ปฏิรูปตำรวจแสนง่าย ถ้ากล้าหาญ และจริงใจต่อชาติประชาชน

ปฏิรูปตำรวจแสนง่าย ถ้ากล้าหาญ และจริงใจต่อชาติประชาชน

วิรุตม์

ปฏิรูปตำรวจแสนง่าย ถ้ากล้าหาญ และจริงใจต่อชาติประชาชน

 

                                                                 พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ขอย้ำว่า ทุกวันเวลาที่ผ่านไป ประเทศชาติรวมทั้งประชาชนได้รับความเสียหายจากปัญหางานรักษากฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพเหลือคณานับ นอกจากนั้นผู้คนจำนวนมากก็ เกิดความคับแค้นใจ ในกรณีมีผู้กระทำผิดอาญาสารพัดเดินลอยนวลอยู่ในสังคม เย้ยรัฐอยู่ทุกวัน

ปัญหาเหล่านี้ เป็นผลมาจากการทุจริตฉ้อฉลของตำรวจผู้ใหญ่ที่กระทำกันหลายรูปแบบที่สำคัญก็คือ การรับส่วยสินบน ที่ส่งผลให้ตำรวจผู้น้อยซึ่งสังคมเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า ชั้นประทวน ประมาณหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นนาย ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริตในงานสอบสวน ซึ่งหน่วยตำรวจ รวมศูนย์อำนาจการเริ่มคดี ไว้แทบทั้งหมด จะไม่สอบสวนล้มคดี หรือประวิงเวลากันไว้อย่างไรก็ได้?

ส่งผลให้งานรักษากฎหมายทั้งของตำรวจและทุกกระทรวงทบวงกรมล้มเหลวตามไปด้วย!       

  เช่นปัญหาฝุ่นและควันพิษที่ทุกคนรู้ว่าเกิดจากปัญหาการจราจรติดขัด ส่วนหนึ่งก็มาจากการรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่จากผู้ประกอบการที่จอดรถผิดกฎหมายกีดขวางทางจราจร รวมทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกินที่ทำให้เกิดควันดำขณะรถวิ่งและถนนเสียหาย

ปัจจุบันหลายพื้นที่โดยเฉพาะย่านชานเมือง มีการปล่อยให้รถบรรทุก แล่นได้ในเวลาห้าม ตรงกับเวลาเดินทางไปทำงานและกลับบ้านของประชาชนจนการจราจรติดขัดอย่างยิ่ง  

หรือปัญหาสิ่งก่อสร้างที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถสอบสวนผู้กระทำผิดที่ไม่ยอมให้ปรับส่งให้อัยการฟ้องศาลตามที่ พ.ร.บ.กรุงเทพมหานครบัญญัติไว้ในมาตรา 90 วรรคสี่ ได้อย่างแสนประหลาด!    

รัฐบาลแทบทุกยุคสมัยได้ปล่อยให้ตำรวจผู้ใหญ่ทุจริตรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกหนัก หวยใต้ดิน บ่อนการพนัน และสถานบันเทิงผิดกฎหมายขายยาเสพติด เด็กและเยาวชนเข้าใช้บริการกันมาอย่างยาวนานจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

นายพลตำรวจหลายคนจึงมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี บางคนมีบ้านหลังใหญ่ในต่างประเทศ สืบทอดอาชีพกันยันลูกหลาน โดยไม่มีผู้มีอำนาจคนใดคิดจัดการแก้ปัญหาแต่อย่างใด

เนื่องจากผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ ติดกับดักแห่งคำเท็จ   ถูกตำรวจผู้ใหญ่เป่าหูอยู่ทุกวันว่า ปัญหาตำรวจเกิดจากคนน้อย งบขาด อำนาจไม่พอ การเมืองแทรกแซง ฯลฯ

ทำให้ปัญหาสะสมตัวรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา

อย่างการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ในอดีตเห็นแค่การวิ่งเต้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้มีอำนาจ บางคนไปนั่งหน้าบ้านเฝ้าเช้าเย็นเสนอตัวเป็นผู้รับใช้ในทุกเรื่อง มีพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นการ ซื้อขายตำแหน่ง ไป ไม่ต้องนั่งรอให้ใครมาส่งส่วยรายเดือนให้ดูประดักประเดิดและเสียเวลา 

ใครอยากได้สถานีหรือหน่วยงานที่หมายปอง ก็เสนอมาว่าพร้อมเท่าใด มีใครรับรองรับประกันหรือไม่?

บางคน ต้องกัดฟันจ่าย เพื่อไม่ไห้ถูกย้ายลดชั้น  หรือจากมือปราบไปอยู่ฝ่ายอำนวยการเป็น ตำรวจเอกสาร หรือออกนอกหน่วยงานนอกภาคเกิดความหายนะต่อชีวิตราชการและครอบครัว!     

ปัญหาเหล่านี้ ตำรวจผู้น้อยทุกคนไม่เคยเห็นรัฐจัดการหรือมีการดำเนินคดีกับ ตำรวจผู้ใหญ่ที่รับส่วย อย่างจริงจังแต่อย่างใด

ทำให้ตำรวจระดับ รองผู้บังคับการและสารวัตรไปจนถึงนายดาบตำรวจ ในตำรวจภาค 4 หกนาย หลงเชื่อแม้กระทั่งคนขับแท็กซี่ ยอมจ่ายเงินรวม สี่ล้าน หวังได้รับการโยกย้ายเป็นข่าวใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2561 ในช่วงนั้นมีผู้บังคับบัญชาบอกว่า ตำรวจเหล่านี้มีความผิดอาญาข้อหาเป็นผู้สนับสนุน ต้องดำเนินคดี และมีความผิดวินัยร้ายแรงถูกไล่ออกปลดออกจากราชการ

แต่จนกระทั่งขณะนี้ ก็ยังไม่ได้ยินว่า ผลการสอบสวน อัยการได้สั่งฟ้องคดี ทำให้คนขับรถแท็กซี่และผู้ที่เกี่ยวข้องติดคุกติดตะรางไปแล้วกี่คน?

ระบบตำรวจที่เป็นเช่นนี้ ได้ทำให้ตำรวจผู้น้อยจำนวนหนึ่งก็อยากรวยเหมือนตำรวจผู้ใหญ่ แต่หนทางนั้นแตกต่างออกไป เพราะไม่มีอำนาจบริหารที่จะสร้างเงื่อนไขให้ตำรวจนายใดมาส่งส่วยถึง ห้องทำงาน ได้

การรับสินบนจากผู้ขับรถริมถนน การขนค้ายาเสพติด  การจับผู้ต้องหาไปขังไว้ในเข้าเซฟเฮาส์ หรือ บ้านผีสิง  เพื่อต่อรองเรียกค่าไถ่หลายแสนไปจนกระทั่งนับล้านจึงเกิดขึ้นในหมู่ตำรวจผู้น้อย

ส่งผลให้ประชาชนไม่ไว้ใจตำรวจในภาพรวม เกิดการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง แม้ส่วนใหญ่จะยังปฏิบัติหน้าที่กันด้วยความสุจริตก็ตาม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ก็เคยพูดหลายครั้งว่า ปัญหาสำคัญของประเทศคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเคารพกฎหมาย และรัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านก็แถลงว่า เรื่องปฏิรูปตำรวจได้ดำเนินการไปแล้วในกรอบเวลา หนึ่งปี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 260 โดยมีร่างกฎหมายที่กำลังดำเนินการผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ อยู่สองฉบับ

ชุดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญาเกี่ยวกับการสอบสวน หลายมาตรา ที่สำคัญเช่น

ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นท้องที่เกิดเหตุ การสอบสวนต้องบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐาน ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน หรือหากพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ ให้แจ้งอัยการสอบสวนได้

ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าจนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อเร่งตราเป็นกฎหมายแต่อย่างใด?

ในส่วนของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานร่าง มุ่งขจัดสองซื้อ คือซื้อตำแหน่งและซื้อของใช้ทำงานนั้น แท้จริงเป็นแค่เรื่องการบริหารภายใน

เช่น กำหนดหลักเกณฑ์เลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายให้ชัดเจนและเป็นธรรม แยกงานสอบสวนออกไป ไม่ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้าสถานีผู้มีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม โอนตำรวจบางหน่วยไปให้กระทรวงกรมและส่วนราชการที่รับผิดชอบ 

 แต่เรื่องสำคัญที่ไม่ปรากฏก็คือ “ตำรวจต้องเป็นราชการส่วนภูมิภาค สังกัดจังหวัด” 

และร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

 รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการให้แล้วเสร็จในหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้” 

และวรรคสาม “เมื่อครบกำหนดแล้ว ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวยังไม่เสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจดำเนินการตาม หลักอาวุโส”

การปฏิรูปตำรวจที่ใครชอบบอกว่ายากเย็นนั้น  แท้จริงขณะนี้ เป็นเรื่องที่แสนง่าย

 แค่นำร่างกฎหมายสองฉบับที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดำเนินการเอง คือ ร่างแก้ไข ป.วิ อาญา ของคณะกรรมการชุดนายอัชพร จารุจินดา และร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้วเข้าสู่สภาให้ความเห็นชอบเท่านั้น

ถือเป็นการปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนของประเทศไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์.   

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, February 04, 2019