‘ตำรวจ’ มีอำนาจ ‘ตั้งด่าน’ ขวาง ‘ทางสาธารณะ’ หรือไม่?

‘ตำรวจ’ มีอำนาจ ‘ตั้งด่าน’ ขวาง ‘ทางสาธารณะ’ หรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

ตำรวจมีอำนาจ ตั้งด่านขวาง ทางสาธารณะหรือไม่?

                                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานไม่ว่าขั้นตอนของ ตำรวจหรืออัยการ

แทบไม่เหลือความเชื่อถือหรือความไว้วางใจอะไรให้กับใครอีกต่อไป!

การสอบสวนหลายคดีที่ตำรวจผู้ใหญ่บอกต่อสื่อมวลชนและประชาชนว่ามีพยานหลักฐานมากมายจนนำไปสู่การเสนอศาลออก หมายจับ และการ สั่งฟ้อง ของอัยการ

แต่สุดท้าย ศาลกลับมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ทำให้ประชาชนงุนงงและ “เบื่อหน่าย” ไปตามๆ กัน!

เช่นคดีสุดท้าย การเปิดบ่อนพนันผิดกฎหมายของ หลงจู๊สมชาย ในจังหวัดระยอง ที่ตำรวจผู้ใหญ่ได้นำกองกำลังคอมมานโด หรือ หน่วยกล้าตาย ถือหมายศาลบุกเข้าไปจับตัวกันอย่างเอิกเกริกถึงในบ้านเมื่อหลายปีก่อน

และอีกหลายคดีที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาว เช่น “คดีตู้ห่าว” สมคบ ค้ายาเสพติด

ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อมั่นว่า สุดท้ายอัยการจะสามารถพิสูจน์การกระทำผิด ตามพยานหลักฐานที่ตำรวจทำไว้ ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้เช่นกัน!

ในระหว่างนี้ ก็มีปัญหา คาราคาซัง ที่ยังไม่มีผู้มีอำนาจคนใดคิดแก้ไขก็คือ การตั้งด่านตรวจ ของตำรวจที่ประชาชนส่วนใหญ่ข้องใจว่า

พวกเขาอาศัยอำนาจตามบทกฎหมายใดในการนำวัตถุต่างๆ มาขวางถนนเพื่อความสะดวกต่อการตรวจค้นรถและค้นตัวประชาชน

สร้างความเดือดร้อนรำคาญและ “เป็นอันตราย” ต่อผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างวิปริตกระทั่งปัจจุบัน?

ก็ขออธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น นักกฎหมาย ตำรวจผู้ใหญ่ทุกคน และประชาชนทั้งประเทศทราบดังนี้

ทางเดินรถ ที่มิใช่ของเอกชนทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนโดยเฉพาะถือเป็น ทาง อย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 ไม่ว่าจะอยู่ระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน

และ “ทาง”ที่ได้ลงทะเบียนตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แล้ว ถือเป็น ทางหลวง ประเภทหนึ่ง

ซึ่งทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้ผู้เกี่ยวข้อง ต้องกระทำ และ ห้ามกระทำ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในการใช้ทางของประชาชนทุกคน

เป็นเรื่องที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้ทางซึ่งเป็น สิทธิสาธารณะ ของประชาชนอย่างหนึ่ง

บทบัญญัติที่ห้ามบุคคลกระทำต่อทางรถเดินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ก็เช่น มาตรา 114

“ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร แต่จะอนุญาตได้เมื่อมีเหตุจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น”

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 148 ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

หรือ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

“ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วางหรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ  หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ได้รับมอบหมาย…….”

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 72 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตั้งด่านตรวจของตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรคือ ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร โดยนำสิ่งของต่างๆ เช่น กรวยยาง แผงเหล็ก หรือแผ่นป้ายข้อความว่า หยุดตรวจ มาตั้งหรือวางในทางเดินรถในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรเพื่อให้ผู้ขับขี่ชะลอและหยุดรถขอตรวจค้นคนหรือรถนั้น

นอกจากจะเป็นการ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการใช้ทางสาธารณะด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย แล้ว

ยัง ผิดกฎหมายร้ายแรงมีโทษจำคุกถึงสามปี ตามที่กล่าวข้างต้นด้วย!

เนื่องจากแม้ว่าตำรวจจะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 2 (16) และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 6 บัญญัติไว้

แต่ การกระทำใดๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ ยังต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย

เช่น การจับ หรือค้น ซึ่งเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผล กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับหรือถูกค้น ป.วิ อาญา ก็ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ให้ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองกระทำได้ ภายใต้เงื่อนไขตามมาตรา 78, 92 และ 93 เท่านั้น

หรือ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 142  ได้บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรคือ ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถได้  ก็ต่อเมื่อเห็นว่า

          1.รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ

          2.ผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หรือ “กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับรถ”

หรือใน มาตรา 139  ที่บัญญัติให้ หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจออก ประกาศข้อบังคับหรือระเบียบ ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดินในทางสายใดหรือตอนใด เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการจราจร

ก็ มีอำนาจเฉพาะเป็นการชั่วคราวตามนั้น

แต่การที่ ตำรวจผู้ใหญ่ หลายคนอ้างว่า ตำรวจมีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ก็ได้เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน  เพราะ ป.วิ อาญา มาตรา 2 (16) และ พ.ร.บ.ตำรวจฯ มาตรา 6 บัญญัติให้อำนาจไว้ รวมทั้ง การตั้งด่าน ขอตรวจค้นรถและตัวประชาชนด้วย

ถือเป็น ความหลงผิด และ ไม่เข้าใจกฎหมาย ที่  เป็นอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่ง!

เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง กฎหมายทั้งหลายที่กล่าวมาก็คงไม่ต้องบัญญัติให้อำนาจแก่ตำรวจไว้ในการกระทำต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่อย่างใด

ฉะนั้น เมื่อการตั้งด่านตรวจของตำรวจที่อ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างหนึ่ง แต่ไม่มีกฎหมายใดให้มีอำนาจตั้งหรือวางวัตถุใดๆ ในทางเดินรถได้โดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 38 และ 72

ทั้งไม่ได้ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถโดยไม่มีเหตุตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 142 ได้

การกระทำเช่นนั้นของตำรวจทุกคน “ไม่ว่าจะมียศชั้นนายพลหรือตำแหน่งใด”

จึงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิด “ความเดือดร้อนรำคาญ” “ความไม่สะดวก” “ไม่ปลอดภัย” และ”อันตราย” “ผิดกฎหมาย” อย่างแน่นอน.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 26 ธ.ค. 2565