โจทก์ร่วมคดีเหยื่ออุ้มฆ่า’วัยรุ่นกาฬสินธุ์’ช่วงสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ ร้องปธ.ศาลฎีกาตั้งกก.สอบองค์คณะผู้พิพากษาฎีกาวินิจฉัยพลิกยกฟ้องจำเลยเหมาเข่ง

โจทก์ร่วมคดีเหยื่ออุ้มฆ่า’วัยรุ่นกาฬสินธุ์’ช่วงสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ ร้องปธ.ศาลฎีกาตั้งกก.สอบองค์คณะผู้พิพากษาฎีกาวินิจฉัยพลิกยกฟ้องจำเลยเหมาเข่ง

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2562 นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ในคดีอุ้มฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี (หลานชายนางพิกุล)ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้ส่งหนังสือที่อ้างถึงสารของประธานศาลฎีกา (นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนใหม่) ในการรับฟังความคิดเห็น สภาพปัญหา และข้อเสนอแนะ ผ่านทางไปรษณีย์ต่อประธานศาลฎีกา และประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการวินิจฉัยคดีขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ในคดีอุ้มฆ่านายเกียรติศักดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตช่วงปี 2544-2549 ที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก

 

คดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์ กับ นายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง โจทก์ร่วม เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง
เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปีเศษ  ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต จากนั้นจึงร่วมกันปิดบังเหตุการณ์ตายโดยย้ายศพผู้ตายจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน ม. 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 4- 6 ได้ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

 

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 ว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี และพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

 

พิกุล พรหมจันทร์
(นางพิกุล กับทนายโจทก์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลฎีกายกฟ้องจำเลย)

จากนั้นศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 ให้พิพากษากลับ ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด

 

โดยหนังสือร้องเรียนของนางพิกุล มีเนื้อหาดังนี้

ข้าพเจ้านางพิกุล  พรหมจันทร์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ขอเรียนว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาต่อคดีนี้ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมและสาธารณชน รวมถึงญาติของผู้ตายว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง  ซึ่งหมายถึงพยานหลักฐานทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนของศาล  การที่ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ได้ก็ต่อเมื่อศาลได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว ปรากฏว่ามีเหตุอันควรสงสัย จึงจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยได้

 

คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานมากมาย ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร โดยเฉพาะพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบปากคำพยานไว้เป็นจำนวนมากกว่า 100 ปาก  โจทก์และโจทก์ร่วมนำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้นจำนวน 26 ปาก  ฝ่ายจำเลยและทนายความจำเลยทุกคนได้มีการแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ซึ่งโจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาลจำนวน 52 ปาก  พยานบุคคลดังกล่าว รวมถึงพยานนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยและพยานในคดี รายงานการชันสูตรพลิกศพ ล้วนเป็นพยานประพฤติเหตุแวดล้อมกรณีหรือพยานแวดล้อมที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งในช่วงก่อนเกิดเหตุขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุเชื่อมโยงสอดคล้องเป็นลูกโซ่ได้ไม่ขาดตอนจนสามารถรับฟังได้ว่าการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์  ถิตย์บุญครอง นั้นเกิดขึ้นขณะยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์  การที่ศาลฎีกาหยิบยกพยานเพียงปากเดียวคือ นางสาวนภศรหรืออรัญญา มาหาญ  ขึ้นมาวินิจฉัยว่าพยานปากนี้ไม่น่าเชื่อถือแล้วสรุปว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งหมดไม่น่าเชื่อถือ  คดีมีเหตุอันควรสงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งหกนั้น ต้องด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ คดีนี้โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหกยื่นฎีกา และได้ยื่นคำแก้ฎีกาไว้หลายประเด็น แต่ศาลหาได้หยิบยกประเด็นฎีกาและคำแก้ฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหกขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลฎีกา  ซึ่งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติไว้ว่า

 

“มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใดหากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

 

(1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย…”

 

“ มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใดหากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาและเฉพาะในศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาคและศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วยทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

 

ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา…”

 

“มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึงกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไปหรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษาในคดีนั้นได้”

 

จากกรณีคดีนี้ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 2 คน จึงมีข้อควรพิจารณาว่า  กรณีมีผู้พิพากษาซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาที่เสียชีวิตที่มีบันทึกอ้างว่าพ้นจากตำแหน่งนั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลว่าท่านพ้นจากตำแหน่งเมื่อใด  และเพราะเหตุใดจึงไม่ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือมีข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นใด  การที่มีผู้พิพากษาเพียง 2 คน ลงนาม จะถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกานั้นสมบูรณ์หรือไม่

 

เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการจัดงาน “เสวนาวิชาการ หัวข้อการวิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลในคดีอาญา ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด” ที่จัดขึ้นโดย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน   และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ได้มีกล่าวถึงปัญหาในประเด็นการรับฟังและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล  รวมถึงประเด็นการคุ้มครองพยาน ผ่านกรณีคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์  ในงานเสวนานี้นักวิชาการหลายท่านได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาคดี ตลอดจนประเด็นเรื่องการคุ้มครองพยานไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น รายละเอียดปรากฏตามรายงานสรุปความเห็นจากงานเสวนา สิ่งที่ส่งมาด้วย 2.

 

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า  ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน พยานปากสำคัญในคดีก็ถูกข่มขู่คุกคามจนต้องหลบหนี คดีมีความยากลำบากในการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องสูญเสียทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคล ตลอดจนภาระของผู้เสียหายเอง ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  คลายความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมและสาธารณชน และเป็นการดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ  เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญซึ่งมีการติดตามจากสื่อมวลชนและประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ประธานศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่วินิจฉัยคดีขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ด้วย  หากการพิจารณามีผลออกมาเป็นประการใด  กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบตามที่อยู่ข้างต้น  ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

พิกุล พรหมจันทร์