บังคับสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน  เป็นการออกกฎหมายเหวี่ยงแหเกินจำเป็นหรือไม่?

บังคับสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน เป็นการออกกฎหมายเหวี่ยงแหเกินจำเป็นหรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

บังคับสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน เป็นการออกกฎหมายเหวี่ยงแหเกินจำเป็นหรือไม่?

 

                                               พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสาม ที่มีต้นเหตุมาจาก “ตำรวจนครบาล” ปล่อยให้มีสถานบันเทิงเถื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในย่านทองหล่อ!

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายการระบาดของไวรัสร้ายที่ ทำลายสังคมไทยอย่างย่อยยับ จะจบหรือสงบลงอย่างไร?

ประเทศชาติและประชาชนต้องทนทุกข์ เกิดความล่มจมเสียหายทั้งต่อสุขภาพกายและจิต รวมทั้งชีวิต และเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว มากน้อยเพียงใด?

หัวใจของการแก้ปัญหาก็คือ รัฐจะจัดหาวัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด นำมาแจกจ่ายและฉีดให้ประชาชนอย่าง “ทั่วถึง ทันการณ์ ทันเวลา” หรือไม่?

ระหว่างนี้ก็มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นซ้อนขึ้นมา คือ การออกประกาศข้อกำหนดและข้อห้ามในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

เริ่มจาก กทม. โดยมติของคณะกรรมการโรคติดต่ออีกกว่า ๔๗ จังหวัด

บังคับให้ประชาชนทุกคนและเพศวัย สวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้องและถูกวิธี “ตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือที่พักอาศัย”!

กทม.ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๔ และอีกหลายจังหวัดในวันถัดมา

ไม่มีกรณียกเว้นต่อผู้ใด หรือในเหตุจำเป็นอื่นใดทั้งสิ้น!

ผลจากประกาศของ กทม.ดังกล่าว ทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “กลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา” ด้วยข้อหานี้ “เป็นคนแรกของประเทศ” ในวันรุ่งขึ้นทันที!

เนื่องจากได้ปรากฏมีภาพพลเอกประยุทธ์ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ เม.ย.๖๔

วันรุ่งขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้ปรี่ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน คือ ผบช.น. ให้ร่วมกันไปแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีในวันถัดมา!

นายกฯ ก็ “ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาแต่โดยดีว่า ไม่ได้ใส่ตามภาพถ่ายที่ปรากฏและเผยแพร่ไปทั่วเช่นนั้นจริง

ไม่จำเป็นต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอะไรให้แน่นหนาอีกแต่อย่างใด!

แต่เนื่องจากเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อเปรียบเทียบปรับได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวงเงินไม่เกินสองหมื่นบาท

ทำให้สุดท้าย ผบช.น.ได้ใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรค สั่งปรับนายกรัฐมนตรีในกรณีเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก เป็นเงินสดถึง ,๐๐๐ บาท!

ซึ่งถ้าพบว่าไม่ใส่อีกเป็นครั้งที่สอง ต้องถูกปรับเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ และ ๒๐,๐๐๐ บาท หากกระทำผิดเป็นครั้งที่สาม!

และหากจะพนักงานสอบสวนเห็นว่าควรปรับต่ำกว่านั้นก็จะต้องทำสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลใช้ดุลยพินิจในการพิพากษากำหนดค่าปรับที่เหมาะสมแทน ซึ่งจะเป็นเงินจำนวนน้อยเท่าใดก็ได้

แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้คดีไปสู่ศาล จึง ได้ยอมชำระค่าปรับ ๖,๐๐๐ บาทตามที่ ผบช.น.สั่ง เปรียบเทียบตามที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อบัญญัติให้อำนาจไว้

ส่งผลทำให้ผู้คนทั้งประเทศเกิดความตกใจอย่างยิ่งว่า เหตุใดการไม่ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกับทางราชการอย่างดียิ่งอยู่แล้ว

จึงเป็นความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงและถูกรัฐ ปรับแพง ถึงขนาดนี้

ในข้อเท็จจริง คนไทยส่วนใหญ่จำนวนกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะพบเห็นว่ามีการใส่หน้ากากอนามัยในการเดินตามตลาดหรือชุมชุมชนต่างๆ อยู่แล้วแทบทั้งสิ้น

ซึ่งก็มีเพียงบางกรณีที่มีเหตุจำเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถใส่ตลอดเวลาได้ โดยไม่น่าจะถือเป็นความผิดอาญาร้ายแรงถึงขนาดต้องจ่ายค่าปรับแพงลิบลิ่ว แค่ครั้งแรกก็ถึงขนาด ๖,๐๐๐ บาท

แม้กระทั่งเกิดการพลาดพลั้งหรือหลงลืมเผลอไผลไม่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในรถยนต์ส่วนตัวคนเดียวหรือกับผู้ใด หรือแม้กระทั่งในสถานที่ซึ่งเป็นทุ่งนาป่าเขา จะอยู่ใกล้หรือห่างไกลกับมนุษย์คนอื่นมากน้อยเพียงใด

เมื่อถูกตำรวจจับ ก็ต้องจ่ายค่าปรับที่แสนแพงนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

การประกอบธุรกิจหรือกิจกรรมหลายอย่างที่แม้จำเป็นต้องมีการพูดจาให้ชัดเจน เห็นหน้าตาของผู้พูด เช่น ครูอาจารย์ที่สอนหนังสือ หรือพิธีกรผู้จัดรายงานโทรทัศน์ต่างๆ

แม้ทุกแห่งจะกำหนดมาตรการความปลอดภัยเว้นระยะห่างไว้อย่างเคร่งครัดตามที่ได้รับคำแนะนำ แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วยกันทั้งนั้น

เกินจำเป็นไปหรือไม่?

หากมีภาพใครปรากฏว่าไม่สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ซึ่งไม่ใช่บ้านพักอาศัย

ล้วนแต่เป็นความผิดตามกฎหมายที่ต้องตำรวจออกหมายเรียกตัวไปดำเนินคดีอาญา จ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจครั้งแรก ๖,๐๐๐ บาท หรือกรณีมีเหตุผลสมควรก็ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาท

ซึ่งหากใครต้องการจ่ายต่ำกว่านั้น ตำรวจก็จะดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอให้พนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลพิพากษาให้ชำระค่าปรับแทน

แต่ก็ต้องแลกกับการถูกจับบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบและบันทึกประวัติอาชญากรรมตามที่ระเบียบกำหนดไว้

คนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการถูกบังคับให้พิมพ์มือบันทึกประวัติอาชญากรรมของตนไว้ในระบบราชการเช่นนั้น

ก็ต้องจำใจจ่ายค่าปรับต่อตำรวจในชั้นสอบสวนจำนวน ๖,๐๐๐ บาท เพื่อให้คดีอาญาได้สิ้นสุดไป

ไม่ว่าประชาชนแต่ละคนโดยเฉพาะคนยากจน จะรู้ รวมทั้งมีเจตนาในการฝ่าฝืนข้อกำหนดและข้อห้ามนั้นหรือไม่ก็ตาม?.

 บังคับสวมหน้ากาก
 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2564