ผู้หญิงกับการทำหน้าที่ของตำรวจไทย- สมศรี หาญอนันทสุข

ผู้หญิงกับการทำหน้าที่ของตำรวจไทย- สมศรี หาญอนันทสุข

ผู้หญิงกับการทำหน้าที่ของตำรวจไทย

                                                                                                            สมศรี หาญอนันทสุข

หากไม่เปล่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมของตำรวจที่มีต่อผู้หญิงไทยทั่วประเทศให้รัฐบาลที่มี คสช.หนุนนำได้ฟังเสียงครั้งนี้ เราคงจะไม่มีโอกาสพูดถึงได้ในรัฐบาลพลเรือนหรือไม่? เป็นคำถามที่ท้าทายชวนสงสัยเพราะคนไทยจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานของตำรวจเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลไม่อยากแตะต้อง คงคิดว่าความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากตำรวจส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดกับผู้ต้องหาชาย สังคมไทยหารู้ไม่ว่าทัศนคติและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยในปัจจุบันที่มักละเลยหน้าที่ ทำงานล่าช้า และมากด้วยลีลา ได้สร้างปัญหาให้กับกระบวนการยุติธรรม สร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้หญิงไทยและหญิงต่างชาติมากกว่าเรื่องที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายเท่านัก

สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม. เปิดเผยในปลายเดือน กรกฎาคม 2561 ว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยสถิติในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน

ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เคยรายงานคดีข่มขืนในไทยในปี 2552 – 2556 เป็นค่าเฉลี่ยคดีข่มขืนในไทยเฉพาะที่มีการแจ้งความในเรื่องข่มขืนปีละประมาณ 4,000 คดี ตำรวจจับคนร้ายได้ 2,400 คดี แต่เมื่อมีการทำวิจัยของศูนย์พัฒนาข้อมูลกระทรวงยุติธรรมกลับได้ข้อสรุปว่า มีคดีข่มขืนที่ไม่ได้แจ้งความประมาณร้อยละ 87 นั่นหมายความว่า 1 ปี อาจมีคดีข่มขืนในไทยมากถึง 30,000 คดี ไม่ใช่ 4,000 คดี (แหล่งข่าว: ข่าวสามมิติ 12 มีนาคม 59)  การไม่แจ้งความมีหลายสาเหตุและที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งคือการไม่รับแจ้งความ หรือรับเพียงบันทึกประจำวันที่ไม่มีเลขคดีให้

ประเด็นพื้นฐานที่รับรู้กันทั่วไปผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหามักจะเป็นคนยากจน ไร้การศึกษา เป็นคนชายขอบ และผู้หญิงจากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีความรู้ ไม่มีอำนาจต่อรอง เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสิ้นหวังท้อแท้กับกระบวนยุติธรรม สิ่งที่อดพูดถึงไม่ได้เนื่องจากการรับฟังปัญหา และสิ่งที่ได้ประสบมากับตัวเองมันพิสูจน์ความจริงว่า คนในสังคมไทยต้องทนอยู่กับกลุ่มคนในเครื่องแบบที่มีอำนาจล้นฟ้าและเจ้าหน้าที่หลายคนไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นผู้ทำร้ายสังคมจนทำให้ผู้หญิงชินชา คนไทยไม่มีความหวังจากรัฐบาลชุดไหนได้อีก นอกจากการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของผู้หญิง ต้องต่อสู้กับคนรอบข้าง กับคนใกล้ตัวแล้ว ยังต้องต่อสู้เพื่อผลักดันให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาด้วย

ยังมีใครจะบอกว่าไม่จริงอีกหรือ?….เมื่อผู้หญิงที่ถูกคนในบ้านหรือที่ทำงานทำร้ายเกิดขึ้นอยู่ทุกวันแล้วไปแจ้งความแต่ตำรวจกลับไม่รับแจ้งความ ไม่แทรกแซง จนความรุนแรงในครอบครัวมันขยายบานปลาย จนทำให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นในครอบครัว และเป็นโศกนาฏกรรมที่ผู้มีชีวิตอยู่ต้องรับกรรมกับความล่มสลายของทั้งสองฝ่าย เสียเงิน เสียใจ เสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง หากมีลูกก็จะเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ ปู่ย่าตายายต้องรับภาระหนักหน่วงเพราะเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็ต้องติดคุก เพียงเพราะตำรวจไม่รับแจ้งความไม่แทรกแซงแต่แรกหรือบางรายไม่มีความรู้ว่ามันมีทางออกอย่างไร

ที่เลวร้ายมากกว่านั้นคือผู้หญิงมักถูกมองว่าที่มาแจ้งความเพราะพวกเธอไม่มีความอดทน ไม่ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีจึงถูกซ้อม ทรมาน ส่วนหญิงที่ถูกทำร้ายในที่ทำงานหากจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็จะถูกหาว่าแจ้งความเท็จ มีการแจ้งความกลับฐานหมิ่นประมาทให้พวกเธอเจ็บช้ำน้ำใจอีก การละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจอยู่แล้ว ทำให้ผู้ร้องเรียนหมดที่พึ่ง บางรายหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป ถึงกับทำร้ายปลิดชีวิตตัวเอง ความรุนแรงนี้ยังเกิดขึ้นกับผู้หญิงในครอบครัวตำรวจเองโดยคนรอบข้างไม่ห้ามปราม ถือว่าเป็น “เรื่องภายในครอบครัว”

เรื่องของทัศนคติเท่านั้นหรือ?

หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ประกอบกัน…..คดีของผู้หญิงมักเป็นตัวเพิ่มหรือลดสถิติจำนวนคดีของแต่ละโรงพัก เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยในชุมชนของวงการตำรวจ ถ้ามีสถิติการแจ้งความน้อย แสดงว่าตำรวจทำงานคุ้มครองประชาชนในแต่ละเดือนได้ดี ผู้บังคับบัญชาอาจจะปูมบำเหน็จรางวัลหรือเลื่อนขั้นการทำงานตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถือว่าเป็นผลงานของทุกคนใน สน.และ สภ.ด้วย

สำหรับผู้หญิงที่ถูกนำตัวป้อนเข้าสู่สถานประกอบการผิดกฏหมาย (จะด้วยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม) มันเป็นกระบวนการที่แลกกับผลประโยชน์มหาศาลระหว่างตำรวจกับเจ้าของสถานประกอบการ กิจการแหล่งบันเทิง บ่อนการพนัน สถานบริการทางเพศที่สัมพันธ์กับกระบวนการค้ามนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้นยังอาศัยความจำเป็นในการอยู่รอด ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ด้วยการค้ายาเสพติดด้วย โดยนำพวกเธอและบรรดาเด็กหญิงเข้าไปเป็นตัวจักรสำคัญในการหาผลประโยชน์ คอยส่งส่วย หรือให้ผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ดังที่เป็นข่าวใหญ่กับ กรณีสถานอาบอบนวดนาตารีย่านรัชดาฯที่ชุดเฉพาะกิจกรมการปกครองบุกจับ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และต่อมาดีเอสไอร่วมกับกรมการปกครองบุกจับสถานอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท จนมีการย้ายตำรวจ 5 เสือ สน.วังทองหลาง เมื่อเดือนมกราคม 2561 ซึ่งอดีตตำรวจ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ยอมรับว่าการที่นายประเสริฐ สุขขี เจ้าของนาตาลี มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนี้ได้อย่างเปิดเผยต้องมีการความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับตำรวจระดับสูง

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานประกอบการเกือบทุกแห่งอยู่รอดปลอดภัย เปิดบริการมอมเมาเกินเวลาได้ทั่วประเทศ เพราะตำรวจคอยพิทักษ์ปกป้อง ยอมให้มีการทำผิดกฎหมาย ยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18  ปี ให้บริการหาเงินกันเกลื่อนไปหมด

การละเมิดทางเพศ ข่มขู่ คุกคาม ผู้หญิงในที่ทำงาน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในสถานที่ต่างๆ พวกเธอต้องบากหน้าไปร้องเรียนตำรวจในท้องที่นั้นๆ นอกจากที่ผู้หญิงและเด็กหญิงจะขาดความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย อยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้  เธอยังต้องเผชิญกับคำถามที่ไม่เหมาะสมในการสอบสวน บางกรณีตำรวจแทบไม่ทำอะไรให้เธอเลย เพราะบอกว่าไม่มีหลักฐาน มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกซักถามให้อับอายด้วยคำถามว่า “สมยอมหรือเปล่า” หรือถามให้จนใจว่า “แน่ใจอย่างไรว่าท้องกับผู้ชายคนนี้” นอกจากนี้การที่ตำรวจมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้กระทำผิด ทำให้ผู้ร้องทุกข์ไม่ไว้วางใจ ไม่กล้าเดินหน้าคดี หลายคดีไม่คืบหน้าเป็นเวลานาน และภาระต่างๆทำให้พวกเธอต้องยุติไปเองในที่สุด สร้างความคับแค้นใจให้กับผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง หลายเรื่องที่ผู้หญิงไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ทำให้เพียงบันทึกประจำวันเท่านั้น ผู้หญิงไม่ทราบว่านั่นไม่ใช่กระบวนการร้องทุกข์ เรื่องราวที่ร้องไปจึงไม่มีอะไรคืบหน้า การที่เจ้าหน้าที่ไม่ชี้แจงประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายหรือไม่รู้ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง แต่ไม่มีใครทำอะไรได้

สำหรับประเทศไทยการสอบสวนปากคำผู้หญิงที่สถานีตำรวจ มักจะไม่ทำในห้องสอบสวนที่เป็นสัดส่วนที่มีกล้องวงจรปิดหรือไม่มีการบันทึกภาพและเสียงที่ถ่ายทอดพฤติกรรมคำพูดของตำรวจและคำตอบของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานในการสอบสวน  สถานีตำรวจหลายแห่งมีคนเดินพลุกพล่านในระหว่างการสอบสวน สามารถได้ยินคำให้การได้อย่างง่ายดาย ไม่มีความลับ

ผู้หญิงรองรับความเดือนร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ

ความเดือดร้อนให้กับผู้หญิงผู้เป็นแม่ เมีย พี่สาวน้องสาวที่ต้องรับภาระจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปและที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และในจังหวัดต่างๆ ในหลายกรณีเมื่อเจ้าหน้าที่ได้นำตัวคนในบ้านของพวกเธอไปโดยไม่รู้สาเหตุ ถูกซ้อมทรมาน หายตัวไร้ร่องรอย วิสามัญ ยัดยา ทำให้พวกเธอต้องรับกรรมในการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ดูแลเด็กและคนแก่ในบ้าน และทำงานหาเงินไปด้วย แต่สิ่งที่จะกล่าวในชั้นนี้คือการจับกุมกรณียาเสพติดแล้วเหมารวมเอาแพะผู้หญิงไปด้วยโดยไม่มีการพิสูจน์หลักฐานให้ชัดเจนว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือไม่  ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องมาเป็นผู้ต้องขัง ส่งผลให้ครอบครัวเดือดร้อนสาหัสสากรรจ์ ในกรณีที่ผู้หญิงทำผิดจริงแต่การลงโทษมีลักษณะเกินเลยจากความผิดที่ควรได้รับ โดยอัยการและศาลก็ไม่สามารถช่วยผู้บริสุทธิ์ได้ หลายเรื่องอัยการรับเรื่องเท็จมาจากตำรวจ พอพบว่าหลักฐานอ่อนก็สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้องบนข้อมูลหลักฐานที่เกินจริง ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้พวกเธอต้องเสียเวลา เสียประวัติ เป็นหนี้เป็นสิน เพราะไม่ได้ทำงาน

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้เคยเสวนาเรื่องนักโทษหญิง เห็นว่าเรือนจำหญิงแออัดมากโดยเฉพาะในช่วงเวลานอนที่แทบจะขยับตัวไม่ได้เลย สภาพสุขภาวะในการอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดโรคติดต่อกันอย่างง่ายดาย สภาพจิตใจที่เต็มไปด้วยความห่วงใย กังวลถึงความปลอดภัยของลูก พ่อแม่ และภาระทางบ้าน  มีการเสนอให้ทบทวนการพิจารณาโทษ ปรับวิธีการลงโทษกันใหม่สำหรับนักโทษ และนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการติดตาม

แรงงานหญิงข้ามชาติ  คงจะอดพูดถึงไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้เผชิญปัญหาในสถานประกอบการที่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจ ผู้หญิงเหล่านี้ขาดอำนาจต่อรอง สถานประกอบการ หรือโรงงานบางแห่งใช้แรงงานเสมือนแรงงานทาส พวกเธอถูกยึดเอกสารเดินทาง ไม่ได้รับเงินเดือน หรือรับไม่ครบ ทำงานไม่ได้พักผ่อนมากพอ และหลายคนต้องทำหน้าที่บริการทางเพศไปด้วย บางคนถูกทำร้ายร่างกายและเสียชีวิต หรือถูกขายต่อไปยังพ่อค้าคนกลางอื่นๆ ดังเช่นแรงงานในไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง  แรงงานทาสเหล่านี้รู้ว่าแจ้งความไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้รับส่วย มีผลประโยชน์จากผู้ประกอบการอย่างเป็นกอบเป็นกำ แรงงานพม่าในกรุงเทพฯเกือบทุกคนเคยมีประสบการณ์ถูกรีดไถต้องจ่ายเงินเป็นค่าผ่านด่านในเขตชายแดนมาแล้วทั้งนั้นไม่ว่าตนเองจะเข้ามาทำงานถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

ผู้หญิงไทยและผู้หญิงจากประเทศเพื่อนบ้านจะต้องเผชิญกับปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวอย่างนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษถ้ารัฐบาลไทยยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากตำรวจต่อผู้หญิง และยังมัวปล่อยให้ตำรวจทำงานอย่างผิวเผิน กำหนดทุกอย่างเองได้ ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และหากรัฐบาล ส.ส. กับ ส.ว. ชุดใหญ่ ยังเมินประเด็นสาระสำคัญที่ประชาชนเรียกร้อง โดยเฉพาะให้การสอบสวนเป็นอิสระจากผู้บังคับการ สน.และ สภ. ปัญหาของประชาชนคงจะมีอยู่ต่อไปหรืออาจจะมากขึ้น นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องมั่นใจว่าการทำให้ตำรวจ มีความเป็นมืออาชีพ ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ จะช่วยสร้างมาตรฐาน เสริมประสิทธิภาพที่เป็นคุณประโยชน์มหาศาลต่อคนในชาติทุกคน