‘ร้อยกฎหมาย’ ฤาจะต้าน ‘คนมีอำนาจหน้าด้าน’

‘ร้อยกฎหมาย’ ฤาจะต้าน ‘คนมีอำนาจหน้าด้าน’

ยุติธรรมวิวัฒน์

 “ร้อยกฎหมาย”ฤาจะต้าน คนมีอำนาจหน้าด้าน”

                                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  

                                               

ระยะนี้ นอกจากประเทศไทยจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม ซึ่งเกิดจากการที่ ตำรวจนครบาล ปล่อยให้มี “สถานบริการเถื่อนขนาดใหญ่ ขึ้นในย่านทองหล่อ!

เป็นต้นตอ ของเชื้อร้ายจาก เจ้ามือและนักพนัน  สายพันธุ์อังกฤษที่ ลักลอบเข้าออกเมือง จากกัมพูชา พากันมาเที่ยวคลับ หรือแท้จริงก็คือ ซ่องขนาดใหญ่ ในย่านดังกล่าวที่ตั้งมาอย่างยาวนาน หลายปี!

มี รัฐมนตรี นักเที่ยวและหน้าห้อง รวมทั้งตำรวจติดตาม คนทำงานในสถานบริการผิดกฎหมายทั้งชายหญิงมากมายติดเชื้อนำไปแพร่ต่อให้ญาติพี่น้องยังชุมชนที่ตนพักอาศัยและในบริเวณใกล้เคียงหลายแห่ง

นอกจากนั้นยังแบ่งเชื้อกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ช่วงการเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติพี่น้องในเทศกาลสงกรานต์ที่รัฐบาล ละล้าละลัง ไม่กล้าสั่ง ปิดเมือง ทันที!

จนกลายเป็นเรื่องที่ ยากแก่การควบคุมต่างจากการแพร่ระบาดสองครั้งที่ผ่านมา

นอกจากการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีแยกตัวออกมารักษา ไม่ให้สัมผัสกับผู้คนจนหายดี

วัคซีนที่มีคุณภาพทุกยี่ห้อซึ่งเพียงพอต่อการฉีดให้ประชาชนทั้งกลุ่มเสี่ยงและคนทั่วไป ขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่ารัฐจะสามารถจัดหามาได้ฉีดกันอย่างทั่วถึงและทันเวลาอันใกล้นี้หรือไม่!

นอกจากปัญหาผู้คนจำนวนหลายหมื่นต้องเจ็บป่วยและบางส่วนก็ได้ล้มตายจากเชื้อร้ายในการระบาดรอบที่สามนี้แล้ว

ปัญหาเศรษฐกิจก็นับว่าหนักหนาสาหัสกว่ารอบแรกและรอบที่สองอย่างเทียบกันไม่ได้!

ผู้คนส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ข้าราชการ หมดทั้งเงินทุนและกำลังใจ ในการประกอบธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการคิดต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตประจำวันต่อไป!

ยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ข้างหน้าของประเทศจะพัฒนาไปในลักษณะใด?

สังคมจะเกิดความเคลื่อนไหวหรือความขัดแย้งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือ การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่อย่างสันติ เช่นที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องต้องการได้หรือไม่?   และจะเป็นไปในรูปแบบใด?

กรณีมีผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การสมัครเป็น ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ที่บัญญัติไว้คือ ……ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า….

รวมทั้ง ในฐานะรัฐมนตรี ที่ มาตรา 160 (7) บัญญัติไว้ว่า “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”

เนื่องจากมีข้อมูลปรากฏจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในสภา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  2563 ว่า

ใน ปี 2536 ร.อ.ธรรมนัสได้เคยถูกศาลแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย พิพากษาจำคุกมีกำหนดระยะเวลาสี่ปี

แต่ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การถูกศาลประเทศอื่นพิพากษาจำคุกเช่นนี้ ไม่ทำให้กลายเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่อย่างใด

โดยให้เหตุผลว่า ต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลประเทศไทยเท่านั้น

ทำให้ผู้คนพากันวิจารณ์และบางคนก็ก่นด่าศาลกันใหญ่ว่าวินิจฉัยไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

บางรายก็ยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในวาระต่างๆ มาเทียบเคียงว่าเคยวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ

คำวินิจฉัยของทุกศาล ประชาชนทุกคนแม้ไม่ใช่นักวิชาการก็มีสิทธิวิจารณ์ได้โดยจะอ้างตรรกะความเห็นของใครหรือคำวินิจฉัยของหน่วยงานก็ว่ากันไป

แต่ในทางกฎหมาย ทุกอย่างก็ต้องยุติลงตามคำวินิจฉัยถึงที่สุดของศาลที่มีอำนาจนั้นด้วยกันทั้งสิ้น!

และกรณีนี้เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายไว้ ก็นับว่าถูกต้องสอดคล้องกับเหตุผลและตรรกะ

ลองคิดกันดูว่า ถ้าหากจะให้หมายรวมถึงคำพิพากษาศาลของทุกประเทศทั่วโลกด้วย

เกิดมีกรณีใครต้องคดีในรัฐที่มีกฎหมายแปลกๆ แตกต่างไปจากรัฐไทย เช่น เกาหลีเหนือ! แล้วนำมาใช้ตีความว่า เป็นคำพิพากษาที่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี ส.ส. หรือข้าราชการ

ก็คงจะยุ่งกันใหญ่!

เนื่องจากจะไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า  ประเทศใดมีกฎหมายที่ได้มาตรฐานและกระบวนการยุติธรรมเป็นที่เชื่อถือยอมรับตามหลักสากลบ้าง?

 ฉะนั้น การตีความให้หมายถึงเฉพาะคำพิพากษาของศาลไทยจึงถูกต้องแล้ว

แต่ก็มิได้หมายความว่า คนที่กระทำความผิดทางอาญาในต่างประเทศ จะไม่มีกฎหมายไทยที่ให้ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือวินัยข้าราชการแต่อย่างใด

เนื่องจากยังมีบทบัญญัติในเรื่อง จริยธรรม ของนักการเมืองและข้าราชการที่ถูกบัญญัติไว้อีกมากมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

เช่นในมาตรา 160 (5) รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของคนเป็นรัฐมนตรีว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

“จริยธรรม” หมายถึง ข้อควรประพฤติหรือปฏิบัติสำหรับบุคคลในแต่ละสถานะ

โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ลงนามโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 กำหนดไว้ในข้อ 27 ต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ                และข้อ 28 ต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมายหรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย เช่น ผู้เปิดบ่อนการพนัน หรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

หากใครเห็นว่า การกระทำของ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อปี พ.ศ.2536 ดังกล่าว น่าจะเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมของนักการเมืองอย่างร้ายแรงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2551 ตามที่บัญญัติไว้ในข้อที่ 27 และ 28

ก็ต้องไปยื่นคำร้องต่อ พลตำรวจเอกวัชรพล  ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ให้วินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) ส่งให้ศาลฎีกาของผู้ดำรงทางการเมืองพิพากษาต่อไป

แต่ประชาชนทุกคนก็ต้องทำใจไว้ล่วงหน้า!

เพราะอาจถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยได้ผลไม่ต่างไปจาก คดีนาฬิกา ว่า

 เป็นการฝ่าฝืนที่เกิดขึ้นก่อนสมัคร ส.ส. หรือเป็นรัฐมนตรี

 หรือได้มีระเบียบว่าด้วยจริยธรรมดังกล่าวออกมาภายหลัง ไม่อาจใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนนั้นได้

 “ร้อยกฎหมาย” ฤาจะต้าน คนมีอำนาจหน้าด้าน” ซึ่งมีอยู่มากมายในทุกวงการของสังคมไทย!.

ร้อยกฎหมาย

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 10 พ.ค. 2564