วงเสวนาหวั่นแกนนำม็อบโดนอุ้ม!เร่งดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายบังคับใช้ให้สำเร็จ

วงเสวนาหวั่นแกนนำม็อบโดนอุ้ม!เร่งดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายบังคับใช้ให้สำเร็จ

 

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  เวลา09.30 วันที่ 27 ก.ย. 2563  คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง“รัฐสภากับการพัฒนาระบบกฎหมายอำนวยความยุติธรรมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน”

 

โดยรศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ บรรยายพิเศษ “คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ กับความหวังในการอำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” ว่า เมื่อปี 2550 รัฐให้สัตยาบรรณรับรองกติกาสากล ว่าด้วย การป้องกันการทรมาน ต่อมาอีก 5 ปีรัฐไทยก็ลงนามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย การป้องกันการอุ้มหาย ซึ่งรัฐไทย จะต้องมาออกกฎหมายภายในให้สอดคล้อง จึงเป็นร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายดังกล่าว ผ่าน สนช.ในยุค คสช.    กระทั่ง กมธ.กฎหมายปัจจุบัน นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นและนำเข้าสู่สภาพิจารณาต่อไป มีการกำหนดการเยียวเหยื่อ, การกำหนดหรือลงโทษผู้กระทำผิดโยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการระบุถึงหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบของเจ้าพนักงาน ไม่ถือเป็นหลักฐานทางคดีได้ด้วยนั้น อยากขอให้ประชาชนตื่นตัว ติดตามความคืบหน้า เพื่อการมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้

 

รศ.ดร.โคทม กล่าวถึงกรณีทรมานและอุ้มหายในประเทศ รวมถึงการผลักดันกฎหมายป้องกันเรื่องนี้ ว่า  คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกหรือตระหนัก เพราะคิดว่าไม่ถึงตัวเขา แต่วันใดที่โดนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมรังแกแล้วจะรู้สึก ดังนั้น การปกป้องสิทธิ์ของคนๆเดียวไม่ให้ถูกรังแก ถือเป็นการปกป้องหลักยุติธรรมและคนในสังคมไม่ให้ถูกรังแกหรือเลือกปฏิบัติด้วย

 

“กฎหมายไม่ได้ยุติธรรมเสมอไป ดังนั้น กฎหมายต้องอยู่ใต้หลักยุติธรรม โดยยกหลักคิดของ “จอห์น รอลว์ส” นักปรัชญาการเมืองและทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม ชาวอเมริกัน ที่นิยามความยุติธรรมว่า    1.) คือ โอกาสเท่าเทียมกันของคนทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย 2.) ความยุติธรรม ต้องช่วยผู้ด้อยโอกาสในจำนวนที่มากที่สุดให้ได้โอกาสมากขึ้น และ 3.) ยังต้องมีหลักสิทธิมนุษยชนด้วย    ดังนั้น อำนาจรัฐจะอ้างคุณค่านามธรรม ทั้งความมั่นคง ความสงบต่างๆ มาลิดรอนสิทธิ์ปัจเจกบุคคลไม่ได้ รวมทั้งจะอ้างว่า หากเป็นคนดี ไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัวนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น”รศ.ดร.โคทม

 

จากนั้นเป็นการเสวนา“ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายความก้าวหน้าครั้งใหม่ของสิทธิมนุษยชนไทย”โดย นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  กล่าวว่า จากประสบการณ์ในประเทศไทย คนที่ถูกอุ้มหายมักถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนไม่ดี อาทิ ทนายโจร เป็นคนที่ต่อต้านรัฐ ซึ่งสังคมไม่ต้องไปใส่ใจ ตนในฐานะของเหยื่อที่สู้มา16ปี อยากบอกว่าชีวิตไม่ปกติอีกต่อไป แม้จะมีการชดเชยเยียวยา ขอย้ำว่าการอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เชื่อว่ามีการวางแผนมาล่วงหน้า ทำเป็นกระบวนการ นี่ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ดังนั้นต้องเป็นคดีอาญา ไม่มีการนิรโทษกรรม ไม่มีอายุความ

 

“สิ่งสำคัญที่สุดคือมีเจตจำนงทางการเมือง อย่าให้กฎหมายนี้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ที่ไปตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา เชื่อว่าภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน จะออกกฎหมายที่ดีต่อประชาชนได้ เข้าใจว่า ส.ว. หรือรัฐบาลบางคน กังวลกับกฎหมายที่ไม่มีอายุความ กังวลว่าจะสาวมาถึงตัวเองหรือไม่”นางอังคณา กล่าว

 

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฎหมายป้องกันการทรมาน การอุ้มหาย พูดกันมานาน และพูดคุยกันจริงจังอีกครั้งหลังเหตุการณ์อุ้มนายวันเฉลิม ทางกมธ.ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ซึ่งวันแรกที่เรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ข้อมูลนั้นไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย แสดงให้เห็นว่าในการปกป้องสิทธิประชาชนไม่ให้ถูกอุ้มหาย ในทางปฏิบัติของรัฐไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร จึงสะท้อนว่า วันนี้ถ้าเป็นเราที่โดนอุ้ม ขอให้รู้ว่าไม่มีขั้นตอนใดๆ ที่จะทำให้มั่นใจว่าเราจะได้กลับมา หรือถ้ากลับมาก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม ทางแก้คือการผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมาน และอุ้มหายออกมาให้ได้

 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากมธ.มีการปรับปรุงร่างประชาชนหลายเรื่องและเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว แต่ยังไม่มีการบรรจุวาระการพิจารณาในสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนกังวลอยู่ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายที่ ส.ส.นั้นไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สภาต้องเร่งพิจารณา หากได้รับการบรรจุก็ต้องไปต่อแถวท้ายสุด กว่าสภาจะพิจารณาต้องใช้เวลานาน ผมไม่มั่นใจว่าต่อให้รัฐบาลอยู่ครบ4ปี กฎหมายนี้จะได้รับการพิจารณาเมื่อไหร่ ทางแก้ไขคือ ส.ส.ต้องเข้าชื่อขอเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน หลังจากนั้นตั้งกมธ.มาพิจารณาใช้เวลา60-90วัน ก็เข้าสู่วาระ2วาระ3คิดว่าการพิจารณาของสภา ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่น่ากังวลคือชั้นของส.ว. ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะมี ส.ว.หลายคนมีส่วนได้เสียกับการป้องกันการอุ้มหาย และซ้อมทรมานหรือไม่ โดยเฉพาะสถานที่ที่มักมีปัญหามายาวนานคือ3จังหวัดชายแดนใต้ เพราะมีการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึกที่ให้มีการควบคุมบุคคลได้7วัน มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมตัวได้30วัน รวม2ฉบับ ควบคุมตัวได้37วัน ซึ่งเราไม่รู้ว่าช่วงเวลานี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ที่ได้ยินมาเป็นระยะคือมีการซ้อมทรมาน

 

“ตราบใดที่ยังมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย เราจะไม่สามารถมั่นใจว่าจะมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประชาชน ถ้าเราไม่สามารถเชื่อมั่นใจระบบกฎหมายได้ เวลาก้มดูจุดยืนของเรา ถ้าเราสื่อสารข้างรัฐบาลคงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกอุ้มหาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อยู่ตรงข้าม สิ่งที่กังวลคือเมื่อไหร่เราจะเป็นรายต่อไปที่จะถูกอุ้มหาย สภาวะแบบนี้ไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย กฎหมายป้องกันการอุ้มหายไม่ใช่การเยียวยาคนไม่กี่คน แต่คือการสร้างความปลอดภัยให้คนทั้งประเทศ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่เราต้องผลักดัน” นายรังสิมันต์ กล่าว

 

นางสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย  กล่าวว่า หลังจากที่นายวันเฉลิมถูกอุ้มหายไป ทางญาติต่อสู้มาตลอดอีก8วันก็จะครบ4เดือน ที่ผ่านมามีการไปยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ รัฐบาลเพิกเฉยมาก เข้าใจว่าตอนนี้ประเทศไทยมีหลายเรื่องเกิดขึ้น คิดว่ารัฐบาลคงเรียงลำดับความสำคัญของการอุ้มหายเป็นลำดับรอง แต่เนื่องจากเป็นคนไทยควรได้รับการช่วยเหลือบ้าง ครอบครัวลำบากเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในไทย เราไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ แต่ต้นเหตุการณ์ลี้ภัยของนายวันเฉลิม เพราะมีการแสดงความเห็นแตกต่างทางการเมืองไทย และอีก9รายที่หายไปยังไม่รู้ชะตากรรม

 

“วันนี้มีเด็กนักเรียน นักศึกษาออกมาขึ้นเวทีแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งกำลังถูกคุกคามรายวัน เพราะเป็นนักเรียนก็ไม่มีเว้น เสี่ยงต่อการถูกอุ้มหาย ดังนั้นจึงขอให้การผลักดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายให้สำเร็จ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อุ้มหายขึ้นอีก และขอประชาชนเป็นหูเป็นตาช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองด้วย ไม่อยากให้เกิดการอุ้ยหายขึ้นอีกเป็นกรณีที่10อยากให้รัฐฟังความเห็นประชาชนบ้าง หากเห็นว่าการแสดงออกต่างๆ ไม่ถูกต้อง ควรใช้หลักการพูดคุย แนะนำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า”นางสิตานันท์ กล่าว

 

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า จากข้อมูลของยูเอ็นพบว่ามีการบังคับสูญหายกว่า87ราย หลายรายญาติยังตามหาอยู่ตลอด และสะเทือนใจทุกครั้งเมื่อมีรายงานข่าวพบศพไร้ญาติ ดังนั้นการผลักดันให้มีร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายเป็นเรื่องสำคัญมาก มีการเสนอมานาน แต่ก็ยังไม่สามารถออกมาได้ วันนี้ส.ส.ในสภากว่า200คนเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ แต่ที่ยังล่าช้าอยู่เพราะรัฐบาลยื้อด้วยขั้นตอนต่างๆ ตอนนี้อยู่ในมือกฤษฎีกาแก้ไขแต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ ถ้ายังไม่ยุบสภาก็ขอให้เอากฎหมายนี้เข้าสู่สภา

 

“หากรัฐบาลจริงใจควรเร่งรัดให้กฤษฎีกาแก้ไขฉบับของเราโดยเร็ว และผ่านกระบวนการทุกอย่างเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมสภาสมัยหน้า โดยกฎหมายจะต้องกำหนดให้การควบคุมตัวทุกรูปแบบห้ามทรมาน และอุ้มหาย ต้องเป็นคดีอาญา ไม่มีอายุความ มีการฟื้นฟูเยียวยาญาติทุกด้านตามตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามเราปฏิเสธการลงโทษด้วยการประหารชีวิต”นางสาวพรเพ็ญ กล่าว