‘อั้งยี่ทางหลวง’ รับ ‘ส่วย’ ปีละ 12,000 ล้าน รัฐเสียหาย ‘แสนล้าน’ ผู้คนเจ็บ-ตาย ‘นับไม่ถ้วน’

‘อั้งยี่ทางหลวง’ รับ ‘ส่วย’ ปีละ 12,000 ล้าน รัฐเสียหาย ‘แสนล้าน’ ผู้คนเจ็บ-ตาย ‘นับไม่ถ้วน’

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘อั้งยี่ทางหลวง’ รับ ‘ส่วย’ ปีละ 12,000 ล้าน รัฐเสียหาย ‘แสนล้าน’ ผู้คนเจ็บ-ตาย ‘นับไม่ถ้วน’

 

                                                                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่มี นายอภิชาติ  ไพรรุ่งเรือง เป็น ประ ธาน ได้จัดงานเสวนาวิชาการที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

ประเด็นการประชุมคือ ปัญหา ส่วยทางหลวง ที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วไทยได้จ่ายให้ตำรวจสารพัดหน่วยกันมานาน หลายสิบปี!

การจัดเสวนาก็ เพื่อต้องการทราบ ว่า  แต่ละพรรคการเมืองจะมีวิธีแก้ไขหรือจัดการปัญหานี้ ที่ส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการที่สุจริตไม่ทำผิดกฎหมายและ “ไม่ยอมจ่ายส่วยให้ตำรวจ” ไม่ต้องถูกกลั่นแกล้ง ถูกเรียกตรวจค้นและจับกุมโดยมิชอบอย่างไร?

มีหลายพรรคได้ส่งตัวแทนมาร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็น

เช่น พรรคเพื่อไทย ได้ส่ง นายประภัสร์ จงสงวน ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่ง นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ , พรรคก้าวไกล ได้ส่ง นายธีรัจชัย  พันธุมาศ, พรรคเสรีรวมไทย ได้ส่ง พล.ต.ท.จุตติ ธรรมมโนวานิช และพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ส่ง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

ได้มีการเสนอข้อมูลที่น่าตกใจจากสมาชิกผู้ร่วมเสวนาว่า ปัญหา ส่วยทางหลวง ได้ทำเงินให้กับแก๊งอั้งยี่ ปีหนึ่งถึง 12,000 ล้านบาท!

ถ้าซื้อ สติกเกอร์ รายเดือน สายสั้น ไม่โดนจับทุกข้อหา จะ วิ่งขวาตลอด ก็ได้ ใบละ 5,000

ถ้า สายยาว วิ่งผ่านตลอดทั่วไทย ก็ ใบละ 20,000

ติด สติกเกอร์ส่วย ที่ เปลี่ยนสีทุกเดือน แล้ว ไม่ถูกตำรวจเรียกตรวจจับ!

พร้อมทั้งรับผิดชอบ แจ้งความเคลื่อนไหว หน่วยงานใดกำลังออกตรวจสอบ ทางหลวงสายไหน วันใด เวลาเท่าใดถึงเท่าใด ให้หลีกเลี่ยง!

และจะวิ่ง เคลียร์คดี ให้ หากพลาดพลั้งถูก กรมทางหลวง จับข้อหา บรรทุกน้ำหนักเกิน

ปัจจุบันผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วประเทศมีอยู่นับหมื่นคนและบริษัทมีรถบรรทุกทุกประเภท เฉพาะที่อยู่ในเครือข่ายของสหพันธ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 400,000  คัน

ประมาณครึ่งหนึ่งไม่ต้องการทำผิดกฎหมาย และ ไม่ยอมจ่ายส่วย จึงได้เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ ประเภทเข้มแข็ง ร่วมกันต่อสู้

แต่ทุกคนก็อยู่กันด้วยความหวั่นไหว ไม่รู้ว่าจะถูกตำรวจ กลั่นแกล้ง หาเรื่องจับข้อหาหนึ่งข้อใดจนได้

ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งซึ่งมีความคิดแบบ เอาตัวรอดและยอมจำนน ต้องทนจ่ายเงินซื้อ สติกเกอร์ส่วย

ด้วยเหตุที่ไม่ต้องการถูกเรียกตรวจค้นหรือกลั่นแกล้งแจ้งข้อหา หรือแม้กระทั่ง ทำให้เสียเวลา

ถือเป็น “พฤติกรรมอั้งยี่” ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหน หรือพรรคการเมืองใดพูดหรือประกาศเป็นนโยบายแก้ไขหรือจัดการแต่อย่างใด

อั้งยี่ เป็นคำจีนฮกเกี้ยนโบราณ ซึ่งหมายถึง “ตัวหนังสือสีแดง” สัญลักษณ์ สมาคมลับของคนจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยในประเทศไทยและรวมตัวกันทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเรื่องใดใช้เรียกกันแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่งผลทำให้มีการตรากฎหมายกำหนดเป็นความผิดอาญา ช่วง ร.ศ.116 หรือ พ.ศ.2441 ซึ่งได้แก่ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำในลักษณะอั้งยี่”

ต่อมาหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475  ความผิดฐานอั้งยี่ ได้มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาคความผิดลักษณะที่ 5 มาตรา 209 การกระทำความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนความว่า

“ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”

กฎหมายอาญามาตรานี้มุ่งเอาผิดบุคคลผู้เป็น สมาชิก เท่านั้น ถือเป็นความผิดทันทีโดยที่ยังไม่จำเป็นต้องกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอะไร

ส่วนวรรคสอง เป็นเพียงเหตุเพิ่มโทษ หากเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือมีหน้าที่ใดในคณะอั้งยี่

อั้งยี่ชื่อดังสมัยโบราณ คือ ยี่กอฮง หรือพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช)

เขาเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่สร้างตัวจนเป็นนายอากรผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มจากการเป็นพ่อค้าประกอบธุรกิจทั้งถูกและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย รวมทั้ง หวย บ่อน ซ่อง และของเถื่อนต่างๆ

เมื่อค้าขายจนมั่งคั่งแล้ว ก็ หาทางเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการบริจาคเงินให้รัฐ การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณประโยชน์ต่างๆ

ความผิดฐานอั้งยี่ไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นเวลานานหลังการปราบปรามครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5

แต่หลังการทำปฏิวัติรัฐประหารของ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการนำข้อหาอั้งยี่มาใช้กับ ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง หลายกรณี

เช่น คดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยที่สมาชิกส่งไลน์พูดคุยกัน คดีแฮ็กเกอร์คัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีวัดพระธรรมกาย คดีแกนนำ กปปส. รวมไปถึงคดีพระพุทธอิสระ ก็โดนตั้ง ข้อหาอั้งยี่!

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลได้จัดตั้ง องค์กรลับ ขึ้น รับส่วย จากผู้ประกอบการรถบรรทุก ออกสัญลักษณ์เป็น “แผ่นสติกเกอร์” รูปแบบต่างๆ ให้ติดไว้หน้ารถ

มีทั้ง สายสั้น และ สายยาว วิ่งได้ทั่วไทย ไม่ถูกตำรวจจับ

รวมทั้งรับ เคลียร์คดีให้ ในกรณีถูกหน่วยอื่นเช่น กรมทางหลวงจับกุม

การกระทำเช่นนี้ เข้าข่ายความผิดฐาน อั้งยี่ อย่างชัดเจน

อั้งยี่ แก๊งนี้ มีรายได้เฉพาะจาก ส่วยรถบรรทุก ปีละถึง 12,000 บาท

ท่ามกลางความเสียหายและพินาศของทางหลวงแทบทุกสายในประเทศไทย ไปจนถึงการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เกิดจาก ส่วยสติกเกอร์ ของ อั้งยี่ทางหลวง แก๊งใหญ่นี้!.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 12 ธ.ค. 2565