เปิดผับบาร์ ‘ตีสี่’ มีแต่ ‘ฝรั่งขี้เมา’ ‘คนร้าย’ ใช้บริการ ‘อุบัติเหตุ’ ‘อาชญากรรม’ พุ่ง

เปิดผับบาร์ ‘ตีสี่’ มีแต่ ‘ฝรั่งขี้เมา’ ‘คนร้าย’ ใช้บริการ ‘อุบัติเหตุ’ ‘อาชญากรรม’ พุ่ง

ยุติธรรมวิวัฒน์

เปิดผับบาร์ ตีสี่มีแต่ ฝรั่งขี้เมา‘ ‘คนร้ายใช้บริการ อุบัติเหตุ‘ ‘อาชญากรรมพุ่ง

 

                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ขณะนี้ รัฐบาลนายเศรษฐากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ว่าจะสามารถ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนผู้ มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ตามที่ “พรรคเพื่อไทย”โฆษณาหาเสียงโขมงโฉงเฉงไว้เพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่?

เพราะนอกจากจะมีปัญหาสำคัญเรื่องขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

ประเด็นเรื่อง มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองทั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งหวังว่าจะได้ความนิยมอีกครั้งเมื่อครบสี่ปีและมีการเลือกตั้งใหญ่

คงไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า พรรคเพื่อไทย มีเจตนาเช่นนั้นจริงเพียงใด

ที่สำคัญคือ เป็นกรณีเข้าข่าย อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว หรือไม่?

แต่เมื่อ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันและอดีต รวมทั้งอาจารย์และนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการคลัง นับร้อยคน

ทำหนังสือเป็นหลักฐาน และมีการแสดงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนั้นได้

ก็คงไม่มีใครในประเทศนี้ที่จะสามารถเชื่อถือความเห็นได้เท่าผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ และอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเหล่านี้อีกแล้ว

การตัดสินใจแจกเงินตามนโยบายหาเสียงของ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายเศรษฐาทุกคน จึง “มีความเสี่ยงสูง” ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่สำคัญของชาติ

เป็นเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจต้องทำหน้าที่วินิจฉัย และหากเห็นว่าจะเป็นปัญหาและเป็นภัยต่อชาติในอนาคต ก็ต้องทำหลักฐานแจ้งให้รัฐบาลยับยั้งการดำเนินการ

หากยังมีการฝ่าฝืน “ทุกคนที่มีมติเห็นชอบ” ต้องชดใช้ทางแพ่งหากเกิดความเสียหายทั้งหมด

นอกจากนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่า รัฐจะมีวิธีหาเงินจำนวนมหาศาล 560,000 ล้านบาท มาจากไหน? โดยไม่ใช้วิธีกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ เป็นการสร้างภาระให้กับลูกหลานไทยทุกคน

รายได้ของประเทศทางหนึ่งซึ่ง นายเศรษฐา มองเห็นและเน้นเป็นพิเศษขณะนี้ก็คือ

          “การท่องเที่ยว”

          นโยบายเปิดผับบาร์ถึงตีสี่จึงเกิดมีขึ้น

          หวังให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่

ปัจจุบันสถานบริการทุกประเภททั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตโดยชอบตามกฎหมาย สามารถเปิดได้ถึง ตีหนึ่ง เท่านั้น

เว้นพวกที่อยู่ใน เขตพิเศษ หรือที่เรียกว่า โซนนิ่ง สามารถเปิดได้ถึง ตีสอง

ในกรุงเทพฯ ก็มีที่ถนนรัชดาฯ อาร์ซีเอ และพัฒน์พงศ์ และต่างจังหวัดในเขตเมืองใหญ่บางจุด

แต่ ข้อเท็จจริง สถานบริการในเขตพิเศษทั่วประเทศเหล่านี้ก็มีพฤติกรรม “ปิดนอกเปิดใน” ดื่มสุรากันไปถึงตีสามตีสี่กันเป็นส่วนใหญ่!

ส่วน สถานบันเทิงเถื่อน คือพวกผับบาร์ที่นายทะเบียนไม่ได้อนุญาตตามกฎหมาย ก็สามารถเปิดได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องการเข้าใช้บริการหรือสถานที่และเวลาใดๆ ทั้งสิ้น!

 เงื่อนไขเดียวที่สถานบันเทิงทั้งชอบและไม่ชอบตามกฎหมายทั่วไทยต้องปฏิบัติก็คือ

การ จ่ายส่วย ให้ ตำรวจหัวหน้าหน่วยทั้งสถานี บก. และ บช. ครบ ตามจำนวนที่ตกลง และ ตรงเวลา อย่าให้ต้องติดตามทวงถามให้เสียเวลาและอารมณ์เท่านั้น

ถ้าจ่ายแล้ว ปัญหาเรื่องจะมีตำรวจคนใดไปสืบจับ หรือแม้กระทั่งตรวจตรา

รับรองว่าไม่มีอย่างแน่นอน!

ส่วนฝ่ายปกครอง คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกรมการปกครองส่วนกลางนั้น ตำรวจผู้ใหญ่บอก ไม่สามารถควบคุมได้

การตรวจจับผับบาร์ผิดกฎหมายของกรมการปกครองที่ออกเดินสายไปจับ

ทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

จึงเป็นเหตุให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ นายพลตำรวจส่วย และ สื่อทรชน ประเภท กะลิ้มกะเหลี่ยนิวส์ เป็นอย่างมาก

ความพยายามในการกำจัดขวากหนาม รวมทั้ง “ขบวนการใส่ความอย่างเป็นระบบ” จึงเกิดขึ้น

เช่นกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยิน รอง ผบ.ตร.คนหนึ่งบอกว่า จะพิจารณาทบทวนการออกคำสั่งให้ตำรวจไปช่วยราชการในกรณีการถูกฝ่ายปกครองจับแหล่งอบายมุขในพื้นที่

เพราะเท่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้  ไม่มีความเป็นธรรมในการออกคำสั่งที่เหมือนเป็นการลงโทษทัณฑ์ตำรวจผู้รับผิดชอบรูปแบบหนึ่ง

เพราะฝ่ายปกครองก็ต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะนายทะเบียนสถานบริการในส่วนภูมิภาคด้วย

นอกจากนั้น ฝ่ายตำรวจจังหวัดเชียงใหม่ยังได้ตรวจพบว่า ฝ่ายปกครองชุดจับกุมเองก็มีปัญหา

หลังจับแล้วก็ไปนั่งดื่มกินเหล้าที่ผับบาร์ซึ่งเปิดเกินเวลาฉลองความสำเร็จ เข้าข่ายความผิดมาตรา 157 คือ เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

มีตำรวจ บก.ปปป. หรือป้องกันปราบปราบการทุจริต รับลูก ให้ข่าวทันทีว่า

กรณีนี้ได้ส่งตำรวจไปสืบสวนหาพยานหลักฐานว่ามีการ กระทำผิดอาญาจริงหรือไม่?

ประชาชนต้องคอยติดตามดูว่า “องค์กรอาชญากรรม” ที่ผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้ และไร้การตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง

จะใช้ อำนาจผูกขาด นั้น เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครองตามที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดการได้หรือไม่?

นโยบายเปิดผับบาร์ถึงตีสี่ นอกจากจะมีแต่พวก “ฝรั่งขี้เมา” “คนร้าย” และ “คนไม่ทำงาน” ไปใช้บริการ ทำให้สังคมเกิดปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุตามมาสารพัดแล้ว

 ยังไม่สามารถกำจัดปัญหาตำรวจหัวหน้าสถานี “รีดส่วย” ส่งให้ตำรวจผู้ใหญ่ตามลำดับชั้นกันได้อย่างแท้จริงอีกด้วย.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2566