‘ของดีลำลูกกา’ ผับเถื่อน ค้า เสพยา ตำรวจไม่จับ ‘อธิบดีกรมการปกครอง’ ต้องจับแทน ผบช. ผบ.ตร.

‘ของดีลำลูกกา’ ผับเถื่อน ค้า เสพยา ตำรวจไม่จับ ‘อธิบดีกรมการปกครอง’ ต้องจับแทน ผบช. ผบ.ตร.

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘ของดีลำลูกกา’ ผับเถื่อน ค้า เสพยา ตำรวจไม่จับ ‘อธิบดีกรมการปกครอง’ ต้องจับแทน ผบช. ผบ.ตร.

 

                                                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ปัญหาร้ายแรงเรื่องหนึ่งซึ่ง พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ในช่วงการ หาเสียงเลือกตั้ง ทั้ง แถลงเป็นนโยบายต่อสภาฯ ว่าจะจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง คือ

“การขจัดปัญหายาเสพติด” ทุกชนิดให้หมดสิ้นไป

ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคอีสาน ติดใจในการแก้ปัญหาของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในช่วงปี พ.ศ.2547

ตำรวจสามารถ เด็ดหัว หรือ ฆ่า ผู้ต้องสงสัยว่าค้ายา ตายไปกว่า 2,500 ศพ!

ส่งผลให้ปัญหายาเสพติดในช่วงนั้นสงบและลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ส่วน วิธีการ จะชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตำรวจไทยกลายเป็น “อาชญากรร้าย” ส่งผลเสียหายมาถึงปัจจุบันมากมายหรือไม่ ไม่มีใครสนใจ

ระบอบประชาธิปไตยไทย หรือ การปกครองโดยกฎหมาย เสียหายร้ายแรงมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนนโยบายปราบยาเสพติดของ นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน

จะเดินตามแนวทางของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าติดตาม

แต่ขอเรียนว่า นับแต่นายเศรษฐาเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงวันนี้ได้  สองเดือน

ประชาชนยังไม่เห็นว่าปัญหายาเสพติดได้ลดลงแต่อย่างใด

ราคายาบ้า ในย่านชานเมือง ยังทรงตัวอยู่ที่ ห้าเม็ดร้อย เช่นเดิม

โดย ราคายาเสพติดคือตัวชี้วัดผลการปฏิบัติที่แท้จริงยิ่งกว่า “ผลการจับกุม” ได้ของกลางกี่สิบกี่ร้อยล้านเม็ด ที่ผู้รับผิดชอบนำมาแถลงโชว์กันด้วยความภูมิใจ

และไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นหรืออยากฟังอยากได้ยินแต่อย่างใด

ปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุของยาเสพติดทุกชนิดในสังคมไทยก็คือ  “แหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย”

การปล่อยให้มีบ่อนพนันและสถานบริการเถื่อน หรือเปิดเกินเวลาฝ่าฝืนกฎหมายเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แหล่งอบายมุขเหล่านี้ คือแหล่งค้าและเสพยาเสพติดทุกชนิด โดยเฉพาะ ไอซ์และเคตามีน ซึ่งเป็นของที่นิยมกันในหมู่นักเที่ยวกลางคืน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจอบายมุขผิดกฎหมายทุกชนิดในประเทศไทย เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ได้ ก็ด้วยการ จ่ายส่วย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลทุกระดับที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งสิ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า ไม่ชอบคำ “สังคายนาตำรวจ” ตามที่ผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งถามว่าจะจัดการแก้ปัญหาตำรวจอย่างไร

เมื่อมีปัญหาอะไร ก็จะใช้วิธีแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป ส่วนจะได้ผลเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการ หรือกำชับการปฏิบัติให้รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด ซ้ำๆ ซากๆ

จะได้ผลหรือไม่ ยั่งยืนมากน้อยเพียงใด นายเศรษฐาไม่ได้อธิบายหรือขยายความต่อให้ประชาชนเข้าใจแต่อย่างใด

เกี่ยวกับปัญหายาเสพติด มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อคืนวัน 22  ตุลาคม ที่ผ่านมา

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ได้นำกำลังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับ อส.และ ป.ป.ส. ไปจับ ผับเถื่อนขนาดใหญ่ แห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอลำลูกกา

พบยาเสพติดหลายชนิดถูกโยนเกลื่อนพื้น

ในจำนวนนักเที่ยวกว่า 300 คน พบว่าตรวจพบมีปัสสาวะสีม่วง น่าเชื่อว่าเสพสารเสพติดชนิดเคตามีนถึง 137 คน!

ตรวจค้นพบ ปืนเถื่อน ที่ดัดแปลงจาก แบลงก์กัน ในตัวการ์ด 1 กระบอก

การเข้าจับกุม “ผับเถื่อน” ของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองครั้งนี้ ไม่ได้มีการบอกหรือแจ้งให้ตำรวจหน่วยใด ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าสถานี ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด หรือผู้บัญชาการตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ หรือแม้แต่ ตำรวจสอบสวนกลาง รู้แต่อย่างใด?

เพราะคิดว่า หากขืนบอกไป  ความลับในการปฏิบัติก็คงรั่วไหลไปถึงหูผู้ประกอบการทันที เช่นหลายๆ   กรณีที่ฝ่ายปกครองเคยประสานงานหรือแจ้งไป!

ปัญหาที่ร้ายแรงของประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่อง “ยาเสพติด” แต่อย่างใด

หากแต่คือ ประชาชน “ไม่สามารถไว้ใจตำรวจได้”

ไม่ว่าจะมียศหรือตำแหน่งระดับใด!

ถ้านายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาไม่ชอบ “สังคายนา”

แล้วท่านจะแก้ปัญหาตำรวจไม่ทำหน้าที่ หรือประชาชน “ไม่มีความไว้วางใจ” อย่างไร?

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2566