ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้

ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้

“ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้”

ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ในยุคสมัย King John ละเมิดประเพณี Feudalism ในการเก็บภาษีมีการเปลี่ยนแปลงอัตราและแนวทางอย่างไร้ขอบเขต มีการตรวจค้น จับกุมลงโทษ จำคุก กักขัง ทรมาน เนรเทศฯ บุคคลตามอำเภอใจ Barrons หรือชนชั้นขุนนางพยายามให้พระมหากษัตริย์ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายและยังให้รับว่าพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย จนยอมตรา King John’s Magna Carta ในปี 1215

ต่อมาในสมัย King Edward III (reigned 1327–1377) รัฐสภาได้ตรากฎหมาย 6 ฉบับแสดงขอบเขตและความชัดเจนของสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ใน Magna Carta และอธิบายความหมายของ the Law of the Land ว่าเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพ ในปี 1354 มีการตรากฎหมายที่ปรากฎคำว่า Due Process ว่าหมายถึง การรับรองทางวิธีพิจารณาที่ชองด้วยกฎหมายโดย Magna Carta (Magna Carta’s procedural guarantees)

แม้จะมีการปรับแก้ไข Magna Carta อีกหลายครั้งในช่วงเวลาต่อมาแต่หลักการสำคัญบางประการยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น ในมาตรา 39 ที่เขียนว่า “เสรีชนจะถูกจับกุมคุมขัง ยึดทรัพย์สิน หรือเนรเทศด้วยวิธีการใดไม่ได้ ยกเว้นโดยการตัดสินโดยชอบตามกฎหมาย (Due Process) โดยคณะลูกขุนและตามกฎหมายแห่งรัฐ (the Law of the Land)” และในมาตรา 40 “ห้ามปฏิเสธ หรือทำให้ล่าช้าต่อสิทธิหรือความยุติธรรมของบุคคล”

แนวความคิดและหลักการสำคัญเรื่องกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายใน Magna Carta นี้เป็นแนวความคิดและที่มาของหลักการ Due Process ของระบบยุติธรรมของอังกฤษและเป็นรากฐานสำคัญของหลักการ Fair Trial ที่มีแนวความคิดในการใช้กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและวิธีพิจารณาความที่ดีและเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่พัฒนามาเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญดังคำกล่าวว่า “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้”

กล่าวคือ เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการใดๆในหน้าที่ความรับผิดชอบได้ทุกอย่างที่ไม่ละเมิดกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิประชาชนเพื่อบรรลุภารกิจการอำนวยความยุติธรรมแม้ไม่มีระเบียบเขียนไว้ แต่มีนักฎหมายไทยจำนวนมากเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนและสอนต่อๆกันมาว่า “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรไม่ได้เลย” ทำให้นิติวิธีของการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐไทยผิดประหลาดจากแนวทางสากล

หากไม่มีระเบียบลายลักษณ์อักษรกำหนดแนวทางการทำงานแล้วเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมทำอะไรเลยทั้งๆที่เป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อการอำนวยความยุติธรรมภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ ทำให้ต้องเขียนกฎหมายและระเบียบละเอียดไปเสียทุกเรื่องเจ้าหน้าที่จึงจะยอมทำงานทั้งๆที่เป็นภารกิจขององค์กร