ประชามติลวงและการที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือสาเหตุปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

ประชามติลวงและการที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือสาเหตุปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                     

         ประชามติลวงและการที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือสาเหตุปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

 

                                                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                สถานการณ์ความขัดแย้งของไทยในขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างสันติโดยไม่มีการใช้กำลังเข้าต่อสู้ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้อย่างไร?

ปัญหาหลักเรื่องความต้องการของประชาชนรวมทั้งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดวงจรการ สืบทอดอำนาจเผด็จการ

รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนและคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าจำนวนมากก็ต้องการให้มีการ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นร่างใหม่

เพื่อทำให้บ้านเมือง เป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริงเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลกเสียที

เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการของตนออกมา   เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่อง  การกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง

ส่วนคนส่วนน้อยผู้เป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคม หรือ ได้ประโยชน์ จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งที่ คนรุ่นเก่า บางคน มีส่วนกำกับหรือออกแบบไว้ ก็ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น

ได้แต่อ้างว่าประชาชนทั่วประเทศจำนวนกว่า 16 ล้านคน ได้ลงประชามติเห็นชอบให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ฉะนั้น รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองตามรัฐธรรมนูญต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาหรือเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้

ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือร่างใหม่ตามเสียงเรียกร้องของใคร ไม่ว่าจะออกมาชุมนุมกันตามถนน กี่แสนกี่ล้านคน ก็ตาม!

นอกจากนั้น ฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐส่วนใหญ่ก็มั่นใจในกำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ และ กฎหมายการชุมนุมที่ออกไว้ในยุคเผด็จการ 

รวมทั้งที่สำคัญก็คือ การใช้ อำนาจสอบสวน ของตำรวจเพื่อ ยัดข้อหา แจกคดี โดยเฉพาะมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ผู้ที่อาสาเป็นแกนนำหรือเกี่ยวข้องกับการชุมนุมในแต่ละครั้ง

หวังให้แต่ละคนเกิดความวุ่นวายในชีวิต และสุดท้ายอาจถอดจิตถอดใจไม่เป็นผู้นำหรือเข้าร่วมการชุมนุมเป็นรายๆ ไป

ในความเป็นจริง การที่ประชาชน 16 ล้านคน ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญดังกล่าวภายใต้ เงื่อนไขที่ไม่มีทางเลือก ว่า

ถ้าไม่รับ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นให้ไปร่างใหม่ ซึ่งหมายถึงว่าประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลเผด็จการ คสช.ต่อไปอีกหลายปี!

ถือเป็นการลงประชามติที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ตามแบบที่ทำกันในนานาอารยประเทศหรือไม่

เช่น ในกรณีที่รัฐบาลประเทศอังกฤษถามประชาชนว่า ควรอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ดี?

ซึ่งเมื่อผลออกมาก็ไม่มีใครโต้แย้งว่าการลงประชามติดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด

เลิกเสียทีได้ไหม กับการอ้าง ประชามติปลอม ดังกล่าว

โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาลรวมทั้ง  วุฒิสมาชิกลากตั้ง ทั้งหลาย!

ยังจำกันได้หรือไม่ถึงคำพูดที่ก้องหูประชาชนของรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่บอกว่า จะตั้งใคร คนนั้นก็ต้องคุมได้!          

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐนตรี จึงมีวุฒิสมาชิกชุดนี้ลงคะแนนเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กันถึง 249 คน จากจำนวน 250 คน

ขาดไปแค่ประธานวุฒิสภาเพียงคนเดียวเท่านั้น!

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการแก้ไขในเรื่องสำคัญคือตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

จึงเป็นเรื่องที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ต้องแสดงความเห็นคัดค้าน หรือแม้กระทั่งการ เดินเกม ให้มีการ ตั้งคณะกรรมการศึกษา เพื่อ ยื้อเวลา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่ต่างอะไรกับเรื่อง การปฏิรูปตำรวจ

แม้ว่าประชาชนรวมทั้งตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่จะมีความคับแค้นใจต้องการให้รัฐบาลจัดการแก้ปัญหาและปฏิรูปตำรวจ ส่งเสียงเรียกร้องกันมากเท่าใด

แต่คนที่มีอำนาจก็ไม่ได้ยินหรือเข้าใจว่า ทุกวันนี้ประชาชนและตำรวจผู้น้อยเดือดร้อนจากปัญหาตำรวจในเรื่องอะไร?

เพราะฟังตามรายงานของตำรวจผู้ใหญ่ สถิติอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด บ่อนการพนัน สถานบันเทิงผิดกฎหมายและแหล่งอบายมุขสารพัด ก็ควบคุมตามตัวชี้วัดได้ทุกเรื่อง!ป

ปัญหาการวิ่งเต้นและแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม และปัญหาการรับส่วยสินบนซื้อขายตำแหน่งของตำรวจผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว!

ไม่มีตำรวจหน่วยใดทำงานไม่บรรลุเป้าหมายหรือสร้างความเดือดร้อนอะไรให้ประชาชนเลย?

การปฏิรูปตำรวจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 258 (ง) ที่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 260 ขึ้นดำเนินการ โดยจำกัดสัดส่วนผู้เป็นตำรวจไว้ 

ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในปัจจุบันและอดีตมีบทบาทครอบงำความคิดในการปฏิรูปที่แท้จริงได้

ระบุให้ดำเนินการแล้วเสร็จในหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ปรากฏในมาตรา 260 วรรคสอง

 หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนด การแต่งตั้งตำรวจทุกตำแหน่งให้ยึดอาวุโสอย่างเดียวตามวรรคสาม

ก็กลับถูกแก้ไขด้วยมติคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมาให้กลายว่า การแต่งตั้งไม่ต้องยึดหลักอาวุโสตามที่บัญญัติไว้แต่อย่างใด

และเมื่อเกิดปัญหาคับขันว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หัวหน้า คสช.ก็ใช้วิธีออกคำสั่งรับรองว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วทุกประการ!  

คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ได้มีการเปลี่ยนไปหลายชุด   ตั้งแต่ชุดที่ พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน มาจนกระทั่งชุดที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รวมทั้งชุดที่นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ได้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา และ พ.ร.บ.ตำรวจเสนอนายกรัฐมนตรีไปหลายเดือนแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจถือเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการบริหารงานภายในดีขึ้นระดับหนึ่ง ซึ่งได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรวมทั้งตำรวจผู้ใหญ่ในหลายขั้นตอนมากมาย

รวมทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ในส่วนที่ว่าด้วยการสอบสวน

พร้อมที่จะนำเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป

แต่สุดท้ายกลับถูก มือไม่ดี ถ่วงเวลา?

ส่งกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภาเสียที

เรื่องดีๆ ของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับมีชัยนี้ ก็เช่น

“หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย” ที่ให้พิจารณาตามอาวุโสเป็นหลักทุกตำแหน่ง บวกกับคะแนนการประเมินผลจากภาคประชาชนส่วนหนึ่งตามที่กำหนดไว้

ในการเลื่อนตำแหน่ง ให้กระทำได้เฉพาะบุคคลในสายงาน และต้องดำรงตำแหน่งในสถานีขนาดเล็กก่อนสองปีจึงมีสิทธิเลื่อนไปสถานีระดับกลางและใหญ่เป็นลำดับไป  เหมือนการแต่งตั้งนายอำเภอ

สายงานสอบสวนถูกแยกออกจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม ไม่ให้หัวหน้าสถานี ผบก.และ ผบช.มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการสอบสวนโดยมิชอบตามกฎหมายได้เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่หลักเกณฑ์ที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับตำรวจส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสายและไม่ได้อยู่ใน เครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ของสถาบันและรุ่นของตำรวจที่กระทำกันมาอย่างยาวนาน

รวมทั้งจะเป็นหลักประกันให้ตำรวจผู้น้อยสามารถปฏิบัติงานรักษากฎหมายและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

กลับถูกกลุ่มตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการผู้จะเสียประโยชน์ เนื่องจากจะทำให้ตำรวจผู้น้อยจะไม่มาวิ่งเต้น ดูแลส่งส่วยหรือเสนอประโยชน์อะไรให้ในการเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งโยกย้าย

จึงได้ สุมหัว กัน ตัดสาระสำคัญเหล่านี้ออกไป

และจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจขึ้นใหม่ โดย ไม่มีที่มาที่ไปตามกฎหมาย เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา เป็น ฉบับปฏิลวง ถ่วงเวลาการปฏิรูปที่แท้จริง หลอกประชาชนและตำรวจด้วยกัน แทน.

ประชามติลวง

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 28 ก.ย. 2563