พรรคแกนนำไม่มีแนวคิด ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ‘ก้าวไกล’ จะจับมือด้วยหรือไม่?

พรรคแกนนำไม่มีแนวคิด ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ‘ก้าวไกล’ จะจับมือด้วยหรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

พรรคแกนนำไม่มีแนวคิด ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ‘ก้าวไกล’ จะจับมือด้วยหรือไม่?

 

                                                             พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

วันนี้ได้ผ่านพ้นอำนาจอธิปไตยในมือของประชาชนไปประมาณสี่ปี เพื่อที่ทุกคนจะได้ ตัดสินใจกันใหม่ แต่ละพรรคได้ทำหรือ ไม่ได้ทำอะไร ตามที่หาเสียงกันโขมงโฉงเฉงไว้!

ผู้คนคงรู้ผลแล้วว่า พรรคใดได้ ส.ส.เสียงข้างมากในสภาจากจำนวน 500 คน แบบแบ่งเขต 400 และบัญชีรายชื่ออีก 100 ผลก็คงเป็นตามความคาดหมาย ไม่แตกต่างจากการสำรวจของโพลทุกสำนักอย่างมีนัยสำคัญอะไร

แต่ปัญหาก็คือ พรรคที่ได้ ส.ส.เสียงข้างมากจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่?

เนื่องจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงจาก ส.ว.แต่งตั้ง อีก 250 คน ด้วย และรวมทั้งหมดต้องเกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 คน

เป็นกลไก ประชาธิปไตยกำมะลอ ที่ กลุ่มเผด็จการทหาร ได้ อำนวยการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการสืบทอดอำนาจของชนชั้นบนเอาไว้ให้นานที่สุด

ป้องกันไม่ให้คนคิดต่างไม่ว่าพรรคใดเข้ามามีอำนาจบริหาร กุมทิศทางของประเทศได้ง่ายๆ

แต่ไม่ต่างจากการวาง ระเบิดเวลาลูกใหญ่ เอาไว้ในสังคมไทย!

เพราะการจัดตั้ง รัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง นับเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายและจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในชาติไม่จบสิ้น!

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ อ้างกันว่าเป็น “พรรคประชาธิปไตย” เช่นพรรคเพื่อไทย จะสามารถรวมกันจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ก็จะไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงได้

เนื่องจาก ไม่มีนโยบาย “ปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน” อะไรเลย!

เพราะอำนาจบริหารประเทศ แท้จริงก็คือ การบังคับใช้กฎหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจสอบสวน  ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การผูกขาดของหน่วยราชการที่เรียกว่า ตำรวจแห่งชาติ แต่เพียงองค์กรเดียว

แต่เมื่อองค์กรตำรวจประเทศไทยเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ทุกรัฐบาลจะบริหารบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงเช่นอารยประเทศได้อย่างไร?

ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ผู้คนส่ายตามองไป  ก็เห็นมีแต่ พรรคก้าวไกล เขียนเป็นนโยบายปฏิรูปตำรวจที่มีนัยสำคัญไว้ดังนี้

ให้มี “คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ” ที่มาจากผู้แทนประชาชนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมือง ป้องกันการใช้เส้นสายและตั๋วตำรวจ ทำให้นายตำรวจระดับสูงทำงานอยู่ในสายตาประชาชนและถูกถอดถอนได้”

จัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด” ที่มีทั้งตัวแทน อบจ. และท้องถิ่นต่างๆ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด รวมทั้งภาคประชาชนเข้าร่วม  โดยมีอำนาจหน้าที่ในการประเมินคุณภาพของนายตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ตำรวจคนใดที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ทิ้งหรือดองคดีได้เจริญก้าวหน้า

ถ่วงดุลการแต่งตั้งนายตำรวจจากส่วนกลาง โดยมีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติการแต่งตั้งผู้บังคับการตำรวจจังหวัด เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมจริงๆ มาทำงานในพื้นที่

นี่คือนโยบายการปฏิรูปตำรวจของ “พรรคก้าวไกล” ปรากฏในเอกสารของพรรค

นอกจากนั้น นายชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญอยู่ในผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ “ลำดับสอง” รองจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค

ก็ได้ไปแสดงความเห็นในการเสวนาหัวข้อ บทบาทของพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย ที่มูลนิธิ 14 ตุลา เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 สรุปได้ว่า

แนวทางปฏิรูปตำรวจของพรรคที่สำคัญคือ

          – ลดความเป็นทหารลง ตำรวจต้องไม่เรียนเตรียมทหาร ยุบหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไปอบรม ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจชีวิตประชาชนดีกว่า

          – กระจายอำนาจตำรวจสู่จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมตำรวจได้ จัดตั้งคณะกรรมการปลอดภัยสาธารณะจังหวัด

          – โอนตำรวจเฉพาะทางไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ

          – ให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ

แนวคิดและแนวทางปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนของเลขาธิการพรรคก้าวไกล ซึ่ง ขณะนี้เป็นพรรคที่มี ส.ส.จำนวนมากขนาดใหญ่เป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย

ทั้งนโยบายและแนวความคิด นับเป็นเรื่องที่ถูกต้องสอดคล้องแนวทางปฏิรูปตำรวจที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

แต่ปัญหาคือ ถ้าก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็คงทำได้แค่เสนอเป็นร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ

หรือแม้ได้เข้าร่วม แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะใช้อำนาจบริหารสั่งการ หรือพูดจาให้ ผบ.ตร.ดำเนินการตามนโยบายพรรค

ก็คงทำได้แค่เสนอร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคหลักนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ปัญหาก็คือ นายกรัฐมนตรีจากพรรคแกนนำจะเห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปตำรวจของพรรคก้าวไกลดังกล่าวหรือไม่เพียงใด?

ซึ่ง ถ้าพรรคแกนนำเห็นด้วย ก็ต้องทำบันทึกข้อตกลงกันเป็นหลักฐานให้สามารถตรวจสอบติดตามและตอบคำถามต่อประชาชนได้

แต่ปัญหาคือ ถ้าพรรคแกนนำไม่เห็นด้วย

 “พรรคก้าวไกล” จะคิดและตัดสินใจอย่างไรในการ “ร่วมรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน” ตามแนวทางที่พรรคและ “เลขาธิการพรรค” ประกาศต่อประชาชนไว้.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2566