ตำรวจไม่อยู่ในอำนาจ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ รัฐแก้ปัญหายาเสพติดและความสงบไม่ได้

ตำรวจไม่อยู่ในอำนาจ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ รัฐแก้ปัญหายาเสพติดและความสงบไม่ได้

ยุติธรรมวิวัฒน์

ตำรวจไม่อยู่ในอำนาจ“ผู้ว่าราชการจังหวัด”รัฐแก้ปัญหายาเสพติดและความสงบไม่ได้

 

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ สังหารหมู่เด็กๆ โดยอดีต ตำรวจซึ่งเพิ่งถูกไล่ออก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทำให้ประชาชนและรัฐตื่นตัวเรื่อง ปัญหายาเสพติดรวมไปถึงการครอบครองและใช้อาวุธปืน ขึ้นอย่างมาก

แต่คำถามก็คือ จะแก้ปัญหาสำคัญนี้กันอย่างไร และรากเหง้าของสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร รู้กันแน่ชัดแล้วหรือไม่?

ในการสอบสวนของตำรวจผู้ใหญ่ที่ได้พยายามรีบสรุปกันทันทีเพื่อไม่ให้มีคำถามอื่นตามมามากมายว่า เกิดจากเหตุ เมายาบ้า?

ถือเป็นเรื่องความประพฤติของบุคคลอย่างที่ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง พูดกับนักข่าวไว้ จะให้ทำอย่างไร?

พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่ความรับผิดชอบขององค์กรตำรวจหรือรัฐบาลอะไร เพราะเมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาทำผิดวินัย ก็ ได้ไล่ออกไปแล้วไง!

แต่เมื่อผลการตรวจของ โรงพยาบาลจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่พบสารเสพติดชนิดใดในร่างกายของคนร้าย ก็ทำให้ สาเหตุแห่งคดีพลิก ไปทันที!

หากก็ยังมีความพยายามของตำรวจผู้ใหญ่บางคนต้องการให้ สถาบันนิติเวชตำรวจ “ตรวจใหม่” โดยวิธีที่สุดทันสมัยไม่ต่างจากกรณีการ ตรวจศพน้องชมพู่!

เผื่อจะ ได้ผลที่ถูกใจ ตรงตามที่ตำรวจผู้ใหญ่เคยให้ข่าวไว้! จะทำให้สรุป สาเหตุของการกระทำผิด “ปิดคดี” ได้ง่ายขึ้น

ใครๆ ก็รู้ว่า ส.ต.อ.ปัญญาวางแผนจะก่อเหตุร้ายมานานแล้ว และ เป้าหมายที่แท้จริงก็คือผู้บังคับบัญชาและเพื่อนตำรวจ ด้วยกัน

เขาเคยเปรยๆ ในวงเหล้าว่า จะทำให้ดังกว่ากรณีที่โคราชอีก!

แต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะทำจริงหรือไม่ วิธีใด ต่อเป้าหมายอะไร ที่ไหน?

จะเป็นใน วันตำรวจ 17 ตุลาคม ซึ่งบางหน่วยที่มี ผู้นำบ้าอำนาจ สั่งให้ตำรวจ เดินขบวนสวนสนาม ตามด้วยการ “เรี่ยไรเงิน” จากพ่อค้าแหล่งอบายมุขมาจัดงานฉลอง อย่างสนุกสนานกันทุกปีทั้งระดับสถานี กองบังคับการ หรือกองบัญชาการตำรวจภาค ตามที่มีข่าวแว่วออกมาหรือไม่?

และนอกจากการถูกไล่ออกจากราชการแล้ว อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เขาเกิดความคับแค้นใจจนก่อเหตุร้ายสะเทือนขวัญสังคมและชาวโลกในระดับนั้น?

ซึ่งการสอบสวนกันไม่ว่าจะในทางคดีอาญา รวมทั้งด้วยวิธีหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่นใดที่ นายกรัฐมนตรีปล่อยให้ตำรวจทำเพียงฝ่ายเดียว

ไม่มีทางจะได้ความจริงที่นำมาสู่การแก้ปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างการบริหารราชการสารพัดในจังหวัดที่รัฐปล่อยให้สะสมและหมักหมมมาอย่างยาวนานแน่นอน

จากปัญหาร้อนที่ ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก ในเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นโดยมีตัวเองเป็นประธาน แก้ปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด

หวังพิชิตให้เด็ดขาด หรือทำให้การนำปืนไปใช้อย่างผิดกฎหมายและการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกชนิดลดน้อยลงตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ดังไปทั้งประเทศ

ปัญหาคือ จะแก้ไขด้วยมาตรการและกระบวนการที่ชอบตามกฎหมายอย่างไร?

หากใช้วิธี ก่ออาชญากรรม หรือ “ฆาตกรรมอำพราง” อย่างที่รัฐบาลบางยุคสมัยในปี 2546 กระทำ โดย “ผู้นำ” อวดอ้างด้วยความภูมิใจว่าเป็นความสำเร็จที่ยังไม่มีใครทำได้

มีประชาชนทั้งหญิงชายและเด็กตกเป็น “เหยื่อ” ถูกฆ่าตายไปกว่า 2,800 ชีวิต ในช่วงเวลาแค่ “สามเดือน” ที่ถูกตำรวจผู้ใหญ่ “หมายหัว” ขึ้นบัญชีพวกเขาเป็น “ผู้ค้ายาเสพติด”

ซึ่งถ้าใช้วิธีการของ “รัฐอาชญากร” เช่นนั้น รัฐบาลก็จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นที่ถูกใจของ “คนโง่” จำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน                 

ความพยายามในการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีในการตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจ ขึ้นขณะนี้ โดยมีตนเองเป็นผู้ควบคุมและสั่งการ หรือแม้กระทั่งการจัดตั้ง ศูนย์ดำรงธรรม รวมทั้ง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารพื้นที่เชิงบูรณาการ อะไรที่เพิ่งออกมาเมื่อ 18 สิงหาคม 2565

หาใช่วิธีแก้ปัญหา ความไม่มีเอกภาพการบังคับบัญชาในจังหวัด ที่จะทำให้ได้ผลอะไรอย่างแท้จริงเลย

เนื่องจากทุกหน่วยงานโดยเฉพาะ ตำรวจผู้ใหญ่ จะเกรงกลัวเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสั่งราชการและ ให้คุณให้โทษ หัวหน้าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยในจังหวัดเท่านั้น

คณะทำงานที่ตั้งกันขึ้นใหม่ จะมีผลเพียงจะทำให้ปัญหายาเสพติดทุกประเภทลดน้อยลงระดับหนึ่ง

ซึ่งตัวชี้วัดไม่ใช่จำนวนผู้เข้ารับการบำบัด หรือปริมาณยาที่จับกันแต่ละครั้งสื่อออกข่าวกันครึกโครมแต่อย่างใด

หากแต่ เมื่อใดที่ยาเสพติดทุกชนิดหาได้ยากหรือต้องใช้เงินซื้อในราคาที่สูงขึ้นจนกระทั่งหาซื้อไม่ได้ นั่นคือความสำเร็จในการแก้ปัญหาที่แท้จริง

ส่วนจะยั่งยืนแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานคณะทำงานและสั่งงานตรวจสอบการปฏิบัติของหน่วยราชการที่รับผิดชอบไปได้นานเพียงใด?

หากนายกรัฐมนตรีเหนื่อยล้าหรือมีภารกิจอื่นรัดตัว ทำให้ไม่มีเวลาที่จะควบคุมด้วยตัวเองต่อไปได้ สุดท้ายก็ต้องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดทำหน้าที่

โดยไม่สามารถ มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจสั่ง ผบ.ตร.และตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้

ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งราชการอะไรไปในเรื่องการรักษากฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยถึงผู้ว่าฯ

ผู้ว่าฯ ก็ไม่สามารถสั่งต่อไปให้ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดรีบปฏิบัติและรายงานผลให้ทราบเพื่อการตรวจสอบได้

นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันผู้บังคับการตำรวจจังหวัดแทบทั้งประเทศ ไม่ได้เข้าประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดประจำเดือนด้วยตัวเองกันแล้ว!

แทบทุกคนอ้างกันแต่ว่าติดราชการต้องไปพบผู้บัญชาการตำรวจภาคทุกเดือนจนกระทั่งย้ายจากจังหวัดนั้นไป!

เรียกว่าเขาไม่ยอมรับรู้ปัญหาอะไรหรือไปนั่งให้หัวหน้าส่วนราชการอื่นใด แจ้งข้อมูลหรือซักถามปัญหาการรักษากฎหมายหรือคดีที่มีปัญหาอะไร แม้กระทั่งปัญหาตำรวจจับคนไปเรียกค่าไถ่ หรือมีหน่วยใดเดินสายไป “รีดส่วย” จากผู้กระทำผิดกฎหมายในจังหวัด

รองผู้บังคับการหรือแม้กระทั่งผู้กำกับฝ่ายอำนวยการที่ได้รับมอบหมายให้ไปแทน แต่ละคนแต่ละเดือน ก็ได้แต่นั่งทำ หน้าเจื่อน ตอบปัญหาอะไรตามที่หัวหน้าส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัดซักถามไม่ได้

การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยในทุกจังหวัดปัจจุบัน จึงเกิดปัญหาขึ้นสารพัด

ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนได้รับความเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัสโดยที่ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และ “นายอำเภอ” ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรให้พวกเขาได้เลย!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2565