ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำของไทยเร่งด่วนและกลไกของกฎหมายต่างประเทศ

ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำของไทยเร่งด่วนและกลไกของกฎหมายต่างประเทศ

ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำของไทยเร่งด่วน และกลไกของกฎหมายต่างประเทศ

 

                                                           นักกฎหมายไทยในดอยช์แลนด์

ในช่วงที่ผ่านมา คงไม่มีใครไม่ทราบถึงการยุติคดีหรือการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีลูกชายของบริษัทกระทิงแดง ดูเหมือนว่าคนในประเทศจะได้ตัดสินกันไปแล้วว่าเป็น การเป่าคดีหรือการโกงกฎหมาย และดูเหมือนว่าข้อครหาต่อกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำของไทยไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหน เช่นคดีนาฬิกาของคนในฝ่ายรัฐบาลและคดีอื่นๆ แต่เมื่อเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่องราวก็จะถูกลบเลือนไปจากสังคมไทยอย่างง่ายดาย

เมื่อชายตาดูโดยรอบ จะพบว่าสังคมไทยพูดกันถึงแต่ ปรากฏการณ์ (phenomenon) แต่ยังไม่เห็นใครพูดถึง  ทฤษฎีหรือหลักการ (theory or doctrine) ที่จะสร้างทางออกหรือแก้จุดอ่อนให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้ปัญหาหรือปรากฏการณ์เช่นนี้กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยอีก และเพื่อจะนำไปสู่ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” ในที่สุด

การปฏิรูปมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่และจะต้องปฏิรูปอย่างไรนั้น อาจเรียบเรียงแนวความคิดตามลำดับได้ดังนี้

1.การเป่าคดีหรือการโกงกฎหมายทำนองนี้ ในประเทศไทยมีน้อยมากหรือ เพราะเหตุใดจึงเกิดเป็นคดีความกันเพียงน้อยนิด

2.แน่นอนว่าข่าวหรือข้อครหาทำนองนี้เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะตาสีตาสายังรู้ แล้วเพราะเหตุใดทำไมเจ้าหน้าที่รัฐที่โกงกฎหมายจึงไม่ค่อยถูกดำเนินคดีหรือแม้จะถูกดำเนินคดีแต่ก็ไม่ได้ติดคุกเป็นเรื่องเป็นราว …นั่นแสดงว่ากฎหมายไม่ฟังก์ชันหรือไม่สามารถใช้บังคับได้ใช่หรือไม่?

3.กฎหมายที่ว่านั้นมี 2 ประเภท คือ สารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ …เหตุที่กลไกทางกฎหมายไม่สามารถบังคับได้นั้น เป็นผลมาจากระบบตรวจสอบใน วิธีสบัญญัติ (procedure) …เพราะประเทศไทยไม่มี ระบบ Controller (การตรวจสอบภายนอก) เหมือนประเทศที่ระบบยุติธรรมได้มาตรฐาน ดังนั้น ไทยจึงต้องมี Ombudsmann กระบวนการยุติธรรม เพื่อมาเป็นกลไกให้กฎหมายมีพลังหรือกำลัง (Kraft/ force) ซึ่งออมบุสแมนฯ จะต้องเข้ามาตรวจตรากระบวนการยุติธรรมตลอดทั้งสายและทำงานในเชิงรุกเหมือนระบบในยุโรป โดยไม่ต้องรอผู้เสียหายมาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษก่อน (เพราะไม่มีอยู่แล้ว เนื่องจากทุกฝ่ายกินอิ่มสมประโยชน์กัน) แต่หากออมบุสแมนฯ ทำผิดเสียเองหรือเพิกเฉยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็ให้มีกลไกที่สามารถให้ศาลฎีกาตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” เพื่อรวบรวมหลักฐานและพิจารณาส่งฟ้องยัง “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ได้

4.สำหรับ “สารบัญญัติ (substantive law)” เพื่อเป็นการขันนอตให้แน่นขึ้น ควรจะสถาปนาเพิ่มเติมความผิด (criminalize)…

4.1.ความผิดฐานทำลายหรือขัดขวางกระบวนการยุติธรรม : มีคุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครอง “กระบวนการยุติธรรม” เป็นสำคัญ เปรียบเสมือนบอดี้การ์ดที่จะคอยคุ้มครองให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยเที่ยงตรง (Impartiality)

4.2.ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายหรือโกงกฎหมาย : คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานนี้ มุ่งคุ้มครอง หลักนิติรัฐ (state under the law/ Rechtsstaat) มิให้ผู้ถืออำนาจรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถืออำนาจรัฐใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา …ประกอบกับในทางปฏิบัติการจะหาพยานหลักฐานใน “ข้อหาเกี่ยวกับสินบน” จากผู้ให้และเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น หากเห็นได้ชัดว่ามีการบิดเบือนกฎหมายหรือหักดิบกฎหมาย ในลักษณะ “สร้างอภินิหารทางกฎหมาย” อย่างจงใจ ย่อมอยู่ในข่ายที่จะมีความผิดในข้อหานี้

ความผิดทั้ง 2 ฐานดังกล่าว จะเป็นยาที่จะมาแก้โรคเหล่านี้ได้โดยเฉพาะ อย่างเช่นในต่างประเทศ เพราะ…

1.มีคุณธรรมทางกฎหมายเฉพาะและชัดเจน ถูกต้องตามโมเดลของกฎหมายอาญาที่โลกยอมรับ …ไม่กวาดกองมั่วซั่ว อันจะนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งต่อ “การตีความกฎหมายอาญาที่ต้องเคร่งครัด” ซึ่งเป็นนิติวิธี (legal methodology) ที่สำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law)

2.สามารถกวาดกองได้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและ ประชาชนที่ร่วมกันทำลายกระบวนการยุติธรรม ได้ครบทั้งแก๊ง

3.ในชั้นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของศาล จะสามารถทำได้อย่างเที่ยงธรรมสมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้คดีจะมาถึงศาลบ้างและยากอยู่แล้ว แต่ศาลมักรอลงอาญาเสมอ แม้ว่าจะเป็นการโกงกฎหมายก็ตาม  (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549 และคำพิพากษาฎีกาอื่นๆ)

4.ประชาชนทั่วไปมี perception ต่อความเสียหายจากการทำลายกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น และจะตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะจนหรือรวย หากกระทำความผิดอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายมีกำลัง (force) ที่สามารถบังคับใช้ (enforce) ได้โดยเสมอภาค …ทั้งจะเป็นการส่งเสริมให้ ระบบนิติรัฐหรือการปกครองด้วยกฎหมาย มีประสิทธิภาพมั่นคง และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยได้ด้วยในตัว.

 

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 2563

ภาพประกอบจา https://www.investopedia.com/terms/o/ombudsman.asp