‘คดีอาญา’ กว่าจะถึง ‘อัยการ’ พยานหลักฐานก็เปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไปหมดแล้ว

‘คดีอาญา’ กว่าจะถึง ‘อัยการ’ พยานหลักฐานก็เปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไปหมดแล้ว

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘คดีอาญา’ กว่าจะถึง ‘อัยการ’ พยานหลักฐานก็เปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไปหมดแล้ว

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ขณะนี้คดี ตู้ห่าว อดีตไกด์ชาวจีนที่มีเมียเป็นตำรวจไทย ผู้ได้เข้ามาหากินและรับ ฟอกเงินสกปรก ในเมืองไทยร่วมกับตำรวจ ที่เรียกกันว่า “ชั้นผู้ใหญ่” ทั้งในและนอกราชการหลายคนจนมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐีในช่วงเวลาเพียงสิบกว่าปี

มีทรัพย์สินรวมกัน หลายพันหรืออาจนับหมื่นล้าน!

นอกจากคดี สมคบค้ายาเสพติด และ ฟอกเงิน ตามที่มีแจ้งข้อหาซึ่ง กระทำอย่างล่าช้า แล้ว

เรื่องราวความสามานย์ต่างๆ ทั้งการก่ออาชญากรรมทำร้ายหมายฆ่าผู้คน วางเพลิง การเปิดสถานบันเทิงและบ่อนพนันผิดกฎหมายที่กระทำทั้งในปัจจุบันและอดีตกำลังบานปลาย ขยายวงออกไปเรื่อยๆ

ด้วยการเปิดเผยพร้อมพยานหลักฐานผ่านสื่อออนไลน์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส. ในฐานะพลเมืองดีผู้ทำหน้าที่ดีกว่าตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าระดับใด ซึ่ง ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ไว้ใจ!

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมทางอาญาประเทศไทย อยู่ในสภาพ สุดวิปริต!

ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสังคมมากมายหลายรูปแบบ

“คนร้ายมีเงิน” ไม่กลัวกฎหมาย  เพราะคิดว่า ใช้เงินซื้อตำรวจผู้ใหญ่ ได้ ดังที่นายตู้ห่าวประกาศก้องต่อหน้าคู่ค้าที่มีปัญหาว่า

“ไม่จบ กูยิง” “กูมีเงิน กูมีปืน” ประเทศนี้ถ้ามีเงินจะทำอะไรก็ได้ ใครสงสัยก็ไปดูคดีที่ภูเก็ตสิ!

ก็ไม่ทราบว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รักษาการและดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร?

หรืออาจคิดว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอะไร เพราะหน่วยงานตำรวจไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยที่จะทำให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือควบคุมการทำงานของตำรวจได้อีกต่อไป

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งถือว่า เป็นกฎหมายแม่บทของการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ได้วางระบบงานรักษากฎหมายให้มีเอกภาพการบังคับบัญชาทุกพื้นที่มาช้านาน

ทางการบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้ว่าฯ และอธิบดีทุกกรมที่มีหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย

กรมการปกครอง ควบคุมนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ไปยันกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็น รากฐานการปกครองและข่าวสารการรักษากฎหมายก่อให้เกิดความสงบในทุกพื้นที่

มี ตำรวจและอัยการเป็นมือไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอสามารถสั่งราชการทุกหน่วยงานในจังหวัดและอำเภอได้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทของการบริหารราชการบ้านเมือง

แต่ความคิดอุตริของบางคนในการแยกอัยการออกไปและออกกฎหมายให้กรมตำรวจไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยในปี 2541 ได้ทำให้สายการบังคับบัญชาข้าราชการหน่วยงานรักษากฎหมายทั้ง อัยการ โดยเฉพาะตำรวจได้กลายเป็น “องค์กรอิสระ” ไปในทุกพื้นที่

กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมได้อีกต่อไป!

ในงานสอบสวน คงเหลือแต่ ป.วิ อาญา มาตรา 145  ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ ทำความเห็นแย้งอัยการจังหวัดได้ในคดีที่สั่งไม่ฟ้องเสนอให้อัยการสูงสุดวินิจฉัย

รวมทั้ง ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ออกโดยรัฐมนตรีใน ปี พ.ศ.2509 และ 2523  ให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ มีอำนาจเข้าตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ ซึ่งเป็นการออกข้อบังคับของผู้รักษาการ ป.วิ อาญา ซึ่งทั้งสองหน่วยงานคือมหาดไทยและตำรวจถือปฏิบัติกันมาช้านานแต่ พ.ศ.2509

แต่ในปี 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้ เกิดความคิดวิปริต ว่า เมื่อตำรวจแห่งชาติไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยในปี 2541 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่รัฐมนตรีออกมาไม่ว่าฉบับใดอีกต่อไป!

คงยกเว้น ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยปี 2506 ที่จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการ ได้ให้กรมตำรวจรับผิดชอบการสอบสวนฝ่ายเดียว หลังจากที่เป็นผู้ช่วยฝ่ายปกครองในการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอสั่งการ!

พล.ต.อ.อดุลย์ จึงได้ออกคำสั่งที่ 419/2556 มีข้อความ ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอตามที่สั่งเมื่อมีการร้องเรียนอะไรเกี่ยวกับการสอบสวนต่อไป

ก่อให้เกิดความงุนงงกับพนักงานสอบสวนว่าจะเลือกทำอย่างไรระหว่างคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย กับการปฏิบัติไปตาม ป.วิ อาญา เช่นที่เคยกระทำกันมาช้านาน

เป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งสำทับอีกฉบับหนึ่งในเวลาต่อมาว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย” ซึ่งหมายถึงจะถูกกักขัง หรือกักยาม ไม่ได้เลื่อนเงินเดือน!

ซึ่งแม้พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่จะรู้อยู่ว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทุกคนก็จำใจต้องปฏิบัติ!

ปัจจุบันคดีที่ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนไม่ว่าผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย

ในทางปฏิบัติ ทุกคนไม่สามารถร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการหรือนายอำเภอให้ตรวจสอบการสอบสวนเช่นแต่ก่อนได้

ส่วนอัยการ ผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี ก็ไม่มีสิทธิรู้เห็นพยานหลักฐานอะไรในระหว่างการสอบสวนของตำรวจทั้งสิ้นเช่นกัน

การทำงานในแต่ละวันได้แต่นั่งอ่าน “สำนวนสอบสวน” และ “สั่งคดี” ไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏเท่านั้น

ยังดีว่า คดีนายตู้ห่าว มีบางส่วนเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่ง ป.วิ อาญา มาตรา 20  ได้บัญญัติให้ อัยการสูงสุด เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบ จึงทำให้มีอำนาจสอบสวนและเห็นพยานหลักฐานในคดีนี้

แต่กว่าที่อัยการจะได้เห็น เวลาก็ผ่านไป เกือบสองเดือน

จึงไม่มีใครแน่ใจว่า ยังคงเหลือพยานหลักฐานสำคัญอะไรในการพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหาให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อยู่หรือไม่?

หัวใจของการพิสูจน์ความผิดทางอาญา ก็คือ  การรวบรวมพยานหลักฐาน โดย ไม่ชักช้า ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 130

เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่พยานหลักฐานทุกชนิดจะเปลี่ยนแปลง สูญหายไปตามกาลเวลา หรือว่ามีผู้กระทำให้หายไป

การสอบสวนที่ ชักช้า ซึ่งหมายถึง โอ้เอ้ หรือ ค่อยๆ ทำ (Slowly) เช่น ไม่รีบตรวจที่เกิดเหตุ ไม่รีบบันทึกปากคำพยาน ไม่รวบรวมหลักฐานทุกชนิด การไม่รับคำร้องทุกข์มีเลขคดี ล้วนเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ป.วิ อาญา

ยิ่งถ้า เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือผู้ใด ล้วนเข้าข่าย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157  ทั้งสิ้น!.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2566