สป.ยธ.ยกเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวต้นเหตุคดี5ศพพยานหลักฐานไม่ชัดเจนจี้ปฏิรูปงานสอบสวน คดีฆ่าผู้อื่นให้อัยการ-ปกครองร่วมตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกัน

สป.ยธ.ยกเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวต้นเหตุคดี5ศพพยานหลักฐานไม่ชัดเจนจี้ปฏิรูปงานสอบสวน คดีฆ่าผู้อื่นให้อัยการ-ปกครองร่วมตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกัน

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2562 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) โดย ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  ประธานสป.ยธ. ออกแถลงการณ์ เรื่อง  เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีเนื้อหาดังนี้

 

กรณีที่ได้เกิดเหตุการณ์นายคณากร     เพียรชนะ  ผู้พิพากษาศาลประจำจังหวัดยะลาพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกด้านซ้ายข้างบัลลังก์หลังจากอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ๕ คนในคดีฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายรวม ๕ ศพ   โดยออกแถลงการณ์เผยแพร่ไปล่วงหน้าว่า  เนื่องจากถูกอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ พยายามแทรกแซงการวินิจฉัย  โดยให้ลงโทษประหารชีวิตและตลอดชีวิตจำเลยทั้งห้า  ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม  และเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตาม  โดยอ่านคำพิพากษายกฟ้อง   ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตราชการของตนเอง  ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างแท้จริงนั้น

 

สป.ยธ. เห็นว่า  เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลสั่นคลอนความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลอย่างร้ายแรงยิ่ง  ซึ่งควรที่ประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการจะได้เร่งตรวจสอบค้นหาความจริงว่า  การปฏิบัติของอธิบดีศาลในการตรวจร่างคำพิพากษาและระเบียบดังกล่าว  ถือว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา  ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๘ วรรคสองหรือไม่  และหากเป็นความจริง  จะแก้ไขอย่างไร   รีบชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยเร็วที่สุด

 

นอกจากนั้น  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว แม้จะยังไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุด  แต่ก็แสดงว่าพนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ศาลรับฟังและเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยได้   ซึ่งแม้จะถือว่าทุกคนได้รับความยุติธรรม  ไม่ถูกศาลพิพากษาลงโทษโดยไม่ได้กระทำผิด  หรือพยานหลักฐานไม่สิ้นสงสัย   แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อรัฐและผู้เสียหายอย่างร้ายแรงยิ่ง   คือรัฐไม่สามารถนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงมาลงโทษได้  ส่วนญาติพี่น้องของผู้ถูกฆ่าก็เกิดความคับแค้นใจ  และไม่ได้รับการชดใช้ทางแพ่งใดๆ จากผู้กระทำผิดหากคำพิพากษาถึงที่สุด

 

ปัญหาในลักษณะดังกล่าวและที่เกิดขึ้นทั่วประเทศอีกมากมายที่ศาลพิพากษายกฟ้อง  เนื่องจากพยานหลักฐานจากการสอบสวนไม่ชัดเจนแต่พนักงานอัยการก็จำเป็นต้องสั่งฟ้องไปเท่าที่ปรากฎเช่นนี้  เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขและปฏิรูปโดยเร็ว  เพื่อทำให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องมาตรฐานสากล  โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีบทบัญญัติที่สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนดังนี้

 

๑. เมื่อเกิดคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป  ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้พนักงานอัยการทราบทันที  ซึ่งพนักงานอัยการอาจเข้าตรวจที่เกิดเหตุ  หรือตรวจสอบสั่งการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามที่เห็นว่าจำเป็นต่อการฟ้องคดีได้

 

๒. เมื่อเกิดคดีฆ่าผู้อื่น  ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้พนักงานอัยการและนายอำเภอทราบทันที  และให้ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมกันทั้งสามฝ่าย โดยทุกฝ่ายต้องบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเก็บเป็นหลักฐานไว้

 

๓. การสอบปากคำผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และประจักษ์พยาน ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานเพื่อให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี

 

๔. กรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการว่า  พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์  หรือไม่ได้ดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย  หรือไม่ได้รับความยุติธรรม  ให้พนักงานอัยการมีอำนาจแจ้งให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาตรวจสอบ หรือเข้าควบคุมสั่งการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร็ว

 

๕. การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ  ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ โดยอัยการต้องมั่นใจว่า  เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลใดมาแล้ว  จะสามารถสั่งฟ้องแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้เท่านั้น