ศาลรธน. ชี้ พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯขัดรัฐธรรมนูญ

ศาลรธน. ชี้ พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.66 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคสาม

คดีดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ.2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปคือวันที่ 22 ก.พ.66 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง จึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคหนึ่ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงเพิ่มเติม การที่พระราชกำหนดนี้ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น ย่อมไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสาม บัญญัติไว้ในกรณีที่รัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น สำหรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของหน่วยงานในการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.2566 ก่อนการมีผลบังคับใช้เพียง 8 วัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 รวม 4 มาตรา ไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566

สำหรับมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ที่ได้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว, มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน