่างไม่อาจปฏิเสธได้!

แม้แต่ เสี่ยแป้ง ซึ่งหลบหนีเรือนจำที่คุมขังไปจนกระทั่งป่านนี้

สุดท้ายได้มีคลิปพูดบอกว่า “หนีออกมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมาย”

แม้ต้องถูกฆ่าตายก็ไม่เป็นไร หากไม่ได้รับความยุติธรรม ก็จะไม่มอบตัว

เพราะการกระทำผิดที่ตนได้รับโทษอยู่ มีผู้ร่วมกระทำมากมาย ทั้งตำรวจ อัยการ ผู้เป็นตัวการสั่งใช้วาน!

แต่การสอบสวนดำเนินคดีกับคนเหล่านี้กลับไปไม่ถึงศาล?

เพราะอัยการจังหวัดตรวจสำนวนที่หัวหน้าพนักงานสอบสวน เสนอให้สั่งฟ้อง แล้วสรุปว่า

พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง!

จึง สั่งไม่ฟ้องอัยการและตำรวจผู้ร่วมกระทำผิดทุกคน เว้นเฉพาะ “เสี่ยแป้ง” ที่ได้สั่งฟ้องไป

ผู้บัญชาการตำรวจภาค” ก็เห็นด้วยว่าหลักฐานไม่พอฟ้องตามการวินิจฉัยของอัยการ จึงไม่ได้ทำความเห็นแย้งอะไร

ข้อกล่าวหาว่ามีอัยการเป็นผู้ใช้วานและตำรวจผู้เกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดทุกคนเป็นอันสิ้นสุดลงตามกฎหมาย

แต่การสอบสวนดำเนินคดีใหม่ยังสามารถทำได้ตามที่ มาตรา 147 บัญญัติไว้คือ ได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้

ถ้า “เสี่ยแป้ง” ซึ่งขณะนี้ถือเป็น “ประจักษ์พยาน” ปากคำสำคัญ ไม่ถูกฆ่าตายภายใต้เหตุผลในสำนวนการสอบสวนว่าเป็น “วิสามัญฆาตกรรม”!

การหาพยานหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดีตามที่ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้ ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

แต่ต้องเริ่มจาก “ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องการให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริงเป็นลำดับแรก

เรื่องพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาที่ปรากฏในสำนวนสอบสวน กับข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่และประชาชนรับรู้ เป็นคนละเรื่องกัน

เป็นปัญหาความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน

อัยการไทยจะสั่งฟ้องใคร ก็ล้วนแต่ต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนของตำรวจทั้งสิ้น

แท้จริง ตำรวจจึงเป็นผู้กำหนด ว่ารัฐจะดำเนินคดีอาญากับใคร และจะทำให้อัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องใครก็ได้!

ตำรวจไทย” จึงเป็นเจ้าพนักงานรัฐที่มีอำนาจมาก ซึ่งทุกคนอยากได้ตำรวจที่เป็นพวกตัวเองมาเป็น “หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานี” ในพื้นที่

นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้ไปพูดในที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับ การแต่งตั้งผู้กำกับตำรวจใหม่ ว่า

“ในห้องนี้มีการขอกันมาเยอะเหลือเกิน  จึงมีคนผิดหวังมากกว่าที่สมหวัง”

คำพูดที่ชัดเจนเช่นนี้ วิญญูชนทุกคนที่ได้ยิน ก็เข้าใจตรงกันว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้กำกับตำรวจ ที่ สส.ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยดำเนินการ

แต่ปัญหาก็คือ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (3)

ที่บัญญัติ “ห้ามมิให้ สส. และ สว.กระทำการอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ก็มีมาตรา 186 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้กระทำเช่นเดียวกัน

การฝ่าฝืนถือว่าเป็นการทำผิดมาตรฐานจริยธรรมตามที่กำหนดไว้

ไม่ว่า นายเศรษฐา และ สส.พรรคเพื่อไทย จะพยายามอธิบายไปข้างๆ คูๆ อย่างไรว่า เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ สส.ขอให้ช่วยแต่งตั้งผู้กำกับตำรวจอะไร

ถ้ามั่นใจในเจตนาและพยานหลักฐาน ก็ต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการตำรวจ และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐในวันที่ 7 ธ.ค.66 ที่จะถึงนี้ให้เข้าใจ

รวมทั้งในกรณีที่มีคนไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้วินิจฉัยว่าเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่จะได้มีนัดหมายให้ชี้แจงด้วย.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2566