‘ตำรวจสวนสนาม’ กล่าว ‘คำสัตย์ปฏิญาณ’ ทุกปี พิธีกรรม ‘ตำรวจตลก’

‘ตำรวจสวนสนาม’ กล่าว ‘คำสัตย์ปฏิญาณ’ ทุกปี พิธีกรรม ‘ตำรวจตลก’

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘ตำรวจสวนสนาม’ กล่าว ‘คำสัตย์ปฏิญาณ’ ทุกปี พิธีกรรม ‘ตำรวจตลก’

 

                                                                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาวิกฤตตำรวจไทย ในยุคที่ นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ คงไม่มีความหวังให้ใครได้เห็น การปฏิรูป หรือ สังคายนา

หรือแม้แต่การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการแต่อย่างใด

เพราะเขาไม่เข้าใจว่าปัญหาตำรวจไทยแท้จริงคืออะไร อยู่ตรงไหน และจะแก้ไข สังคายนา หรือปฏิรูปอย่างไร?

ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ปัจจุบันประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาตำรวจกันแสนสาหัสเพียงใด!

นายเศรษฐา และ ผบ.ตร.ต่อศักดิ์ รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมคือการกระทำผิดอาญา ไม่สามารถไปแจ้งความ ร้องทุกข์ ให้พนักงานสอบสวนทั้งสถานีพื้นที่หรือตำรวจหน่วยใดให้ดำเนินคดีเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายได้ง่ายๆ!

พนักงานสอบสวน แทบทุกคน จะใช้วิธี ลงบันทึกประจำวันว่า รับทราบการกระทำผิดอาญาตามที่ประชาชนมาแจ้งและจะได้ดำเนินการต่อไป….ต่อไป และ…ต่อไป…….

โดยพวกเขาจะไม่ทำหลักฐาน เลขคดีอาญา ปรากฏไว้ในสารบบตำรวจให้ใครสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะ พนักงานอัยการ

เพราะการรับแจ้งความโดยมีเลขคดี ป.วิ อาญา บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องดำเนินการ สอบสวนโดยมิชักช้า ตามมาตรา 130

และต้องสรุปการสอบสวนส่งสำนวนส่งให้อัยการสั่ง ฟ้อง ไม่ฟ้อง ให้สอบสวนเพิ่มเติม หรือ งดสอบสวน ในกรณีที่หมดปัญญาและความสามารถในการสืบสอบให้รู้ตัวผู้กระทำผิดจริงๆ

ปัจจุบันผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ไปแจ้งความ แทบทุกคนจึงได้แต่บันทึกประจำวันเป็นหลักฐานถือกลับบ้านกันไปคนละแผ่น!

โดยพนักงานสอบสวนรอดูท่าทีว่าจะมีการไปร้องเรียนที่ไหน หรือใครนำไปรายงานข่าวออกรายการทางสื่อใหญ่ช่องหนึ่งช่องใดหรือไม่?

เป็นวิธี ประวิงการสอบสวน หรือ ล้มคดี ของตำรวจไทยอย่างได้ผลดีที่สุด

หลอกประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ กันตลอดมา

ทำให้สังคมไทยเกิดปัญหา อาชญากรรม ทำลายความสงบเรียบร้อยขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ฉ้อโกงออนไลน์

เพราะคนร้ายแน่ใจว่าตำรวจไทยจะไม่ทำอะไร ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นคนยากจนหรือคนส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสาย และทุกคนก็คงเบื่อหน่ายที่จะไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งสถานีหรือแม้แต่หน่วยที่เรียกกันโก้เก๋ว่า

“บช.ไซเบอร์”

มีเรื่องมีคดีอะไร หากมีเงิน ส่วนมากก็สามารถ เคลียร์ได้ เอาเงินฟาดหัวทั้งผู้เสียหายและ ตำรวจผู้ใหญ่

ชาวต่างชาติที่มีเงินจึงพูดว่า การทำผิดอาญาในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร

เมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยได้เห็นการแสดงแสนยานุภาพของตำรวจหลายหน่วย

บางแห่งได้จัดให้มี การตรวจพลสวนสนาม แสดงพลังทั้งกำลังคนและอาวุธ

พร้อม ให้ตำรวจกล่าวคำปฏิญาณเสียงดัง มีใจความหลักว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”!

กิจกรรมการสวนสนามนั้น ปกติเป็นวัฒนธรรมและพิธีกรรมของหน่วยทหารที่รัฐจัดงบประมาณไว้เพื่อการรบ จัดองค์กรเป็นหมู่ หมวด กองร้อย กองพัน และกองพล

เป็นพิธีที่จัดให้ ทหารผู้ผ่านการฝึกใหม่ ได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำหน่วยทหาร ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น บางช่วงเวลาก็อาจจำเป็นต้องมีการตรวจกำลังคนและยุทโธปกรณ์ดูว่า แต่ละกองร้อย กองพันและกองพลมีความพร้อมรบ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งมากน้อยเพียงใด

ส่วน องค์กรตำรวจเป็น “งานพลเรือน” ในฐานะ “เจ้าพนักงานยุติธรรม”

มีหน้าที่รักษากฎหมายทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย

การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยตำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้แบ่งเป็นหมู่ หมวด กองร้อย กองพัน และกองพล ที่จะต้องมีการตรวจพลสวนสนามเป็นกองร้อยและกองพันแสดงความพร้อมรบกันเหมือนทหาร

หากแต่ทุกคนผู้มีหน้าที่ จะต้องมีอิสระและวิจารณญาณในการสืบสวนตรวจตราและจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า

โดยไม่จำเป็นต้องฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาทั้งชอบและมิชอบด้วยกฎหมายให้เสียเวลากันเช่นปัจจุบันแต่อย่างใด

ฉะนั้น ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลที่ชอบจัดกิจกรรมให้ตำรวจเข้าแถวเดินตรวจพลสวนสนาม

ถือเป็นการทำให้เกิดความสูญเสียเงินงบประมาณและความเดือดร้อนวุ่นวายกับตำรวจผู้ปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็น

ยิ่งการบังคับให้ตำรวจทุกคน กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตน ที่กระทำกัน ทุกปี

นับเป็นเรื่อง “ตลก”

เพราะการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณไม่ว่าต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ต้องกระทำกันก่อนผู้นั้นเข้าปฏิบัติหน้าที่

เช่นกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามที่กำหนดไว้

ถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งเดียว

และเมื่อใครได้กล่าวถวายไปแล้ว ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติและรักษาคำสัตย์คำปฏิญาณนั้น

ไม่ใช่การปฏิบัติในองค์กรตำรวจที่ให้ตำรวจผู้น้อยกล่าว คำสัตย์ปฏิญาณซ้ำซาก กันทุกปี

โดยที่ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล ก็ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง

ทำให้สิ่งที่ถือเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

กลายเป็น เรื่องตลก ไปในสายตาของประชาชน.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 30 ต.ค. 2566