วงเสวนาซัดตร.แปลงสารร่างพรบ.ตำรวจชี้ขัดรธน.อัด’ประยุทธ์’ไม่จริงใจยื้อเวลาหวังชาตินี้คงมีปฏิรูป

วงเสวนาซัดตร.แปลงสารร่างพรบ.ตำรวจชี้ขัดรธน.อัด’ประยุทธ์’ไม่จริงใจยื้อเวลาหวังชาตินี้คงมีปฏิรูป

ยื้อปฏิรูปตำรวจ

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 28 ก.ย. 2563   สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ  จัดงานเสวนา “ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ-ยื้อปฏิรูปตร. รนไทยยังรอไหวหรือไม่” โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ดร.นิดาวรรณ เพราะสุนทร ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  เป็นผู้ร่วมเสวนา

 

โดยนายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับข้อกล่าวหา ส.ว.ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวโหวตงดออกเสียงในการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนรับหลักการในวาระ 1 แต่การตั้งคณะกรรมาธิการก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เพราะมีการเสนอกฎหมายเข้าสภาถึง 6 ร่าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษารายละเอียดก่อน และหากโหวตไปในวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา เชื่อว่ามีแนวโน้มสูงที่ทั้ง 6 ร่างจะตก เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข ทั้งหลักการและเห็นว่าขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หลังการศึกษาในกรรมาธิการเป็นเวลาครบ 1 เดือนแล้ว หากไม่มีการลงมติในร่างแก้ไขทั้ง 6 ฉบับ เชื่อว่าผู้เสนอจะต้องถอนร่างออกจากสภา โดยทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในการเสนอร่างฉบับใหม่เข้าไปแทน

 

นายคำนูณ กล่าวว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการกำหนดการปฏิรูปประเทศอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติเฉพาะด้วยว่า ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจภายในเวลา 1 ปี  แต่แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนมาดีอย่างไร แต่ถ้าผู้ใช้ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีความหมาย เป็นเพียงตัวอักษรในแผ่นกระดาษ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ถือว่าเป็นร่างที่ดีที่สุด แต่ถือว่าตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆที่สอดคล้องกับการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ต้องพิจารณาใน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.อาวุโสร้อยละ 45  2.ความรู้ความสามารถร้อยละ 25 และ 3.ประเมินจากคะแนนที่ได้จากประชาชนร้อยละ 30

 

“เรื่องสําคัญคือการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหาก ป้องกันการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตํารวจ  เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวน ที่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่าย เช่นที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบัน ก็ถูกตัดออกไป พร้อมกับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของตํารวจแต่ละคนโดยภาคประชาชน  ซึ่งจะส่งผลทําให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น  ในช่วงเริ่มต้น รัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากคณะกรรมการปฏิรูปยังทำงานไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักอาวุโส แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งสำนักนายกฯให้การแต่งตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาตำรวจส่วนหนึ่งจึงไปร้องต่อศาลปกครอง และไม่นานนัก พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกคำสั่งมาตรา 44 รับรองคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ว่าชอบด้วยกฎหมาย” นายคำนูณ กล่าว

 

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ต้นปี 2562 ร่างฉบับนายมีชัยกลับมาสู่สำนักเลขา ครม.โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ไม่เห็นด้วย ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งรัฐบาลใหม่ และกำกับผู้แล สตช.เอง พร้อมตั้งนายมีชัย ขึ้นมาพิจารณากฎหมายอีกครั้ง จากนั้นวันที่ 15 มิ.ย.2563 สตช.ทำหนังสือถึงร่างฉบับนายมีชัย ตั้งข้อสังเกตไม่เห็นด้วย 14 ประเด็นหลัก 100 ประเด็นย่อย ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงให้ สตช.นำร่างดังกล่าวไปปรับปรุง ก่อนที่ ครม.จะเห็นชอบในวันที่ 15 ก.ย. 2563 โดยตัดหัวใจสำคัญของการปฏิรูป 2 ประเด็นไป ทั้งการประเมินจากประชาชนและการทำงานของพนักงานสอบสวน

 

“โดยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่ผ่าน ครม.แล้ว ไม่ตรงรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง (4)เกี่ยวกับการแต่งตั้ง และมาตรา 260 ที่ตำรวจไม่น่าจะมีอำนาจเสนอกฎหมายนี้เอง ดังนั้น ร่างฉบับดังกล่าวจึงเป็นการแปลงสาร ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตนก็จะเสนอแปรญัตติให้กลับไปเป็นร่างของนายมีชัย ถ้าสามารถทำได้”นายคำนูณ กล่าว

ยื้อปฏิรูปตำรวจ

ด้าน รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า ถ้าถามว่าใครยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องบอกว่าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) โดยมีการวางแผนมาก่อน เพราะเห็นว่า ส.ว.จะไม่ให้ร่างกฎหมายผ่านรัฐสภา นอกจากนี้ พรรค พปชร.อาจไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงพยายามหาวิธีการเลื่อนออกไป และหากโหวตเพื่อรับหลักการในวันที่ 24 ก.ย. ก็จะเกิดกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปด้วยเสียงข้างน้อย ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวนอกสภา อันมีชนวนจาก ส.ว.เป็นผู้ขัดขวาง นอกจากนี้ยังเห็นว่า การตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาในเวลา 1 เดือนนั้น ยังเป็นการซื้อเวลาเพื่อกล่อมพรรคร่วม ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาจมีการเสนอร่างแก้ไขฉบับใหม่เข้าสภา

 

“ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะเกี่ยวข้องกับการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แสดงออกว่าอยากให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภา นั่นเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะที่ ส.ว.เห็นว่าอำนาจทางการเมืองเป็นเอกสิทธิ์ของพวกเขา ไม่ได้เห็นว่าอำนาจเป็นของประชาชน ทั้งนี้ ผลจากการเลื่อนโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลพอสมควร และยังผลักปัญหาออกนอกสภา ถือเป็นการตัดโอกาสการแก้ไขปัญหาในระบบ ทำให้คนไม่ไว้วางใจระบบรัฐสภาอย่างรุนแรง จึงขอให้การยื้อครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย”

 

รศ.ดร.พิชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิรูปตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ ยื้อเวลาด้วยหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเจตจำนงที่อ่อนแอในการปฏิรูปตำรวจ แม้มีการตั้งคณะกรรมการแล้ว ก็ไม่ได้ลงไปกำกับผลักดัน เป็นเพียงการทำตามกระแสข้อเรียกร้องของสังคม และ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมองว่า หากเปลี่ยนแปลง เช่น ปรับระบบโยกย้ายใหม่ ก็จะกระทบนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาที่กำลังจะได้รับตำแหน่ง ทำให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปแบบเดียวกับทหาร ทั้งที่อำนาจหน้าที่และพื้นฐานต่างกันมาก

 

ดร.นิดาวรรณ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีล่าสุด ไม่ถือเป็นการปฏิรูป เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเท่านั้น ทั้งนี้ อำนาจของการสอบสวนที่เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมแทบจะไม่ถูกปรับปรุงแก้ไขเลย ในช่วงยุครัฐบาล คสช.อำนาจในการสอบสวนเป็นปัญหามาก โดยมีการออกคำสั่ง คสช. 7/59 ปรับกระบวนการพนักงานสอบสวน มีการข้ามสายงานจากปราบปรามมาเป็นพนักงานสอบสวน เป็นยุคที่มีพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายจำนวนมาก ทั้งนี้ เชื่อว่าการปฏิรูปตำรวจ จะไม่เกิดขึ้นในยุคนี้อย่างแน่นอน แต่หวังว่าจะได้มีการปฏิรูปตำรวจกันในชาตินี้ การปฏิรูปตำรวจควรเน้นไปที่การลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยมีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ พนักงานสอบสวนต้องมีอิสระ

ยื้อปฏิรูปตำรวจ

ขณะที่พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตํารวจ ฉบับที่ สตช.เสนอต่อนายกรัฐมนตรี  ไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ซึ่งกําหนดให้การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต้องดําเนินการโดยคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามองค์ประกอบของบคุคลที่กําหนด โดยจํากัดสัดส่วนผู้เป็นตํารวจไว้  เพื่อป้องกันไม่ให้ตํารวจผู้ใหญ่ทั้งในปัจจุบันและอดีตมีบทบาทครอบงําทิศทางปฏิรูปเช่นที่ผ่านมา  จึงถือว่าการที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว  ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนอกจากนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนายมีชัย ยังถูกตัดออกไป เช่น การกําหนดให้ตํารวจบางประเภทไม่มียศเพื่อลดความเป็นศักดินาของตํารวจ  การแนกสายงานสอบสวนออกจากหัวหน้าสถานีตำรวจ และหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ชัดเจนโดยให้ยึดหลักอาวุโส เป็นต้น

 

“งานสอบสวนปัจจุบันขาดการตรวจสอบจากภายนอกโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นโดยฝ่ายปกครอง ผวจ.และ นายอำเภอ หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการตามหลักสากล  ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้เลย หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวน หรือคดีไม่คืบหน้าอย่างไรก็ตาม คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่เป็นการร่วมกันกระทำความผิด ในลักษณะ “ซ่องโจร”  ซึ่งการดำเนินคดีตามกฎหมายก็เป็นไปอย่างล่าช้า  แต่ก็ทำให้การปฏิรูปตำรวจกลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง”

ยื้อปฏิรูปตำรวจ

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จริงใจในการปฏิรูปตำรวจหรือไม่?  แนวทางการปฏิรูปที่ถูกต้อง ทำให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดของจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯจะทราบดีว่าปัญหาในแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร  แต่ปัจจุบัน ผบก.ตำรวจจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่เข้าประชุมกับจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานด้วยซ้ำ และ ผกก.สถานี ก็ไม่เข้าร่วมประชุมกับนายอำเภอ เพราะกลัวถูกหัวหน้าส่วนราชการที่ร่วมประชุมซักถามปัญหาต่างๆ ที่ตอบไม่ได้หรือไม่อยากตอบ  จึงไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งสิ้น  แล้วบ้านเมืองเราจะอยู่กันอย่างไร