‘แอม ไซยาไนด์’ รู้ดีว่า ‘ตำรวจไทย’ จะไม่ ‘สอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง   

‘แอม ไซยาไนด์’ รู้ดีว่า ‘ตำรวจไทย’ จะไม่ ‘สอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง   

ยุติธรรมวิวัฒน์

“แอม ไซยาไนด์” รู้ดีว่า “ตำรวจไทย” จะไม่ “สอบสวนชันสูตรพลิกศพ” ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง

                                                                                               พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

คดีที่อยู่ในความสนใจของคนไทยรวมทั้งชาวโลกขณะนี้ก็คือ กรณีมีการกล่าวหาจับกุมนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ไซยาไนด์ ข้อหา ฆ่า ผู้คนที่รู้จักสนิทสนมทั้งหญิงชายทั่วไทยอย่าง ต่อเนื่องมาหลายปี รวมถึงสิบสี่ศพ!

ปัญหาที่ควรตั้งคำถามก็คือ มันเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร?

เพราะหาก ระบบงานสอบสวนของตำรวจแห่งชาติ มีประสิทธิภาพตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบคุยโม้กันไว้

ความตายแต่ละรายของคนวัยหนุ่มสาว ไม่ได้แก่ชราหรือป่วยตายในโรงพยาบาลภายใต้การรักษาของแพทย์

 เหตุใดจึงไม่มี “พนักงานสอบสวน” และ “หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานี” หรือจังหวัดใดใน 14 สถานีทั่วไทย สงสัยกันบ้างเลยว่า

น่าจะเป็นการตายผิดธรรมชาติ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 148 บัญญัติไว้

และเมื่อไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย หรือตายโดยอุบัติเหตุ

แต่เป็น การตายผิดธรรมชาติที่ยังมิปรากฏเหตุ คือ ไม่รู้ชัดว่าตายเพราะอะไร?

ก็มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์นิติเวชเพื่อให้พบ เหตุของการตาย

หากแพทย์ พลิกศพไปมา ตรวจหาบาดแผลร่องรอยทั่วร่างกายแล้ว ยังไม่สามารถสรุปเหตุการตายที่แน่ชัดได้

พนักงานสอบสวน ก็ มีอำนาจสั่ง ให้แพทย์ผ่าศพและแยกธาตุวินิจฉัยตามที่มาตรา 151 บัญญัติไว้ได้

นำรายงานไปประกอบความเห็นที่ตนต้องทำเป็นหนังสือ แสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน และเมื่อใด

ถ้าตายโดยคนทำร้าย ก็ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้  บัญญัติไว้ในมาตรา 154

ปัญหาในคดีแอมก็คือ ความตายของบุคคลแต่ละรายตั้งแต่ 1-14 ได้มีการสอบสวนชันสูตรพลิกศพอย่างครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่?

ถ้าใครบอกว่า ได้ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นั่นย่อมหมายถึงต้องสรุปรายงานว่า ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดอาญา แต่อย่างใด

จึงไม่ได้เริ่มสอบสวนเป็นคดีฆ่า หรือว่าประมาททำให้ตาย สืบสอบหาตัวผู้กระทำผิดคนใด

และได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพนั้นให้ข้าหลวงประจำจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันไปแล้วตามมาตรา 156

แต่ ถ้าไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพไว้!   โดยอ้างว่า ญาติ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ภรรยา สามี หรือพี่น้องคนใดไม่สงสัยว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ

รวมทั้ง “พนักงานสอบสวน” และ “หัวหน้าพนักงานสอบสวน” ไม่ว่าชั้นยศใด ท้องที่สถานีหรือจังหวัดใด ก็ไม่มีใครสงสัยเหตุการตายทั้งสิบสี่รายแต่อย่างใด?

ทุกคนเห็นว่า การตายด้วยอาการหัวใจวายหรือเลือดไม่ไหลเวียนของคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็น “การตายตามธรรมชาติ” อย่างแน่นอน

แพทย์ออกหนังสือรับรองการตายให้ญาตินำไปแจ้งฝ่ายปกครองทราบ และนำศพไปเผาหรือฝังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของแต่ละคนไปเรียบร้อยแล้ว

ฉะนั้น เวลานี้ที่มีการสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มแก่แอมว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาข้อหาฆ่าในรายที่ผ่านมาอีกกว่าสิบศพนั้น ใช้พยานหลักฐานอะไร?

เป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งต่อรายงานการชันสูตรพลิกศพ ที่สรุปว่าไม่พบการกระทำผิดอาญาใดๆ หรือไม่?

และ ที่สำคัญ การสอบสวนจะนำไปสู่การส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดให้ลงโทษตามกฎหมายได้จริงหรือ?

เนื่องจาก ป.วิ อาญา มาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า

 “ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา…….. ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล”

 “อัยการไทย” จะสามารถฟ้องคดีโดยที่ “การชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จสิ้น”

หรือแม้แต่ “ไม่มีการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ” ในกรณีที่เป็นการตายผิดธรรมชาติตามกฎหมายได้ด้วยหรือ?.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2566