‘โจ๊ก’ผิด’อาญา-วินัย’เรื่องใดPolice Watchจี้’ประยุทธ์’แจงเหตุผลสั่งเด้ง เร่งแก้ปัญหาทุจริตรับส่วยสินบน

‘โจ๊ก’ผิด’อาญา-วินัย’เรื่องใดPolice Watchจี้’ประยุทธ์’แจงเหตุผลสั่งเด้ง เร่งแก้ปัญหาทุจริตรับส่วยสินบน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งผู้รับผิดชอบชี้แจงเหตุผลของการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๒/๒๕๖๒ โอนพลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล พ้นจากตำรวจเป็นข้าราชการพลเรือน และเร่งแก้ปัญหาตำรวจทุจริตประพฤติมิชอบรวมทั้งดำเนินการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเร็ว มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ ๒๓๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒ ให้พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยขาดจากตำแหน่งเดิม และต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ ๒/๒๕๖๒ ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๒ ให้โอนไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำรวจเป็นข้าราชการพลเรือนระหว่างดำเนินการตรวจสอบการทุจริตตามคำสั่ง คสช.ที่ ๑๖/๒๕๕๘ นั้น

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงในหมู่ประชาชนอย่างมากว่า พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ฯ ได้กระทำหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญาหรือวินัยร้ายแรงในเรื่องอะไรลักษณะใด และการกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนมากน้อยเพียงใด หัวหน้า คสช.จึงได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกคำสั่งให้พ้นจากความเป็นตำรวจไปดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเช่นนี้

ปัญหาดังกล่าว ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่เคยชี้แจงเหตุผลของการออกคำสั่งนี้แต่อย่างใด ทำให้ประชาชนโจทย์ขานกันไปในทางเสื่อมเสียต่างๆ นาๆ เช่น มาจากปัญหาการเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง หรือปัญหาการเช่ารถมูลค่า ๗๐ ล้านบาทของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือการทุจริตประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่กรณีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรตำรวจในภาพรวมและกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของชาติอย่างยิ่ง

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจจึงขอเรียกร้องต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีดังนี้

๑. ให้สั่ง ผบ.ตร.ชี้แจงว่า การเสนอให้หัวหน้า คสช.ลงนามในคำสั่งดังกล่าว เนื่องจาก พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ฯ มีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาหรือวินัยร้ายแรงในเรื่องใด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนมากน้อยเพียงใด ได้มีการดำเนินคดีอาญาหรือตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ มอบหมายให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ อยู่ในขั้นตอนใด จะแล้วเสร็จเมื่อใด?

๒.ให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาตำรวจดังนี้

๒.๑ เร่งสืบสวนดำเนินคดีอาญาตำรวจผู้ใหญ่ที่ทุจริตประพฤติมิชอบในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่รับส่วยสินบนจากแหล่งอบายมุขต่างๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดอย่างจริงจัง หากยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญา ก็ให้ดำเนินการทางปกครองหัวหน้าสถานีและผู้บังคับการตำรวจผู้รับผิดชอบโดยถือว่าบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเกิดความเสียหายต่อราชการ ให้สั่ง “พักราชการ” หรือ “สำรองราชการ” ทันที หากมีหน่วยอื่นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือทหารเข้าจับกุมได้

๒.๒ เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนด้วยการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสนอ นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตราเป็นกฎหมายโดยเร็วพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการสอบสวนที่นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งการตรากฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว ถือเป็นการปฏิรูประบบตำรวจและงานสอบสวนที่จะสามารถลดความเดือดร้อนของประชาชนเบื้องต้นลงได้ระดับหนึ่ง