‘ผู้ว่าฯ นายอำเภอ’ จับบ่อนพนัน ผับบาร์ผิดกฎหมาย ยุบ ‘บช.ตร.ภาค’ ได้ ปัญหาจะหมดไป

‘ผู้ว่าฯ นายอำเภอ’ จับบ่อนพนัน ผับบาร์ผิดกฎหมาย ยุบ ‘บช.ตร.ภาค’ ได้ ปัญหาจะหมดไป

    

 

ยุติธรรมวิวัฒน์
“ผู้ว่าฯ นายอำเภอ” จับบ่อนพนัน ผับบาร์ผิดกฎหมาย ยุบ “บช.ตร.ภาค” ได้ ปัญหาจะหมดไป

                                                                                                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่า ปัญหาอาชญากรรมแท้จริงในประเทศไทยรุนแรงมากน้อยใด?

ถ้าใครไปถามพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งขณะมีอำนาจเต็มและรักษาการ รวมทั้ง ผบ.ตร.

ทั้งสองคนก็จะบอกว่า  ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าไม่รุนแรง!

พร้อมแสดง “สถิติการรับคำร้องทุกข์”  ของตำรวจทุกสถานีและทุกจังหวัดว่า

ลดลงทุกปีไม่ว่าคดีประเภทใด?  

เพราะการรับแจ้งความของตำรวจไทยในปัจจุบันจะใช้วิธี

“ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานเพื่อจะดำเนินการสอบสวนต่อไป”?

ซึ่งมีความหมายแท้จริงว่า “ยังไม่มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย” ในขณะรับแจ้งความทันทีตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา ๑๓๐ บัญญัติไว้

ให้ “ทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า” เพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไป

ไม่มีการบันทึกคำร้องทุกข์ของประชาชนเข้าสารบบคดีอาญาตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชากันกว่าร้อยละ ๙๙ !

หรือที่เรียกกันในวงการตำรวจไทยว่า “การเป่าคดี”

มีวิธีและกลอุบายมากมายตามที่ “อาจารย์สอบสวน” หลายคนได้บอกสอนแนะนำตำรวจรุ่นใหม่ไว้!

ทำให้ในความเป็นจริง  คนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะคนยากจนต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาจากปัญหาอาชญากรรมสารพัด!

คนหนุ่มสาวลูกชาวไร่ชาวนาเข้ามาทำงานในเมืองหลวง พักอาศัยอยู่ในหอพักหรือห้องแบ่งเช่า

ปัจจุบันต้องเฝ้ารถจักรยานยนต์กันจนแทบจะต้องเอาเข้าไปจอดในห้องนอนอยู่แล้ว!

เพราะการล๊อครถไว้ไม่ว่าจะด้วยเครื่องมือรูปแบบไหนหรือกุญแจยี่ห้อใด ไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนร้ายลักเอาไปได้

ยิ่งเป็นหญิงสาว นอกจากต้องเสี่ยงภัยจากการถูกลัก วิ่ง ชิงปล้น และฉ้อโกงออนไลน์รอบตัวมากมาย

ยังต้องคอยระวังภัยจากชายหื่นในการกระทำอนาจารไปจนถึงการข่มขืนถึงห้องนอนอีกด้วย!

ในความเป็นจริง  ประเทศไทยนั้นเป็น “สังคมป่วย” อาการหนัก ที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยผ่าตัด คือ “การปฏิรูป “ ในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะงานตำรวจและการสอบสวน  ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุด

แต่ดูลู่ทางการเมืองความเคลื่อนไหวหลังเลือกตั้งมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทำนายได้ว่า ปัญหาตำรวจไทยยังคงอยู่ในวังวนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง  หรือ “อาจจะรุนแรงกว่าเดิม” ด้วยซ้ำ!

ระยะนี้ มีปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นข่าวอยู่ตลอดคือ  การที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้นำกำลัง อส.ทั้งกระทรวงมหาดไทยและอยู่ในจังหวัดหรืออำเภอ

ไปจับ “บ่อนพนัน” และ “ผับบาร์ผิดกฎหมาย” หลายแห่งมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุดรธานี เมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้

เป็นที่รู้กันว่าบ่อนพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายคือ “แหล่งเพาะอาชญากรรมร้าย” ไม่ว่าจะเป็นเหตุทำร้ายร่างกาย ค้าประเวณี กระทำอนาจาร การข่มขืน และยาเสพติด

และที่สำคัญคือ  เป็นแหล่งกำเนิดของอาชีพ “รับจ้างฆ่าและทำร้ายคน”!

เพราะการเล่นพนันผิดกฎหมาย ทวงหนี้หรือฟ้องร้องคดีกันในศาลไม่ได้

นายบ่อนจำเป็นต้องสร้างและเลี้ยงนักเลงหรือมือปืนรับจ้างเอาไว้เพื่อใช้ในการข่มขู่คนที่ไม่ใช้หนี้ หรือมีพฤติกรรมที่นายบ่อนเห็นว่าเป็นภัยต่อกิจการของตน

และในความเป็นจริง  ปัจจุบันไม่มีบ่อนพนันใด ไม่ต้องจ่ายเงินให้ให้ตำรวจผู้ใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “ส่งส่วย”

ไม่ว่าจะเป็นเก็บล่วงหน้าหรือตามระยะเวลาครึ่งเดือนหรือรายเดือน

การเปิดบ่อนพนันขนาดใหญ่ในทุกพื้นที่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ

ถ้าตำรวจที่เรียกกันหรูหราว่า “ผู้ใหญ่” ระดับนายพล ไม่ว่าคนเป็นผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการพื้นที่รวมทั้งหน่วยตำรวจส่วนกลางมีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจ 

ไม่มีนายบ่อนคิดเปิดอย่างแน่นอน

เพราะแต่ละบ่อน โดยเฉพาะบ่อนใหญ่ที่มีคนเล่นแต่ละวันเป็นร้อย  ต้องลงทุนตั้งแต่ “จ้างคน” เป็นผู้เช่าที่ดิน หรือสถานที่ มีหลักฐานตรวจสอบได้

“พร้อมถูกจับและรับสารภาพว่าเป็นนายบ่อน” ผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ยินดีรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

ต้องมีทำเลเหมาะสมอยู่ใกล้ชุมชน ลงทุนติดเครื่องปรับอากาศ จัดซื้ออุปกรณ์การเล่น มีที่จอดรถ รับจำนำรถ ฯลฯ

มีทางเข้าทางเดียว  แต่มีทางออกได้หลายทาง ตามที่ตำรวจผู้ชำนาญเรื่องส่วยแนะนำ!

แต่ละบ่อนใหญ่ จึงลงทุนกันหลายล้านไปจนถึงนับสิบล้าน

ส่วนจะเล่นได้นานแค่ไหน  ตำรวจผู้ใหญ่ที่ “รับส่วย” ไม่รับรองกรณีอาจมี “หน่วยอื่น” มาจับ

โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ตั้งแต่กรมการปกครอง ไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ไม่สามารถควบคุมได้

การจับสถานบันเทิงและบ่อนพนันผิดกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็น “งานป้องกันอาชญากรรม” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

เราจึงไม่เห็นผู้บังคับการตำรวจจังหวัด พื้นที่นครบาล หรือผู้บัญชาการตำรวจทั้งภาคและ กทม. สืบจับ หรือแม้แต่ปรากฎตัวในกรณีที่ฝ่ายปกครองบุกไปจับเองกันเลย

แต่จะรอออกคำสั่ง “ให้ ผกก.หัวหน้าสถานี และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอีกสามสี่คน” ไปปฏิบัติราชการที่จังหวัด

หรือที่สื่อเรียกันว่า “เด้ง” และตามมาด้วยการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า “มีใครรับส่วยสินบนอะไรหรือไม่?”

ซึ่งสรุปผล  ไม่เคยพบว่ามีตำรวจคนใดรับส่วยบ่อนพนันหรือสถานบริการผิดกฎหมายแม้แต่รายเดียว

โดยเฉพาะ “ผบช.ตำรวจภาค” ในปัจจุบัน  ประชาชนไม่เคยเห็นบทบาทอะไรในเรื่องเหล่านี้

จึงไม่รู้จะมีกันไว้ให้เปลืองเงินภาษีประชาชนทำไม?

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ อลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 14 ส.ค. 2566