ตำรวจตั้งด่านขวางทางหลวง  ผิดกฎหมาย อันตราย ไร้คนรับผิดชอบ!

ตำรวจตั้งด่านขวางทางหลวง  ผิดกฎหมาย อันตราย ไร้คนรับผิดชอบ!

                                                ตำรวจตั้งด่านขวางทางหลวง  ผิดกฎหมาย อันตราย ไร้คนรับผิดชอบ!

                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

 

การปฏิรูปตำรวจที่กำลังดำเนินไปในชั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ซึ่ง ไม่ปรากฏชัดว่า “รัฐบาล” โดย “หน่วยงานใด” เป็นผู้จัดทำขึ้น?

ชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 260 บัญญัติไว้ ไม่ต้องการให้ ตำรวจหรืออดีตตำรวจคนใด ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือแม้กระทั่งมีบทบาทในการปฏิรูป หรือไม่?

เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน

คำพูดหรือความเห็นของตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าคนใดในคณะกรรมการชุดใดในแต่ละเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูป จึงเชื่อถือและหาสาระอะไรไม่ได้!

เนื่องจากนายพลตำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้ระบบงานตำรวจและการสอบสวนคดีอาญาของชาติอยู่ในสภาพนี้ต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้!

แต่ละคนจึงแสดงความคิดเห็นหรือพูดโน่นพูดนี่ให้มั่วๆ ให้ผู้คนงงๆ เข้าไว้เพื่อไม่ให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงสำคัญ

แค่การให้ยกเลิก ตำรวจรับใช้ ประจำตัวและครอบครัวนักการเมือง รวมทั้งพวกตำรวจผู้ใหญ่ ไปจนตาย  โดยข้าราชการตำแหน่งใดมีความจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัย ก็ให้ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีรองรับไว้

ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่ตำรวจเกษียณไม่ได้ปฏิบัติราชการทำงานการอะไร จะนำตำรวจซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายของรัฐไปรับใช้ตัวเองยันลูกเมียกันเช่นทุกวันนี้!

ซึ่งไม่มีหน่วยงานราชการแม้กระทั่งทหารกองทัพใดเอาเปรียบสังคม ถึงขนาดออกระเบียบที่วิปริต และ ไร้ยางอาย ให้ทำได้แต่อย่างใด!

โดยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ “ฉบับลักไก่” ของพวก ปฏิลวง ก็ยังคงให้มี ตำรวจรับใช้ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล แม้กระทั่งคนที่เกษียณไปแล้วใน ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป เหมือนเดิม

กรรมาธิการวิสามัญโดยเฉพาะผู้เป็น ส.ส.ที่รักความยุติธรรมทุกคน จึงต้องไม่ให้ความสนใจคำพูดของตำรวจผู้ใหญ่คนใดในคณะกรรมาธิการให้เสียสมองและเสียเวลาการปฏิรูปที่แท้จริงแต่อย่างใด

ควรแปรญัตติโดย นำทุกประเด็นในร่างฉบับมีชัยที่หายไปมาใส่ไว้ทั้งหมด รวมทั้งอาจเพิ่มเติมในส่วนที่เห็นว่าจำเป็นอีกหลายเรื่อง

ตั้งแต่การยกเลิกตำรวจรับใช้ การให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปมีสิทธิเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ แทนการแก้ไขให้เป็นระดับ รอง ผกก.ขึ้นไป

การให้มีตำแหน่งระดับต่างๆ และระบบการปกครองแบบอัยการในสายงานสอบสวน และมีอิสระในการทำสำนวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งพนักงานอัยการโดยไม่ต้องผ่านหัวหน้าสถานี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายเพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงในปัจจุบัน!

การจัดชั้นสถานีตำรวจที่มี ผกก.เป็นหัวหน้าเพื่อใช้ เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งครั้งแรก ต้อง 3 ระดับ เช่นเดียวกับชั้นอำเภอของฝ่ายปกครองตามความเจริญของแต่ละสังคม แทนการมั่ว ถูกปรับให้เหลือแค่ 2 ระดับ

โดยมีเจตนาแท้จริงเพื่อรองรับ “ความเจริญก้าวหน้า” ของกลุ่มตำรวจที่มีเงินและเส้นสายอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ รวมทั้งลูกหลานตำรวจผู้ใหญ่จะได้ใช้เวลาในการครองตำแหน่งสั้นลง

การกำหนดให้ตำรวจฝ่ายอำนวยการ งานการศึกษา แพทย์ พยาบาล และงานนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์หลักฐาน “หัวใจของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ไม่มีชั้นยศและระบบวินัยแบบทหาร ที่ออกแบบ เพื่อการรบและทำสงคราม จัดกำลังและสั่งการเป็นหมวดหมู่ กองร้อย กองพัน กองพล และกองทัพ

องค์ประกอบ ก.ตร. ก็ควรตัด รอง ผบ.ตร.ทุกคนออกไป ให้เป็นได้เฉพาะ ผบ.ตร.ตำแหน่งเดียว

เนื่องจาก ก.ตร.ใหม่ ต้องทำหน้าที่กำหนดนโยบายและตรวจสอบการบริหารงานตำรวจออกระเบียบที่จำเป็นต่างๆ ในการตรวจสอบประเมินผลและปฏิรูปแทนคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติหรือ กต.ช.ที่ถูกยุบเลิกไปด้วย

ช่วงนี้ตำรวจแห่งชาติบอกว่ามี ข่าวที่น่ายินดี สำหรับประชาชนว่า การ ตั้งด่านตรวจค้นยานพาหนะ บนถนนและทางหลวงต่างๆ จะกลับมาดำเนินการเช่นเดิมต่อไป!

หลังจากที่ได้ระงับไปประมาณสี่ห้าเดือน เนื่องจาก  ผบ.ตร.คนใหม่ ไม่แน่ใจว่าแต่ละด่านที่ดำเนินการกันมาหลายปี มีมาตรฐานการปฏิบัติและหลักประกันเรื่องการไม่ทุจริตโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด?

อุปกรณ์สำคัญ ที่บอกว่าได้นำมาใช้ก็คือ กล้องวงจรปิดทั้งที่ติดตั้งประจำจุดรวมทั้งที่ติดตัวตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละคน

การตรวจค้นประชาชนจะไม่กระทำมั่วๆ แต่ละวันตรวจกี่คน ค้นพบอะไร ได้จับกุมส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีหรือไม่ จะถูกบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ไม่ทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ เช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

ขอเรียนว่า ปัญหาสำคัญในเรื่องการตั้งด่านก็คือ การละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชน โดยไม่มีกฎหมายรองรับอะไร หาใช่เรื่องวิธีการตั้งว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับ ผบก. ผบช. หรือแม้กระทั่ง ผบ.ตร.แล้ว จะเป็นการตั้งด่านที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด?

ถนนและทางหลวงทุกสายในประเทศไทยได้ถูกสร้างขึ้นก็เพื่อที่จะให้ประชาชนใช้สัญจร ด้วยความสะดวกรวมเร็วและปลอดภัยเป็นสำคัญ

ไม่ได้เพื่อให้ข้าราชการหน่วยใดใช้กันเพื่อรายได้  ไม่ว่าจะเป็นรางวัลค่าปรับจราจร การเรียกให้หยุดรถขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผล การรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมาย

การขอทดสอบความเมา หรือขอตรวจปัสสาวะประชาชนโดย “ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเสพสารเสพติด” หรือดื่มสุราจน “มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา” ตามกฎหมาย

โดยได้มีการกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ที่ กระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดอุปสรรคหรือความไม่สะดวกต่อการใช้ทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน คืออธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้รับมอบอำนาจไว้

ปรากฏข้อห้ามอยู่ใน มาตรา 38 ของ พ.ร.บ.ทางหลวงแผ่นดิน พ.ศ.2535

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 72 มีโทษ จำคุกถึงสามปี

อธิบดีกรมทางหลวง คือผู้มีหน้าที่ตรวจตราดูแลไม่ให้บุคคลใดนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนทางหลวงเกิดความไม่สะดวกต่อการใช้ทางของประชาชน

ในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำ เช่น ถนนเกิดการชำรุดหรือจำเป็นเพื่อการก่อสร้าง ก็ต้องได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราวตามระบบราชการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีวิศวกรผู้รับผิดชอบไปตรวจสำรวจออกแบบกำหนดชนิดสิ่งกีดขวางและควบคุมให้ตั้งวางเท่าที่จำเป็นและไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเท่านั้น

ใครที่คิดว่า ตำรวจมีอำนาจตั้งด่านนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางขวางถนนได้เมื่อได้รับอนุญาตจากตำรวจผู้ใหญ่ระดับ ผบก. ผบช. หรือ ผบ.ตร. ตามที่ออกคำสั่งให้ตั้งด่าน กำชับการปฏิบัติกันอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว

ก็ลองตอบคำถามง่ายๆ ดูว่า ถ้าตำรวจคนที่เอากรวยหรือแผงเหล็กไปตั้งวางบนถนนบีบช่องทางเดินรถจากสี่ช่องหรือเพียงสองหรือหนึ่งช่อง ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเรียกให้คนขับหยุดรถและขอตรวจค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย ตรวจความเมา เพื่อทำยอดให้เข้าเป้า หรือแม้กระทั่งอ้างว่าตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด

หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นผู้ขับรถชนสิ่งกีดขวางนั้นเนื่องจากไม่ทันสังเกต หรือรถชนท้ายกันเนื่องจากรถคันหน้าได้หยุดกะทันทัน

ยิ่งถ้าอุบัติเหตุนั้นร้ายแรงถึงขนาดมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบทางอาญาข้อหาประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายตามกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 300

รวมทั้งชดใช้ความเสียหายฐานละเมิดตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 420 กันแน่ ระหว่าง

“ผู้ขับรถ” กับ “ตำรวจผู้น้อย” ที่ถูกสั่งให้นำสิ่งกีดขวางมาวางบนถนนอย่างผิดกฎหมาย! 

หรือตำรวจผู้ใหญ่ ระดับ ผบก. ผบช. หรือแม้กระทั่ง ผบ.ตร. ที่ “สั่ง” หรือกำหนดนโยบายให้ “ตั้งด่าน” ตรวจค้นประชาชนในแต่ละวันกันอย่างนั้นอย่างนี้?.      

ตำรวจตั้งด่าน
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 5 เม.ย. 2564