บันทึกภาพเสียงการควบคุม แจ้งอัยการ นายอำเภอและกรมการปกครองทราบ  ต้องทำทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ‘คุมตัว’ ประชาชน

บันทึกภาพเสียงการควบคุม แจ้งอัยการ นายอำเภอและกรมการปกครองทราบ ต้องทำทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ‘คุมตัว’ ประชาชน

ยุติธรรมวิวัฒน์

บันทึกภาพเสียงการควบคุม แจ้งอัยการ นายอำเภอและกรมการปกครองทราบ  ต้องทำทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ‘คุมตัว’ ประชาชน

                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

หลัง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 ได้มีเจ้าพนักงานของรัฐหลายฝ่ายที่ใช้อำนาจทั้งตาม ป.วิ อาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวประชาชนตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ยังไม่เข้าใจชัดแจ้งว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้

โดยเฉพาะกรณีมาตรา 22 บัญญัติให้ต้อง บันทึกภาพและเสียง รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวประชาชนให้อัยการ นายอำเภอ และกรมการปกครองทราบ

จึงขออธิบายให้ประชาชนและเจ้าพนักงานรัฐทุกฝ่ายได้เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องรวมทั้งเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนดังนี้

 จับ เป็นคำกริยาที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไปว่า  หมายถึง อาการที่ใช้มือแตะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กำไว้ หรือยึดไว้

แต่ การจับในทางกฎหมาย หาได้มีความหมายเพียงเท่านั้น

หากหมายถึง การกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ตัวบุคคล ซึ่งกฎหมายเรียกว่า ผู้ถูกจับ ไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง

ผู้มีอำนาจจับก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และจะจับบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือหมายจับของศาล  หรือเมื่อพบบุคคลใดกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมี เหตุสำคัญจำเป็นต้องรีบจับ โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายจับ

ส่วนราษฎรจะมีอำนาจจับผู้อื่นก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า เฉพาะตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ อาญา

ซึ่งเป็นความผิดอาญาร้ายแรงที่กระทบต่อความรู้สึกและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เป็นการจับที่เกิดจากสามัญสำนึกที่ดีของมนุษย์ทุกคน

เมื่อมีการจับแล้ว เจ้าพนักงานผู้จับมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ถูกจับไป ส่งพนักงานสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนทันที ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง

การจับก่อให้เกิดอำนาจควบคุม หรืออีกนัยหนึ่ง อำนาจควบคุมเป็นผลของการจับ ซึ่งเป็นอำนาจในการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของ ผู้ถูกจับ

ฉะนั้น เมื่อมีการจับก็ย่อมต้องมีการควบคุมเกิดขึ้นเสมอ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 87 วรรคหนึ่งว่า “ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี”

ป.วิ อาญา มาตรา 2 (21) บัญญัติว่า “ควบคุม” หมายถึง การคุม หรือ กักขังผู้ถูกจับ โดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน

ควบคุม” จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของผู้ถูกจับใน 2 วิธีคือ “การคุม” กับ “การกักขัง”

กักขัง คือ การจำกัดเสรีภาพการเคลื่อนที่ทางร่างกายโดยการ ให้อยู่ในที่จำกัด เช่น ห้องควบคุมสถานีตำรวจ

ส่วน การคุมผู้ถูกจับ นั้น มิใช่เป็นการจำกัดเสรีภาพ ในที่จำกัด แต่ เป็นการกระทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ร่างกายของตนได้โดยอิสระหรือตามใจอยาก

ผู้ถูกจับที่มีฐานะเป็นผู้ต้องหาแล้วและถูกควบคุม มีสิทธิได้รับการ “ปล่อยชั่วคราว” หรือที่เรียกกันว่า “ประกันตัว” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 106

คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” กับ “ปล่อยตัว” จึงมีความหมายคนละอย่างกัน

พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 3 บัญญัติความหมายของคำ “ควบคุมตัว” ไว้ หมายถึง การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำด้วยประการอื่นใดอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล

มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ควบคุม” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 2 (21)

การขัง  ก็มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 2 (22) ซึ่งหมายถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล

เป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาให้อยู่ในสถานที่จำกัด เช่น เรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ใช้อำนาจตามหมายขังของศาล

ส่วน การกักตัว นั้น เป็นการ จำกัดการเคลื่อนที่ทางร่างกายของบุคคลไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ที่ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจ กักตัว ผู้ขับขี่ที่ไม่ยอมให้ตรวจสอบว่าเสพยาเสพติดหรือไม่

หรือในมาตรา 142 ที่ให้มีอำนาจ กักตัว ผู้ขับรถที่ไม่ยอมทดสอบว่าขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่

โดยเมื่อผู้ขับรถนั้นได้ยอมให้ตรวจสอบหรือทดสอบแล้วและไม่พบการกระทำผิด ก็ต้อง ปล่อยตัว ไป

การคุมตัว ขัง กักตัว หรือกักขัง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง

นอกจากนั้น ก็ยัง มีการกระทำอื่นตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในการแสวงหาหลักฐานที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายของบุคคลอยู่ในตัวอีกหลายกรณี

เช่น การค้นบุคคลในที่สาธารณะเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อพบสิ่งผิดกฎหมายตาม ป.วิ อาญา มาตรา 93

การกระทำดังกล่าวเป็นการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายของบุคคลในลักษณะที่เป็น “การคุมตัว” ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อได้ทำการค้น ตรวจสอบหรือทดสอบแล้วไม่พบความผิด ก็ต้อง ปล่อยตัว ไป

พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ มาตรา 22  บัญญัติว่า

ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว

 การควบคุมตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที……….”

คำว่าควบคุมตัวดังกล่าวจึงย่อมมิได้หมายถึงการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลโดยการขัง หรือ กักขัง

เนื่องจากข้อความที่ว่า “หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป”แสดงว่าบทบัญญัตินี้ต้องใช้ในกรณีที่มีการคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการจับด้วย

โดยความตามนัยดังกล่าว การค้นบุคคลในที่สาธารณะ การตรวจสอบผู้ขับรถว่าเสพยาเสพติด การทดสอบว่าเมาสุราแล้วไม่พบว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิด ต้องปล่อยตัวไป

เจ้าพนักงานรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพ เสียง อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งให้อัยการ นายอำเภอ และกรมการปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ด้วยเช่นกัน

เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันมิให้ประชาชนผู้ถูกเจ้าพนักงานรัฐคุมตัวไว้ทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย “ไม่สามารถช่วยตัวเองได้” ถูกละเมิดไม่ว่าในรูปแบบใด

ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายที่เข้าข่าย “การกระทำทรมานฯ”

รวมทั้ง “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มีโทษจำคุกถึงสามปี.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 21 ส.ค. 2566