ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิลวง’

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิลวง’

ยุติธรรมวิวัฒน์

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิลวง’

                                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เหตุผลหนึ่งซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตัดสินใจสั่งให้ หัวหน้าหน่วยทหารในสังกัด นำกำลังพร้อมรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกออกมายึดอำนาจ

ประกาศตัวเป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มานั่งเรียงกันออกทีวีเมื่อวันที่ 22  พฤษภาคม 2557

พร้อมออก คำสั่งฉบับที่ 1  ในวันดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า บ้านเมืองเกิดไม่สงบเรียบร้อยชุลมุนวุ่นวายโดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมและบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าหยุดยั้งและ ควบคุมการปกครองแผ่นดิน

รวมทั้งเพื่อจะได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ ทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ปัญหาตำรวจ ที่ประชาชนผู้ชุมนุม นับล้าน ได้ส่งเสียงเรียกร้องให้ ปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเป็นลำดับแรกต้องการให้มีการกระจายอำนาจตำรวจไปสังกัดจังหวัด

ผู้ว่าฯ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ก็ต้องสามารถสั่งงานและตรวจสอบควบคุมตำรวจทุกหน่วย เป็นที่พึ่งของประชาชนในจังหวัดได้

ได้มีการตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ สปช. ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายอาชีพทุกจังหวัดจำนวน 200 คนเป็นสมาชิก ขึ้นศึกษาและเสนอหัวหน้า คสช.ว่าจะปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องตำรวจอย่างไรดี

ที่ประชุมได้มีมติเลือกให้ ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น ประธานสภาฯ

พิจารณาแนวทางปฏิรูปกัน ร่วมสองปี จนกระทั่งในช่วง ปลายปี 2558 ศ.ดร.เทียนฉาย ได้จัดทำ สรุปผลการประชุมและมติเรื่องปฏิรูปตำรวจ เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการดำเนินการโดยเร็วตามที่ได้มอบหมายไว้ใน คำสั่งตั้ง สปช. ที่สำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ

ให้โอน ตำรวจเฉพาะทางทุกหน่วยที่มี กระทรวงกรมต่างๆ เป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมายไปสังกัด

เช่นเดียวกับการโอนงานตำรวจดับเพลิงไปให้กรุงเทพมหานคร โอนงานทะเบียนรถยนต์ไปให้กรมการขนส่งทางบก และงานทะเบียนอาวุธปืนไปให้กรมการปกครองรับผิดชอบเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เพื่อจัดระบบตำรวจของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

หน่วยตำรวจที่เสนอให้โอนไปตามกฎหมายก็คือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย,  ตำรวจน้ำ ไปสังกัดกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม, ตำรวจทางหลวง ไปสังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม, ตำรวจป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ไปสังกัดกระทรวงการคลัง, ตำรวจป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค ไปสังกัดสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี, ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, อตำรวจป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไปสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ตำรวจรถไฟ ไปสังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย, ตำรวจป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ไปสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ตำรวจท่องเที่ยว ไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ, ตำรวจจราจรให้โอนไปสังกัดกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองต่างๆ

นี่คือ วิถีของการปฏิรูปตำรวจให้สอดคล้องระบบสากลที่แท้จริง เรื่องหนึ่ง นอกจากการให้ตำรวจสังกัดจังหวัดตามเสียงเรียกร้องของประชาชน

นายกรัฐมนตรีได้นำรายงาน มติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่องนี้ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และได้มีมติรับทราบ

และ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” แจ้งให้ ผบ.ตร. รวมทั้งรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันไปพิจารณาดำเนินการ และรายงานให้ทราบโดยเร็ว

แต่หลังจากนั้น และจนกระทั่งบัดนี้ ก็ไม่มีใครเคยได้ยินความเคลื่อนไหวอะไรตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเอาไว้ในเรื่องการโอนตำรวจเฉพาะทาง 12 หน่วยนี้แต่อย่างใด?

ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่ “กลุ่มตำรวจผู้ใหญ่” ได้จัดทำร่างขึ้นใหม่หลังจากได้เห็นร่างฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว “รับไม่ได้”

ทั้งๆ ที่หลายคนได้มีส่วนร่วมเป็นตัวแทนให้ความเห็นอยู่โดยตลอด

“กลุ่มนายพลตำรวจ” ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการปฏิรูปตามนั้น เพราะจะทำให้ระบบตำรวจของประเทศเปลี่ยนโฉมไประดับหนึ่งประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ทำให้เป็นปัญหาว่า ร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่และได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสองสภา โดยไม่ได้มีที่มาจากคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เป็นร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจที่ชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่?

ซ้ำ ร่างดังกล่าวก็ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรซึ่งเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจของชาติที่แท้จริงแต่อย่างใด!

สื่อมวลชนและคนไทยทั้งประเทศจึงไม่ควร “หลงประเด็น” และเสียเวลาไปกับร่างกฎหมายฉบับ “ปฏิลวง” ถ่วงเวลาการปฏิรูปที่แท้จริงฉบับนี้

รวมทั้งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้อง “เรียกร้องต่อพรรคการเมืองต่างๆ” ซึ่งจะเสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า

แต่ละพรรคมองเห็นปัญหาตำรวจเป็นภัยที่ร้ายแรงที่จะต้องแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรหรือไม่ และจะมีแนวทางดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วอย่างไร?

พรรคใดไม่พูดไม่จาต่อปัญหานี้ หรือไม่มีนโยบายเรื่องการปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนอย่างเป็นรูปธรรม

ประชาชนเลือกไปก็เสียเวลา เพราะ “เป็นพรรคการเมืองที่หาคุณค่าต่อชาติบ้านเมือง” อะไรไม่ได้!

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2565