‘สป.ยธ.’ รุกหนัก ทุกพรรคการเมือง ให้กำหนดนโยบาย ‘ปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน’ เต็มรูปแบบ

‘สป.ยธ.’ รุกหนัก ทุกพรรคการเมือง ให้กำหนดนโยบาย ‘ปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน’ เต็มรูปแบบ

สป.ยธ.รุก! ทุกพรรค ให้กำหนดนโยบาย ปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน- เลิก-ลด ยศแบบทหารในงานไม่จำเป็น, ผู้ว่า กทม.และ จว.ควบคุมได้ ยุบตร.ภาค ลดนายพล 530 คน, โอน ตร.เฉพาะทางให้กระทรวงรับผิดชอบ, อัยการมีอำนาจสอบสวนคดีสำคัญ

3 พ.ค.2566 – ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร.ต.อ.ผศ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสป.ยธ.ได้ยื่นหนังสือต่อ ผอ.พรรคปชป. ให้นำเรียนหัวหน้าพรรค ปชป.รวมทั้งส่งหนังสือถึง “หัวหน้าพรรคทุกพรรค” ให้กำหนดนโยบายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนโดยเร็ว ในเรื่องสำคัญอันการปฏิรูปแท้จริง ดังนี้

 

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาตำรวจได้ก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างแสนสาหัส ทั้งเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ เมื่อไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนก็ไม่รับคำร้องทุกข์เข้าสารบบคดีเพื่อไม่ให้มีสถิติอาชญากรรมปรากฏตามที่ผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศสั่งไว้ รวมทั้งจะได้ไม่ต้องสอบสวนตามกฎหมายส่งให้อัยการตรวจสอบ ซ้ำหลายกรณีตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลยังเป็นคนกระทำผิดเสียเอง เป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร็ว

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองที่ตระหนักถึงปัญหาตำรวจ ควรกำหนดให้ปรากฏเป็นนโยบายในการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างองค์กรในเรื่องต่างๆ อันเป็นการแก้ปัญหาตำรวจที่แท้เจริง เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบและสนับสนุนดังนี้

๑. เลิก-ลด การใช้ยศและระบบการปกครองแบบทหารในหน่วยและสายงานที่ไม่จำเป็น เช่น สายงานสอบสวน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม สายการแพทย์ พยาบาล พิสูจน์หลักฐาน งานนิติเวช การศึกษา และงานอำนวยการต่างๆ ลดความวุ่นวายและขั้นตอนในการบังคับบัญชารวมทั้งประหยัดงบประมาณกว่าข้าราชการมียศ

อีกทั้งเป็นการ “ลดนายพล” ซึ่งมีอยู่ทั้งประเทศจำนวน ๕๓๐ คน ให้มีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เลิกแบ่งแยกตำรวจที่เรียกกันว่า “ชั้นประทวน” ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและดูถูกเหยียดหยาม โดยเรียกเป็นเจ้าพนักงานระดับต่างๆ แทน

๒.เลิกการอบรมและปลูกฝังความคิดแบบทหารในโรงเรียนตำรวจที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง “บ้ารุ่น” หรือ“บ้าสถาบัน” สร้างความแตกแยกและความสามัคคีในองค์กรกระทบต่อการปฏิบัติงานในฐานะเจ้าพนักงานยุติธรรม โดยรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแต่ละสาขาจากมหาวิทยาลัยตามสายงานมาอบรมความรู้ที่จำเป็น ใช้ระยะเวลาเพียงหกเดือนหรือไม่ถึงหนึ่งปีก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีกว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจซึ่งใช้เวลาถึง ๖ ปีทำให้สิ้นเปลืองเงินภาษีประชาชนอย่างมาก

๓.กระจายอำนาจตำรวจให้อยู่ในปกครองทั้งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เพื่อให้หน่วยการปกครองหลักทุกระดับของประเทศมีเอกภาพในการบังคับบัญชาสอดคล้องกับบทบาทการรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้
ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอต้องสามารถให้คุณให้โทษตำรวจทุกระดับในพื้นที่ได้ ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายโดยใช้หลักอาวุโสในสายงาน โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัดและอำเภอ

ยุบเลิกตำรวจภูธรภาค ๑ – ๙ ลง เนื่องจากไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละไม่ต่ำกว่า ๗,๐๐๐– ๘,๐๐๐ ล้านบาท รวมทั้งทำให้งานตำรวจตรวจป้องกันอาชญากรรมและการสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

๔.โอนตำรวจเฉพาะทาง ๑๐ หน่วยไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ให้มีอำนาจสอบสวนคู่ขนานกับตำรวจ ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีมติและรายงานให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการไปแต่เดือนตุลาคมปี ๒๕๕๘ ดังนี้
๔.๑ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย
๔.๒ ตำรวจจราจรสังกัดกรุงเทพมหานคร
๔.๓ ตำรวจทางหลวงสังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
๔.๔ ตำรวจน้ำสังกัดกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
๔.๕ ตำรวจเศรษฐกิจสังกัดกระทรวงการคลัง
๔.๖ ตำรวจป้องกันการค้ามนุษย์สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคม
๔.๘ ตำรวจป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
๔.๙ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคสังกัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
๔.๑๐ ตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตสังกัด ปปช.
๕. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือคดีที่มีปัญหาประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้กระทำตามกฎหมายหรือไม่ยุติธรรมได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ผลเป็นประการใดขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วยเพื่อจะได้แจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบต่อไป